ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นธุรกิจเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคนผ่านการเติบโตของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลข่าวสารผ่านเสียง รูปภาพ และข้อความได้อย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้เร็วขึ้นโดยมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกลงจนทำให้คนในโลกนี้สามารถใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน
ในช่วงแรกเราได้เห็นการเติบโตของผู้ผลิต “ฮาร์ดแวร์” อย่าง Microsoft, Dell, HP, IBM, Sony ในฐานะผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ มาจนถึงยุคสมาร์ทโฟนที่ทาง Apple ในฐานะผู้ผลิต iPhone และ Google กับ Samsung ในฐานะผู้ร่วมผลิตโทรศัพท์บนระบบปฏิบัติการ Android เป็นผู้นำ
เมื่อเวลาผ่านไป คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้เหล่านี้ก็ได้กลายเป็น “Platform” หรือ “ช่องทาง” ใหม่ให้เหล่านักพัฒนา “ซอฟท์แวร์” ผลิต “แอปพลิเคชัน” เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งานตัวโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จนเกิดทำให้บริษัทซอฟท์แวร์อย่าง Amazon, Google, Facebook, Alibaba, Tencent สามารถสร้างแอปพลิเคชันให้บริการกับผู้บริโภคจนเติบโตใหญ่กว่าบริษัทที่เป็นผู้ผลิตสิ่งที่จับต้องได้อย่าง “ฮาร์ดแวร์” ในตอนแรกไปเรียบร้อย
รูปภาพจาก businessnet.co.za
โดยบริษัทซอฟท์แวร์กลุ่มนี้ มีจุดร่วมกันตรงที่การเกาะกระแสเทรนด์ “E-commerce” และ “SoLoMo” หรือ “Social”, “Location”, และ “Mobile” จนเติบโตเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในโลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการดำเนินชัวิต และวิธีการทำธุรกรรมแบบที่เคยมีอยู่ จนถูกเรียกได้ว่าเป็น “Disruptive Technologies” และได้กลายเป็น “Platform” ในการกำเนิดธุรกิจใหม่ๆไปในตัวอีกด้วย
เทคโนโลยีถัดไปที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคลื่นลูกใหม่จะมีอะไรบ้าง บทความนี้ จะลองคาดเดากันครับ
หลังจากยุค “Cloud” ที่กล่าวถึงการที่ซอฟท์แวร์จะทำการย้ายจากการทำงานบนเซิฟเวอร์หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไปสู่การรวมศูนย์เซิฟเวอร์ไว้ในที่เดียวกันแล้วให้ผู้ใช้ทั่วไปใช้งานผ่านการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตแทนนั้น ก็เข้าสู่ยุค “Internet of Things” ที่เป็นการพูดถึงการทำให้อุปกรณ์รอบกายเราสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและมีคอมพิวเตอร์ติดตัวได้อีกด้วย
“Internet of Things” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณการเป็นรูปเป็นร่างของมันผ่านการลองผิดลองถูกของ Startup กลุ่มใหม่ๆ อย่างเช่น กล้องรักษาความปลอดภัยที่ผู้ใช้สามารถใช้แอปพลิเคชันเข้ามาดูภาพและฟังเสียงได้ตลอดเวลา พร้อมรับรู้และเตือนอัตโนมัติเวลามีอะไรผิดปกติเข้ามาอยู่ในภาพ เครื่องชั่งน้ำหนักที่คอยเก็บและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและสุขภาพของเรา ไฟบ้านที่สามารถเปิดปิดอัตโนมัติตามการตั้งเวลาหรือการเข้าออกบ้านของเรา หรือลำโพงอัจฉริยะที่มีผู้ช่วยส่วนตัวคอยรายงานข่าวหรือควบคุมอุปกรณ์อื่นๆในบ้านที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอีกที เป็นต้น
