ปี 2016 นับเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของนายแจ๊ค หม่า เจ้าของเครือบริษัทอาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่แห่งอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน ด้วยบุคลิกที่สนุกนาน การออกสื่อเป็นจำนวนมาก และคำพูดที่เข้าใจง่ายแต่คมคาย ทำให้คนทั่วโลกเริ่มรู้จักและเห็นความยิ่งใหญ่ของเครือบริษัท Alibaba ที่แทบจะผูกขาดการค้าขายออนไลน์ทั้งขายส่งและขายปลีกของประเทศจีนเอาไว้ จนทำให้นายแจ๊ค หม่าได้รับการประเมิณว่าเป็นบุคคลที่มีมูลค่าสูงถึง $22.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดอันดับสองของผู้ที่มีมูลค่าสุดในประเทศจีนในปีคศ. 2015
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครือบริษัท Alibaba จะดูยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักจากคนภายนอกประเทศจีน แต่ความจริงแล้ว เครือ Alibaba ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเทศจีนเพียงบริษัทเดียวแต่อย่างใด แต่กลับมีเครือบริษัท “Tencent” ที่มีนาย “หม่า หัวเติง” เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่แม้จะมีบุคลิกสุขุมและเก็บตัวเมื่อเทียบกับแจ๊ค หม่าที่กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ตัวเขาเองก็มีมูลค่าสูงถึง $16.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่แพ้นายแจ๊ค หม่าเลยทีเดียว
ทาง Tencent นั้นจะทำธุรกิจที่แตกต่างจากเครือ Alibaba ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจอย่าง Taobao, Aliexpress ฯลฯ ที่เป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจในประเทศจีนสามารถนำสินค้าและบริการของตนเองมาขายให้กับคนทั่วโลกได้ แต่ทาง Tencent จะเน้นผลิตภัณฑ์ทางด้านการบันเทิงและการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างสื่อบันเทิงอย่างเกมออนไลน์ โดยมีหุ้นอยู่ในบริษัทชื่อดังอย่าง Supercell, Epic Games, Netmarble, Kakao, Activision Blizzard ฯลฯ มากน้อยต่างกันไป โดยในประเทศไทยเอง ทาง Tencent ก็ได้เข้ามาถือหุ้นบริษัทที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่าง Sanook ที่พึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “เทนเซนต์ ประเทศไทย” เมื่อไม่นานมานี้ พร้อมกับเข้ามาถือหุ้นใน “Ookbee” ซึ่งสองบริษัทนี้ก็มาพร้อมกับแพลตฟอร์มมีเดียอื่นๆอย่าง Joox, Fungjai, Storylog, Fictionlog อีกด้วย
แต่นอกจากสื่อและเกมออนไลน์แล้ว ทาง Tencent เองก็มีแพลตฟอร์มในณูปแบบของแอปพลิเคชันแชทอย่าง “QQ” และ “WeChat” โดยเฉพาะ “WeChat” ที่กลายเป็นแอปพลิเคชันอันดับหนึ่งของคนจีน ด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 846 ล้านคนในทุกๆเดือน จนทำให้ WeChat กลายเป็นแอปพลิเคชันแชทที่มีจำนวนผู้ใช้มากสุดอันดับสามของโลกตามหลัง WhatsApp และ Facebook Messenger เป็นที่เรียบร้อย
สิ่งที่ทำให้ “WeChat” เป็นแอปพลิเคชันสำคัญของ “Tencent” นั้นไม่ใช่เพียงจำนวนผู้ใช้ แต่ เพราะการพัฒนาที่ชาญฉลาดของทาง Tencent ที่ทำให้ “WeChat” พัฒนาจากการเป็นเพียงแอปพลิเคชันแชทจนกลายเป็นศูนย์กลางที่ประชาชนชาวจีนทุกคนตั้งแต่มหาเศรษฐียันประชาชนหาเช้ากินค่ำใช้ในทั้งการสื่อสารและการค้าขายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน ผ่านการผสานการเข้าถึงบริการทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยไม่ทำให้แอปพลิเคชันมีเมนูหรือการใช้งานที่ยุ่งยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจการใช้งานได้แต่อย่างใด จนในปัจจุบันเราจะได้เห็นความสามารถต่างๆของ “WeChat” ได้รับการพัฒนาและเปิดตัวอยู่ในแอปพลิเคชันแชทอื่นๆทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนเรียกได้ว่า หากคุณอยากรู้ว่าแอปพลิเคชันแชทต่างๆทั่วโลกจะพัฒนาไปทิศทางใด้ “WeChat” เนี่ยแหละ คือมาตรฐานและเป้าหมายที่ทุกคนกำลังพุ่งไป
