“เป้าหมายของเรา คือการแก้ปัญหาให้กลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงเครื่องมือทางการเงิน”
นี่คือคำพูดของ แจ๊ค หม่า เจ้าของกลุ่มบริษัท Alibaba Group บุรุษผู้ได้รับการขนานนามจาก Forbes ว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน เกี่ยวกับกลยุทธ์การบุกตลาดประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging Markets) ด้วยบริษัท “Fintech” ที่อาจจะเรียกว่าเป็นบริษัททางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักชื่อเลยด้วยซ้ำก็เป็นได้ ซึ่งบริษัทนั้นก็คือบริษัท “Ant Financial Services” หรือที่เราอาจเคยรู้จักกันในนามของผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัทในนาม “AliPay” ระบบการชำระเงินที่คนจีนนิยมใช้จนเราเห็นแพร่หลายเข้ามาตามสถานที่ท่องเที่ยวและร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย
ในปัจจุบันบริษัท Ant Financial ได้ทำการขยายตัวผ่านการลงทุนในบริษัทใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินกลยุทธ์การขยายตลาดตามที่ตนเองได้เคยทำในประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว ผ่านการลงทุนในบริษัทต่างๆในประเทศสหรัฐฯอเมริกา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดีย เกาหลีใต้ และทางประเทศไทยเอง
ซึ่งหมายความว่ากลยุทธ์สำคัญที่เราเห็นในการขยายตัวของเครือ Ant Financial นี้ ไม่ใช่การนำเอาผลิตภัณฑ์ AliPay เข้าสู่ประเทศอื่นๆโดยใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนจีนที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเหล่านั้นอย่างมากมายเพียงอย่างเดียว และผลิตภัณฑ์ Marketplace ต่างๆของ Alibaba Group อย่าง Alibaba, AliExpress, หรือ Taobao อาจเป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการขยายตลาด แต่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเครือบริษัทเสียด้วยซ้ำ
ในปลายปี 2016 ที่ผ่านมา บริษัท Ant Financial ได้ดำเนินการกลยุทธ์นี้ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการลงทุนเข้ามาถือหุ้นในบริษัท Ascend Money ในเครือของ Ascend Group ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่แยกออกมาจากเครือบริษัท True Corporation อีกที
รูปภาพจาก Shanghaidaily.com
ผลิตภัณฑ์ของ Ascend Money ประกอบไปด้วยเครื่องมือทางการเงินตั้งแต่ “Wallet” by True Money ระบบ “กระเป๋าเงินดิจิตอล” (e-wallet) ที่เปรียบเสมือนบัญชีธนาคารดิจิตอลที่เอาไว้ใช้ชำระค่าบริการต่างๆ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต และผลิตภัณฑ์อื่นๆอย่าง WeCard ที่สามารถใช้ทดแทนบัตรเครดิตในการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ TrueMoney Cash Card ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตามกลุ่มเฉพาะต่างๆอย่าง่นกลุ่มซื้อสินค้าดิจิตอลในเกมออนไลน์ รวมไปถึงพื้นฐานโครงสร้างการเงินสำคัญอย่างการเป็น Payment Gateway ที่รองรับระบบการชำระต่างๆดังกล่าวอีกด้วย และการมี Marketplace เป็นของตนเองที่ใช้ระบบการชำระเงินของตนเองอย่าง Weloveshopping และ iTrueMart อีกด้วย
ที่สำคัญกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ของ Ascend Money ยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย แต่ยังมีการดำเนินการอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ เวียดนาม เมียนม่า และกัมพูชา อีกด้วย ผ่านการร่วมมือกับธนาคารรายใหญ่ในแต่ละประเทศ และบริษัทเอกชนอื่นๆที่มีเป้าหมายเดียวกันอย่างเช่น Samsung ที่มีโครงการจำหน่ายเครื่องรูดบัตรเครดิต (EDC) จำนวน 7,000 เครื่องทั่วประเทศ