รูปภาพจาก Allhomerobotics.com
เรากำลังได้เห็นการลองผิดลองถูกของ Internet of Things ในอัตราที่ก้าวกระโดด เพราะชิปคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กลงจนเรามีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ก็ได้มีขนาดเล็กลงอยู่เรื่อยๆจนสามารถนำไปใส่ในอุปกรณ์ได้เกือบทุกสิ่งรอบตัวเรา พร้อมเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหมายความว่าอุปกรณ์ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ก็จะสามารถมี “ซอฟท์แวร์” เพื่อเก็บข้อมูลและต่อยอดการใช้งานได้เหมือนกัน
อาจเรียกได้ว่า เรากำลังมีแพตฟอร์มใหม่สำหรับ “ซอฟท์แวร์” ยุคถัดไป
หนึ่งใน “ฮารด์แวร์” หรือ “สิ่งที่จับต้องได้” ที่มีลักษณะของ “Internet of Things” ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเรามากที่สุดก็คือ “รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง” หรือ “Self-driving cars” ที่ใช้ความสามารถของกล้องและเซ็นเซอร์ยุคใหม่ พิกัดบนแผนที่ดิจิตอล ประกอบกับซอฟท์แวร์สมองกล เพื่อควบคุมรถยนต์จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วยตนเอง
เทรนด์ของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วมันได้ถูกทดสอบการใช้งานแล้วในบางพื้นที่ที่สหรัฐฯอเมริกา รวมไปถึงการใช้งานจริงในรถสิบล้อที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างรัฐฯในสหรัฐฯอเมริกาและมณฑลต่างๆในประเทศจีน โดยจะมีคนนั่งอยู่ในรถเพื่อเตรียมพร้อมขับหากอุปกรณ์ซอฟท์แวร์มีปัญหา
จากการทดสอบ แม้พึ่งทดสอบได้ด้วยจำนวนไม่สูง แต่พบว่ารถยนต์เหล่านี้กลับมีอัตราอุบัติเหตุที่น้อยกว่าการขับรถด้วยตนเอง พร้อมทั้งทำให้ผู้โดยสารไม่เหนื่อย ไม่เครียด และสามารถทำอย่างอื่นได้หากรถยนต์ได้รับการไว้วางใจให้ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองอย่างเต็มตัวซึ่งด้วยความที่รถยนต์เหล่านี้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้รถสามารถพัฒนาการควบคุมและการใช้งานผ่านการ “อัพเดท” ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ต่างจากรถยนต์สมัยก่อนที่ซื้อแล้วเป็นอย่างไร ก็จะเป็นอย่างนั้นตลอดไป
รูปภาพจาก Tesla
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หากรถยนต์ในอนาคตต่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตได้ 100% แล้ว จะเป็นไปได้ไหมที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์อีกต่อไปอย่างแท้จริง แต่มีรถวิ่งอยู่บนถนนตลอดเวลา พร้อมให้สามารถถูกเรียกผ่านแอปพลิเคชันการใช้งานได้โดยไม่ต้องรอ รวมไปถึงการลดปัญหาการรถติด เพราะสามารถควบคุมจราจรได้จากศูนย์กลาง รวมถึงการเร่งและลดความเร็วได้อย่างพร้อมเพรียงกัน
รถยนต์ขับเคลื่อนตนเองนั้นจึงไม่ใช่การปฏิวัติแค่เรื่องของรถยนต์ แต่เป็นเรื่องของการปฏิวัติระบบโลจิสติกส์ที่น่าสนใจไม่แพ้ไปกับ “โดรน” ที่เป็นข่าวเลย