ทันทีที่คุณเดินทางมาถึงประเทศจีน คุณจะได้เห็นความแพร่หลายของ “WeChat” ไม่ใช่เพียงด้วยการเห็นคนเดินกดใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ผ่านการมีป้าย “QR Code” ที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมรูปโลโก้หรือหน้าของบุคคลแปะอยู่ในเกือบทุกสถานที่ที่คุณผ่าน
“QR Code” นี้ คือเครื่องมือและกลยุทธ์สำคัญของ “WeChat” ในการทำให้การผสมผสานโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยการ และทำให้เข้าถึงบริการต่างๆในแอปฯ “WeChat” นั้นไม่มีความยุ่งยากจนเกินไป เพราะเพียงแค่คุณแสกน “QR Code” ต่างๆเหล่านั้นด้วยแอปพลิเคชัน “WeChat” ในโทรศัพท์ของคุณ คุณก็จะสามารถเข้าถึงบริการที่คุณต้องการ ณ เวลานั้นได้ทันที ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการเพิ่มบัญชีผู้ใช้ที่อยู่ในรูป “QR Code” เหล่านั้นเพื่อทำการสื่อสารหรือติดตามร้านค้าที่ให้บริการ การเข้าถึงเมนูอาหาร การใช้งานแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการชำระค่าบริการที่คุณพึ่งใช้ไป ด้วยบริการ “WeChat Pay” เป็นต้น
รูปภาพจาก Techinasia
ในประเทศไทย เราจะเคยได้ยินข่าวการเข้ามาของ “AliPay” บริการรับและชำระเงินของของเครือบริษัท Alibaba ของนายแจ๊ค หม่า และผมเองก็เคยได้เขียนถึงการแพร่หลายของ AliPay ไปยังประเทศทั่วโลกผ่านการควบรวมกิจการในแต่ละประเทศ และการเจรจากับรัฐบาลและธุรกิจในประเทศต่างๆเพื่อให้คนจีนมีความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยในแต่ละประเทศนั้นๆ จนเราอาจเข้าใจไปว่า “AliPay” คือบริการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวในประเทศจีน
แต่แท้จริงแล้วแม้คนจะนิยมใช้ “AliPay” ในการซื้อขายและทำธุรกิจกับร้านค้าในโลกออนไลน์ แต่ “WeChat Pay” หรือ “Tenpay” คือวิธีการชำระเงินที่คนนิยมใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวันจนเรียกได้ว่าได้เข้ามาทดแทนการใช้เงินสดในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว ทำให้การทำธุรกิจในประเทศจีนนั้นมีความสะดวก คล่องตัว และปลอดภัยกว่าการทำธุรกิจด้วยเงินสดแบบในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก และทำให้ “WeChat Pay” ชิงส่วนแบ่งตลาดมาประมาณ 37% ในปี คศ. 2016 ตีตื้น AliPay จาก 16% ในปลายปี คศ. 2015 จนกลายเป็นเครื่องมือสร้างกำไรชิ้นสำคัญของ Tencent ที่มีผู้ใช้งาน “WeChat” อยู่ทั้งประเทศจีนไปแล้ว
รูปภาพจาก Tenpay
ด้วยจำนวนผู้ใช้ของ “WeChat” ที่แซงหน้าแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คและแอปพลิเคชันแชทอื่นๆในประเทศจีนอย่าง RenRen, Weibo, หรือ QQ ของทาง Tencent เอง ทำให้ “อินเทอร์เน็ต” สำหรับคนจีนส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีคำว่า “เว็บไซท์” แต่มีเพียง “WeChat” เพียงเท่านั้น
จึงเป็นช่องทางที่ทำให้ “WeChat” พัฒนาฟีเจอร์ “WeChat Store” ขึ้นมาสำหรับบัญชีธุรกิจให้สามารถเปิดร้านค้าดิจิตอลเพื่อทำการซื้อขายและชำระเงินได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเว็บไซท์ตัวกลางอย่าง T-mall, Taobao ของคู่แข่งหรือแม้กระทั่ง JD ที่ทาง Tencent เองก็ถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่งแต่อย่างใด โดย Store เหล่านี้มีหลายรูปแบบ ทั้งสำหรับขายสินค้าสำเร็จรูป เสื้อผ้า บริการ อาหาร ฯลฯ