ทั้งหมดนี้ เมื่อรวมเข้ากับการเข้าซื้อกิจการ Lazada โดยกลุ่มบริษัท Alibaba แล้ว เรียกได้ว่าทาง Alibaba ได้ปูทางกลยุทธ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ทั้งหมดแล้ว โดยวางเส้นทางไว้ให้เหมือนกับที่ตนเคยทำในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯอเมริกาจากการเติบโตของ PayPal ผ่านตลาดออนไลน์อย่าง eBay อีกที
นอกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ตลาดที่มีทั้งขนาดที่ใหญ่และอัตราการเติบโตที่รวดเร็วเป็นรองเพียงแค่ประเทศจีนก็คือประเทศอินเดีย ประเทศที่ประกอบไปด้วยประชากรจำนวนกว่า 1,300 ล้านคน GDP 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และอัตราการเติบโตระดับ 5-10% ต่อปี ซึ่งบริษัทที่ทาง Ant Financial Services เข้าไปร่วมลงทุนในประเทศนี้ก็คือ Paytm ด้วยจำนวนเงิน 680 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นหลังจากการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานก็คือนโยบายการ “demonetization” ของทางประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นนโยบายการยกเลิกการใช้ “ธนบัตร” (cash) ขนาดใหญ่ อันได้แก่ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปีกันข้ามคืน ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่ากว่า 87% ของจำนวนธนบัตรที่มีใช้อยู่ในระบบในตอนนั้นทั้งหมด โดยธนบัตรดังกล่าว จะสามารถถูกใช้ได้เฉพาะที่ธนาคารเพื่อบันทึกเป็นยอดอิเล็กทรอนิคส์เพียงเท่านั้น โดยมีเหตุผลว่าการใช้ธนบัตร เป็นช่องโหว่ให้เกิดธุรกิจคอรัปชัน และธุรกรรมนอกระบบผิดกฏหมายมากเกินไป
การประกาศนี้ ทำให้ปริมาณการใช้เครื่องมือการเงินดิจิตอลพุ่งขึ้นจากเดิม โดยทาง Paytm ได้ประกาศว่าทางบริษัทได้มีบัญชีเปิดใหม่มากกว่า 200 ล้านบัญชี หลังจากนโยบายนี้ได้ถูกเริ่มใช้ไม่นาน จนในปัจจุบันทางบริษัทมีส่วนแบ่งตลาด e-wallet แล้วกว่า 75% และล่าสุดมีข่าวว่าทางกลุ่ม Alibaba Group จะทำการลงทุนในตลาดออนไลน์ “Paytm Mall” ของทางบริษัท Paytm ผ่านทางบริษัท Alibaba โดยตรงอีกกว่า $170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามนโยบายกลยุทธ์การเติบโตของระบบการเงินผ่านการร่วมมือกับตลาดออนไลน์
และล่าสุด ทาง Paytm ได้ประกาศแล้วว่าทางบริษัทกำลังจะได้รับอนุญาตแต่งตั้งให้เป็น “ธนาคาร” อย่างถูกต้องตามกฏหมายเป็นที่เรียบร้อย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยอาศัยเทคโนโลยีในการจัดจำหน่ายให้กับกลุ่มประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากกลุ่มธนาคารดั้งเดิมที่มีอยู่อีกหลายร้อยล้านคนในประเทศ เหมือนกับที่ทาง Ant Financial เองได้รับในทางประเทศจีนภายใต้ชื่อ “Mybank” ไปแล้ว
ในฝั่งของประเทศเกาหลีเอง ทาง Ant Financial ก็ได้มีการลงทุนร่วมกับบริษัท Kakao เจ้าของแอปพลิเคชัน Kakao Talk แอปฯแชทอันดับหนึ่งของประเทศเกาหลี ด้วยจำนวนเงิน $200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแยกหน่วยธุรกิจ Kakao Pay ออกมาเป็นบริษัทของตนเองมารองรับธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ออฟไลน์ และการธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของผ่านแคชเชียร์ การโอนเงินระหว่างกัน การชำระค่าน้ำค่าไฟ และการให้ธุรกิจกู้ยืม ซึ่งตรงกับสิ่งที่ทาง Ant Financial ได้ดำเนินการภายใต้ร่มเงาของกลุ่ม Alibaba Group ในประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยมาแล้วนั่นเอง ซึ่งแม้ว่า Kakao Talk จะเป็นแอปฯที่ครองตลาดเพียงแค่ในประเทศเกาหลี แต่ก็มีจำนวนผู้ใช้กว่า 48 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีประชากรใช้เครื่องมือที่ทันสมัยอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
รูปภาพจาก Ant Financial
นายอีริค จิง ประธานคณะผู้บริหารของ Ant Financial บอกกับ CNBC ไว้ว่า
“เราต้องการจะเป็นบริษัทที่ดำเนินการทั่วโลก ภายใน 10 ปีข้างหน้า เราต้องการที่จะใชเทคโนโลยีและการร่วมมือกับพันธ์มิตร เพื่อให้บริการทางการเงินให้กับคนกว่า 2,000 ล้านคนอีกทั่วโลก”
ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ที่ผ่านมา AliPay ได้ทำการรองรับธุรกรรมทางการเงินผ่านตลาดออนไลน์ต่างๆในเครือกว่า 120,000 รายการต่อวินาที ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อคำนึงถึงว่าทางบริษัท Visa ที่เราคุ้นเคยกลับมีจุดสูงสุดอยู่ที่เพียง 24,000 รายการ
แต่จะเห็นว่า การดำเนินการของ AliPay และการลงทุนของ Ant Financial นั้น ไม่ได้มองธุรกิจของตัวเองว่าเป็นเพียงแอปพลิเคชันในการชำระเงิน แต่ต้องการที่จะเป็นบริษัทผู้ให้บริการเครื่องมือทางการเงินยุคใหม่ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน ที่เครื่องมือทางการเงินของ Ant Financial ได้ครองตลาดเครื่องมือการลงทุนให้กับคนอายุต่ำกว่า 35 ปีในพื้นที่ที่ธนาคารดั้งเดิมเข้าไม่ถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในปี 2012 ทางรัฐบาลจีนได้ทำการสนับสนุนให้บริษัทเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆขึ้นมา จนเกิดเป็น WeChat Wallet และ AliPay
แต่แม้ว่าทาง WeChat ของ Tencent จะเป็นแอปพลิเคชันแชทอันดับหนึ่งของประเทศจีน แต่ AliPay ของ Alibaba Group กลับมีตลาดออนไลน์อย่าง Taobao และ Tmall และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นที่นิยมของคนจีน จนทาง WeChat เองก็ต้องรองรับการชำระเงินผ่าน Alipay บนแพลตฟอร์มของตนเอง เพราะคนที่กล้าทำธุรกรรมออนไลน์ในประเทศจีนส่วนใหญ่ มีเงินอยู่ใน AliPay อยู่แล้ว คล้ายๆกับที่คนทำธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะอยากใช้ธนาคารที่เป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง เพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนระหว่างธนาคาร
กลยุทธ์การขยายตัวนี้ไม่ได้ใช้เพียงแค่ครองตลาดการชำระเงินและตลาดออไลน์ แต่ยังทำให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศจีนยากยิ่งขึ้นอีก เพราะต่อให้ทางรัฐบาลจีนเองยินยอมให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาทำตลาดแล้ว แต่ผู้คุมการชำระเงินของประเทศ กลับเป็นบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในประเทศจีนเอง ที่สามารถใช้การลดแลกแจกแถมระหว่างเครือบริษัทผ่านเครื่องมือทางการเงินเพื่อต่อสู้ได้อย่างสบาย รวมไปถึงการที่บริษัทใหม่ๆที่เข้ามา จะต้องทำการรองรับการชำระเงินผ่านเครื่องมืออย่าง AliPay อีกด้วย เพราะเป็นวิธีการชำระเงินมาตรฐานที่คนจีนใช้ ซึ่งหมายความว่า ทุกกำไรที่บริษัทต่างชาติได้ ทางบริษัทในจีนก็ได้เช่นกัน เรียกได้ว่า ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจตลาดออนไลน์ บริการจองห้องพัก หรือเรียกรถโดยสาร เมื่อคุณแข่งกับกลยุทธ์ของ Alibaba Group ของนายแจ๊ค หม่าแล้ว คุณไม่ได้เล่นอยู่ในเกมเดียวกับเขาเสียเลย
รูปภาพและข้อมูลจาก Crunchbase.com
สุดท้าย หากเรามองโครงสร้างรายได้ในระดับมหภาคแล้ว พื้นฐานของธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดก็คือการเงิน และการเป็นผู้ถือครองธุรกรรมการเงิน ก็เป็นธุรกิจที่สามารถเติบโต (scale) ได้โดยไม่ต้องมีต้นทุนผันแปรที่สูงตาม หรือเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจกำไรสูง “high margin” ที่แท้จริงเบื้องหลังธุรกิจเทคโนโลยีทั้งหมดที่เกิดขึ้น
จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ทุนของ Ant Financial Group มหาศาลนี้ นอกจากจะได้มาจากบริษัทแม่อย่าง Alibaba Group แล้ว ก็เป็นเงินที่ได้จากธนาคารและบริษัททางการเงินของประเทศจีนอันประกอบไปด้วยกองทุนของรัฐบาลอยู่ด้วยนั่นเอง
และก็ไม่ต้องแปลกใจอีกที่เราจะเห็นคนเรียกว่า Alibaba Group ก็คือประเทศจีน และการขยายตัวของบริษัทในเครือนี้ ก็คือเครื่องมือการขยายอิทธิพลของประเทศจีนในคราบของบริษัทเอกชนนี่เอง
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
www.sellsuki.co.th