“AI” หรือ “Artificial Intelligence” หรือ “สมองกล” ที่ใช้พูดถึงการคิดได้ด้วยตนเองของคอมพิวเตอร์นั้น กำลังได้รับการจับตามองในปัจจุบันเพราะความสามารถที่พัฒนาอย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆอย่าง “Deep Learning” หรือ “Machine Learning” ที่ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาการอย่างรวดเร็วของการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ให้สามารถเรียนรู้ข้อมูลในรูปแบบใหม่ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรีนยรู้และคาดการณ์ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้การเขียนโปรแกรมในลักษณะว่า ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นให้ทำสิ่งนี้ แต่เป็นการเขียนโปรแกรมสอนให้เรียนรู้อย่างไรแทน
จริงๆแล้ว AI ไม่ใช่สิ่งใหม่ ทุกสิ่งที่เรามักจะทำให้เราพูดว่าโปรแกรมมันฉลาดในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่แล้วมี AI อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นผลการค้นหาใน Google โฆษณาที่เราเห็นในแอปพลิเคชันหรือ Facebook ระบบแนะนำเพลง ผู้ช่วยอย่าง Siri การคำนวณระบบการอนุมัติเครดิต เรื่องพวกนี้เกิดอาศัยระบบ AI ทั้งหมด แต่วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็วนี้เอง ที่ทำให้พัฒนาการของ AI เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความสามารถในการทำสิ่งที่เคยต้องพึ่งพาอาศัยมนุษย์ได้มากขึ้นจนกระทบต่อความมั่นคงของแรงงานในหลายอุตสาหกรรม
ข้อมูลจาก McKinsey & Company
เทคโนโลยี Augmented Reality และ Virtual Reality เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เราสามารถมีประสบการณ์ผ่านหน้าจอหรือโลกภายนอกในรูปแบบใหม่ ทั้งเทคโนโลยี Virtual Reality ที่ทำให้เราไปอยู่ในที่อื่นๆร่วมกับคนอื่นได้โดยไม่ต้องเดินทาง และ Augmented Reality ที่เป็นการนำภาพดิจิตอลมาวางไว้บนโลกภายนอกผ่านเลนส์สมาร์ทโฟนหรือแว่นที่สวม ทำให้เราสามารถทำงานหรือเห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเห็นอยู่ได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับสองเทคโนโลยีนี้ Augmented Reality มีแนวโน้มว่าจะสามารถเป็นเทคโนโลยีที่ “Disruptive” หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า เพราะสามารถใช้งานกับการทำงานในปัจจุบันของเรา และได้รับการสนับสนุนจากทั้งทาง Microsoft ผ่าน HoloLens และ Apple ผ่าน ARKit ที่ฝังอยู่ใน iPhone รุ่นใหม่ๆโดยเรียบร้อยแล้ว
รูปภาพจาก Microsoft
เทคโนโลยีที่ได้รับการจับตามากที่สุดในตอนนี้หนีไม่พ้นเหล่า “สกุลเงินดิจิตอล” ที่มี “Bitcoin” เป็นหัวเรือที่ดังที่สุด ในความสามารถที่จะมาทดแทนวิถีการทำธุรกรรมทางการเงินบนโครงสร้างเดิม ที่มีโครงสร้างและต้นทุนที่ยังช้าและแพงอยู่สำหรับยุคดิจิตอล และอยู๋บนพื้นฐานของภาครัฐที่กุมอำนาจไว้ ซึ่งหากสกุลเงินดิจิตอลยุคใหม่เป็นของประชาชนและถูก “decentralized” หรือ “กระจายอำนาจ” แบบไม่มีผู้ควบคุมหลักรายเดียวได้จริง ก็จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากที่สุดเลยทีเดียว
ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ทำให้สกุลเงินดิจิตอลในปัจจุบันเกิดได้นั้น คือเทคโนโลยี “Blockchain” ที่อธิบายได้อย่างง่ายที่สุดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีการเก็บบันทึกข้อมูลที่อาศัยการกระจายการเก็บและรักษาความน่าเชื่อถือของข้อมูลผ่านจำนวนคอมพิเวตอร์และระบบบันทึกหลายๆเครื่องจนไม่สามารถถูกแฮคได้ ทำให้สกุลเงินดิจิตอลนั้นสามารถมีความน่าเชื่อถือและมีการโอนกันได้ ต่างจากไฟล์ดิจิตอลอื่นๆที่เป็นการทำซ้ำมากกว่าใช้งาน เช่น เวลาเราส่งไฟล์เพลงให้เพื่อน เราก็จะยังมีไฟล์เพลงนั้นอยู่ เป็นต้น