รูปภาพจาก Walkthechat
แต่นอกจาก WeChat Store แล้ว ในปีที่ผ่านมา ทาง WeChat ได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่สำคัญที่เรียกว่า “WeChat Mini-apps” ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถพัฒนา “แอปพลิเคชันขนาดเล็ก” ที่อาศัยอยู่ในแอปพลิเคชันของ WeChat เองโดยตรงโดยผู้ใช้ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างหาก ให้ผู้ใช้เข้าถึงได้โดยมีความสามารถที่มากกว่าเว็บไซท์ทั่วไป
เรียกได้ว่า WeChat ได้ทำตัวเป็น “App Store” ของตัวเอง ทำให้คนสามารถปล่อยแอปพลิเคชันได้โดยไม่ต้องผ่านผู้คุม “App Store” อย่าง Apple บนระบบปฏิบัติการ “iOS” อย่าง iPhone, iPad หรือ Google ที่มี “Google Play” บนระบบของ Android ด้วยซ้ำ
การที่ WeChat ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาแพลตฟอร์มมาอย่างชาญฉลาดแบบนี้ ทำให้การใช้ชีวิตในประเทศจีน ได้กลายเป็นเรื่อง “ไฮเทค” ในสายตาของคนภายนอก เพราะคนทุกเพศทุกวัยทุกฐานะนั้นต่างใช้ “โทรศัพท์สมาร์ทโฟน” เป็นเครื่องมือในการติดต่อและทำธุรกรรมกันอย่างตลอดเวลา
ทุกร้านค้าที่คุณเดิน ตั้งแต่ของชำร่วยไปยันบริการโรงพิมพ์ จะมีรหัส QR Code เพื่อให้คุณสามารถติดตามข่าวสารจากร้านค้านั้นๆได้ในโลกดิจิตอลโดยไม่ต้องกลับมาที่ร้านอีกครั้ง โดยร้านค้าแต่ละร้านจะทำการถ่ายรูปสินค้าใหม่ๆและโพสท์ลงไปใน “Timeline” หรือห้องแชทกลุ่มของตนเอง และหากเราสนใจซื้อ ก็สามารถสอบถามหรือสั่งจองได้ทันทีโดยทำการชำระผ่าน WeChat เพื่อยืนยันการซื้อขาย
หากคุณเดินเข้าร้านอาหาร คุณอาจพบว่าร้านเหล่านั้นจะไม่ยอมให้เมนูอาหารแบบที่พิมพ์ออกมาแล้วให้ แต่จะให้คุณแสกน QR Code เพื่อเข้าถึงเมนูอาหารใน WeChat Store ของเขา เพื่อทำการกดสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันและส่งเข้าครัวเขาได้เลยทันทีพร้อมกับทำให้เรากลายเป็นฐานผู้ติดตามร้านนี้ไปโดยปริยาย แถมมีช่องทางในการสั่งซื้ออาหารจากร้านค้านี้ให้ไปส่งถึงบ้านในครั้งถัดไป ผ่านแอปพลิเคชันรายการอาหารตัวเดียวกัน
บริการเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงลูกเล่นของร้านค้าระดับสูง และจะไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากคุณเดินเข้าไปกินร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นข้างทาง แล้วเห็นคนงานที่หาเช้ากินค่ำจ่ายค่าอาหารด้วย WeChat เพราะมันได้กลายเป็นมาตรฐานของการธุรกรรมระหว่างกันในประเทศจีนไปแล้ว
รูปภาพจาก Matthew Brennan และ Chinachannel.co
และการที่เครื่องมือดิจิตอลอย่าง “WeChat” เป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมระหว่างกันนี้ ก็ได้ทำให้เกิดการผสานระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์ได้อย่างแท้จริง โดยนอกจากตัวอย่างของร้านอาหารที่ใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารมาทดแทนเมนูการสั่งทั้งภายในร้านและสั่งกลับบ้าน ยังมีตัวอย่างอย่างเทรนด์ Startup ที่มาแรงที่สุดในประเทศจีนในปีที่ผ่านมาอย่างบริการ “เช่าจักรยาน” อย่าง Mobike และ Ofo ที่จะมีการวางจักรยานไฟฟ้าสีสรรค์สดใสของบริษัทไว้ตามที่ต่างๆในตัวเมืองเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ใครก็ได้สามารถหยิบมันขึ้นมาใช้ โดยทำการแสกน QR Code ที่ติดอยู่กับตัวจักรยานเพื่อปลดล็อคการถีบ เสร็จแล้วก็ขับมันไปยังจุดหมายใดๆก็ได้ด้วยตนเอง แล้วทำการแสกน QR Code อีกครั้งหรือกดปุ่มเลิกใช้บริการเพื่อให้แอปพลิเคชันทำการคำนวณระยะทางที่ใช้ไป เก็บชำระเงินด้วย WeChat Pay แล้ววางทิ้งไว้เพื่อให้คนถัดไปมาใช้ต่อโดยไม่ต้องเอาไปคืน โดยคนถัดไปจะสามารถหาจักรยานนี้เจอได้จากระบบ GPS นั่นเอง
ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ผ่านแอป WeChat เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆเพิ่มให้ยุ่งยาก ด้วยระบบ Mini-apps ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การแพร่หลายและการพัฒนาที่ชาญฉลาดของ “WeChat” นั้น ได้ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตในประเทศจีนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ความท้าทายของ “WeChat” ในขั้นต่อไป คือการเลือกสนามรบถัดไปของตนเอง ว่าจะเป็นการทำตลาด “Mini-apps” เพื่อตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลผ่านช่องทางดิจิตอล การขยายฐานผู้ใช้นอกประเทศจีนที่เคยพยายามแต่ต้องยอมแพ้มาแล้วผ่านแคมเปญที่ลงทุนจ้างนักเตะระดับโลกอย่าง Lionel Messi มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือการรักษาฐานผู้ใช้จากคู่แข่งในประเทศเอง อย่างเครือบริษัท Alibaba ที่เคยพยายามทำแอปพลิเคชันแชทมาแข่งก็ต้องยอมถอย แต่เริ่มกลับมาสู้ด้วย AliPay ที่ครองตลาดการทำธุรกรรมกับบริษัทหรือซื้อขายออนไลน์ได้ และพยายามใช้กลยุทธ์การเป็นเครื่องมือการชำระเงินในการท่องเที่ยวต่างประเทศมาทำให้คนฝากเงินและการชำระเงินในชีวิตประจำวันผ่าน AliPay มากขึ้น
ทางฝั่งของ “Mini-apps” เอง แม้แอปพลิเคชันเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้มีขนาดใหญ่ และเป็นเหมือนส่วนขยายของ WeChat เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการที่ต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็เป็นการท้าทายอำนาจเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Google และ Apple เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Apple ที่มีการตั้งกฏเกณฑ์ควบคุมแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการของตนเองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “การซื้อขายในแอปพลิเคชัน” หรือ “In-app purchases” ที่ปกติแล้วจะต้องแบ่งรายได้ให้กับ Apple 15-30% ซึ่งทาง Apple เองก็พึ่งบังคับให้ทาง WeChat ปิดระบบการ “ให้ทิป” เงินผ่าน WeChat Pay ไป เพราะมองว่าเป็นการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชันแต่กลับไม่มีการแบ่งเปอร์เซนต์ให้กับ Apple แต่อย่างใด สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้ชาวจีนจำนวนมากไปอย่างเรียบร้อยแล้วที่นิยมให้รางวัลผู้สร้างคอนเทนต์ที่โดดเด่น คล้ายกับการกดไลค์แต่ว่าให้เงินจริงๆ
จากการเติบโตของ “WeChat” เราจะเห็นว่าระบบ “Digital Payments” และ “Chat Apps” ได้กลายเป็น “เครื่องมือมาตรฐาน” ใหม่ของทั้งการทำธุรกรรม และการเข้าถึงบริการและข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิตอลไปแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็คอย่างแพร่หลายในยุคของสมาร์ทโฟน
จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในประเทศไทยเอง ที่มีทั้งการผลักดันของ PromptPay จากภาครัฐบาล และระบบการชำระเงินจากภาคเอกชนอีกมากมายตั้งแต่ True Wallet, LINE Pay, AirPay ฯลฯ พร้อมกับแอปพลิเคชันแชทอย่าง LINE และ Facebook Messenger ว่าจะมีการพัฒนาไปด้านใด และใครจะเป็นผู้ครองตำแหน่งนี้เมื่อการใช้เทคโนโลยีแพร่หลายไปทั่วประเทศและเข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริงครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
www.sellsuki.co.th