ในอุตสาหกรรม Startup ที่มีอัตราการปิดตัวของบริษัทสูงไม่แพ้อัตราการเกิด บริษัทที่ไม่มีการเก็บรายได้กลับสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยสายป่านของนักลงทุน ส่วนบริษัทที่เก็บเงินกลับอาจจะหายไปในพริบตาเพราะบริหารเงินสดไม่ดีหรือบริการไม่ดีจริง บวกกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นได้ทั้งดาบทั้งเกราะป้องกันในการเจาะตลาดของบริษัท การจะคาดการณ์ว่า Startup บริษัทไหนจะรุ่ง บริษัทไหนจะร่วง ก็คงจะเป็นการกระทำของคนที่จองหองเท่านั้น
ดังนั้น แทนที่ในบทความนี้ผมจะคาดการณ์ Startup ที่น่าจับตาในปี 2017 ผ่านการเพ่งเล็งของผมเองเพียงคนเดียว จึงขอใช้วิธีการรวบรวมจากการแนะนำของกลุ่มนักลงทุนชื่อดังใน Silicon Valley อีกที ซึ่งก็ได้ผ่านการรวบรวมมาจากทางเว็บไซท์ Business Insider มาก่อนเช่นกัน เพื่อที่ว่าเวลามีคนกลับมาย้อนอ่านในปี 2018 จะได้มีการกระจายความผิดไปหลายๆฝ่ายเท่าๆกันนะครับ (ฮา)
ทั้งนี้ บทความนี้จะขอยกเว้นบริษัทในกลุ่ม B2B และเน้นไปที่บริษัทที่ยังอยู่ในช่วงกำลังเติบโต และมีที่ตั้งอยู่ที่สหรัฐฯอเมริกาก่อนนะครับ
หลังจากที่ปี 2015-2016 เป็นปีของ “แชท” ด้วยการเติบโต แบ่งแย่ง และครองตลาดของแอปฯอย่าง WhatsApp, Facebook Messenger, LINE, WeChat, KaKao ฯลฯ ในตลาดของการคุยระหว่างผู้ใช้ทั่วไปแล้ว ก็ได้เริ่มมีการเติบโตของแอปฯแชทที่จับตลาดเฉพาะทางอย่างเช่นการสื่อสารภายในองค์กรอย่าง Slack ที่เติบโตรวดเร็วในตลาดตะวันตกและกลุ่มโปรแกรมเมอร์ หรือ Eko ของคนไทย ที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วในประเทศจีน
แอปพลิเคชันถัดไปที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีหน้าก็คือ Discord แอปการแชทที่เจาะกลุ่มตลาดนักเล่นเกม ด้วยการออกแบบให้นักเล่นเกมสามารถสร้างหรือตามหาห้องแชทของเกมที่ตนเองสนใจ พร้อมทั้งตั้งห้องส่วนตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อรวมทีมและทำการ “group call” ระหว่างการเล่น
ปัจจุบัน Discord ได้รับการลงทุนไปแล้วกว่า $29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยจำนวนผู้ใช้ 25 ล้านคนและการส่งข้อความกว่าวันละ 100 ล้านข้อความ ณ เดือนพฤษภาคม 2016
นอกจากนี้ยังมีแอปฯที่น่าจับตาอย่าง Marco Polo ที่เกาะกระแสการเติบโตของ Snapchat ในกลุ่มวัยรุ่น Millennials ด้วยแนวคิดการสื่อสารแบบ “วิทยุสื่อสาร” ในรูปแบบของวิดีโอให้ผู้ใช้สามารถอัดวิดีโอสั้นๆเพื่อส่งเป็นข้อความหากัน พร้อมฟิลเตอร์สนุกๆที่ใส่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแอป Musical.ly ที่ออกแบบมาให้ใครๆก็สามารถแสดงในมิวสิควิดิโอของตัวเองได้อย่างสนุกสนาน ตอกย้ำเทรนด์ภาพเคลื่อนไหวที่จะมาแรงในปี 2017
อีกแอปที่น่าจับตามองที่เล่นเรื่องวิดีโอก็คือ Houseparty ที่เปลี่ยนชื่อและรูปแบบการใช้งานจากแอป Meerkat ที่เคยโด่งดังในฐานะแอป “Live Video” รายแรก โดยมีการเติบโตในกลุ่มผู้ใช้ใน Twitter ก่อนที่จะแพ้ทางให้กับคู่แข่งอย่าง Periscope ที่มีข้อได้เปรียบจากการที่ Twitter ได้ทำการซื้อบริษัทไปพัฒนาต่อเอง โดย Houseparty นี้มีความสามารถพิเศษก็คือการ “Live Video Chat” ได้พร้อมกันมากถึง 8 คนพร้อมๆกัน และมีการเติบในกลุ่ม Millenials อย่างรวดเร็วเช่นกัน
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ว่ากลุ่ม Startup ที่ได้รับความสนใจในช่วงกลางปี 2016 ก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่ม “Fintech” หรือ “Financial Technology” ตามกระแสโลกที่มีผู้ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาบริการทางด้านการเงินใหม่ๆ เพื่อเจาะตลาดใหม่หรือให้บริการที่ยืดหยุ่นและทั่วถึงกว่าที่กลุ่มธนาคารเคยให้มาในปัจจุบัน