จะเห็นว่า เทคโนโลยี Blockchain นั้น สามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีเรื่องของความน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นสำคัญ และเราจะเห็นการนำมาใช้ของมันในอุตสาหกรรมใหม่ๆในอนาคตอย่างแน่นอน
ในประเทศไทยเองที่ธุรกิจดิจิตอลสามารถเติบโตได้เพราะเทรนด์ของสมาร์ทโฟนนั้น ก็ทำให้เกิดแอปพลิเคชันยุคใหม่อย่าง Facebook, LINE, Instagram, Uber, Grab ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดมาจากเงินทุนต่างชาติจำนวนมาก แต่ก็ทำให้พื้นที่ที่บริษัทเกิดใหม่จะพอเข้ามาทำธุรกิจได้ก็เหลือน้อยลงเต็มที
ธุรกิจที่ทางบริษัทในประเทศไทยเองยังจะสามารถป้องกันไว้ได้น่าจะหนีไม่พ้นธุรกิจที่มีกฏหมายเฉพาะอย่างเช่นประกัน การเงิน เป็นต้น คล้ายกับที่ทางประเทศจีนป้องกันการแพร่หลยาของแอปพลิเคชันและบริการซอฟท์แวร์จากสหรัฐฯอเมริกาด้วยการปิดประเทศทั้งทางกายภาพและทางสารสนเทศ จนกว่าประเทศตนเองจะสามารถพัฒนาบริการซอฟท์แวร์ใกล้เคียงในแก่นธุรกิจดิจิตอลสำคัญๆอย่าง อีคอมเมิร์ซ การสื่อสาร และการเงิน อย่างเช่น อาลีบาบา และ วีแชท หรือแม้กระทั่งการผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง อย่างแบรนด์ Xiaomi, Vivo, Oppo, Lenovo เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเห็น Disruptive Technology และ Platform ใหม่ๆอย่าง Blockchain, Cryptocurrency, AR/VR, AI, หรือ Self-driving Car และ Internet of Things เกิดขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่น่าติดตามคือเทคโนโลยีเหล่านี้ จะอยู่ในมือของ Startup หน้าใหม่ หรือกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี “ยุคใหม่” กลุ่มเดิมอย่าง Google, Facebook, Amazon, Microsoft, Alibaba, Salesforce ฯลฯ ที่สามารถเกิดและเติบโตขึ้นมาครองบัลลังก์บริษัทที่มีมูลค่าเยอะที่สุดในโลกได้ เพราะในขณะที่บริษัทดังกล่าวใช้ประโยชน์จากความสามารถในการทำซ้ำของซอฟท์แวร์ และความเชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยียุคใหม่ที่บริษัทกลุ่มเดิมไม่มี กลุ่มเทคโนโลยีคลื่นใหม่นี้ยังสามารถใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของบริษัทซอฟท์แวร์ดังกล่าวได้ พร้อมจำเป็นต้องมีเงินลงทุนในการผลิตในกรณีของฮาร์ดแวร์ หรือข้อมมูลมหาศาลเพื่อใช้ประโยชน์จากมันในกรณีของ AI และ Self-driving car จะมีเพียงแต่การลงทุนจากกลุ่มนักลงทุน หรือ เทคโนโลยีที่ใหม่ไปเลยอย่าง Blockchain ที่ดูมีโอกาสที่จะทำให้เกิดบริษัทหน้าใหม่มาท้าทายกลุ่มบริษัทเดิมได้มากที่สุดเท่านั้น
สำหรับประเทศไทยที่แท้จริงแล้วก็มีนักพัฒนาซอฟท์แวร์เก่งๆที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศกลับมาอาศัยอยู่มากขึ้น และการตั้งถิ่นฐานบุกตลาดของบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ เป็นที่น่าจับตาว่าจะสามารถมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดบริษัทซอฟท์แวร์ไทยที่จะสามารถต่อกรกับบริษัทต่างชาติได้เพียงใดครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
www.sellsuki.co.th