โดยส่วนตัวแล้ว บริษัทที่ผมสนใจเป็นพิเศษในกลุ่มนี้ คือ Affirm ที่วางตัวเป็นผู้ให้บริการ “การผ่อนชำระเงิน” โดย Affirm จะวางตัวไปอยู่ณ “จุดขาย” ต่างๆ อย่างเช่นตะกร้าสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเห็นผ่อนจ่ายรายเดือนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหมายความว่า นอกจาก Affirm จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการชำระเงินแล้ว จะยังมีรายได้จากการแบกรับความเสี่ยงจากการผ่อนโดยการเก็บดอกเบี้ยจากผู้ผ่อน แล้วทำการแบ่งรายได้นี้ให้กับผู้ขายอีกด้วย
บริษัท Affirm นี้ถูกก่อตั้งโดย Max Levchin ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งของ PayPal ร่วมกับผู้ประกอบการและนักลงทุนชื่อดังอื่นๆอย่าง Peter Thiel และ Elon Musk และในปัจจุบัน ได้มีการระดมทุนไปแล้วกว่า $520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อีกสิ่งที่น่าสนใจของ Affirm ที่สอดคล้องกับ Startup ก่อนหน้านี้ที่เราได้พูดถึงกันก็คือกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นกลุ่ม Millennials ที่มีทัศนคติว่าระบบการเงินธนาคารเป็นเรื่องเข้าใจยากและไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งนอกจาก Affirm แล้ว ก็ยังมี Fintech Startup อื่นๆอีกหลายตัวที่ถูกออกแบบมาเจาะกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้ เช่น Robinhood แอปพลิเคชันเทรดหุ้นที่ออกแบบมาสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือ Digit.co แอปพลิเคชันที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้จักการออกมด้วยการตัดบัญชีโดยอัตโนมัติทุกวันวันละไม่กี่บาท หากระบบได้ทำการตรวจสอบการใช้เงินแล้วพบว่าไม่น่าจะกระทบต่อรายจ่ายที่จำเป็น
และสุดท้าย ยังมีบริษัทที่ได้รับเงินลงทุนไปมากถึง $1,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่าง “Social Capital” หรือ “SoFi” ที่เจาะตลาดการ “Refinance” โดยจับกลุ่มปัญหาใหญ่อย่างการกู้เพื่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงจนสร้างปัญหาให้กับบัณฑิตใหม่ว่าทำงานเท่าไหร่ก็ใช้หนี้ไม่หมดเสียที และยังเป็นช่วงแรกของชีวิต ที่ชาวอเมริกันมักจะเริ่มมองหาบริการทางการเงินอีกด้วย
หมวดสุดท้าย ในขณะที่ Amazon ของสหรัฐฯและกลุ่มบริษัทในเครือ Alibaba จากจีนต่างพากันบุกตลาดการซื้อขายออนไลน์ของสินค้า Mass Market จนบางคนอาจมองไม่เห็นทางไปของคู่แข่งทางอีคอมเมิร์ซ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีนวัตกรรมในการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์อยู่อีกมากที่หันไปจับกลุ่มเฉพาะทางที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีตลาดที่จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้สามารถเจอกันได้ง่ายนัก และการมีตัวกลางในการซื้อขายออนไลน์ที่มีบทบาทมากขึ้นกว่าเพียงแค่การทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อมาเจอกัน
Opendoor เป็น Startup ที่มาแรงในหมวดนี้ โดยใช้ประโยชน์ของความง่ายในการทำ Marketplace ความสามารถในการทำการตลาดออนไลน์ การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด และการเจาะตลาดมูลค่ามหาศาลอย่างตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำเสนอบริการการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างตลาดให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน แต่ทำตัวเป็นนายหน้าเอง ด้วยการรับซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ต่ำกว่าตลาด แต่ยอมซื้อแบบพร้อมเสนอราคาภายใน 1 วันหลังจากที่ผู้ขายเสนอขาย แล้วค่อยทำการขายในตลาดทั่วไปเองแล้วเก็บรายได้ส่วนต่างอีกที
ที่ผ่านมา Opendoor ยังเก็บตัวอยู่เฉพาะหัวเมืองบางที่ แต่ปัจจุบันได้ระดมทุนไปแล้ว $320 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อเตรียมตัวขยายอย่างรวดเร็วในปี 2017
อีกตัวอย่างของตลาดออนไลน์ที่ตัวกลางมีบทบาทสำคัญในการซื้อขายคือ TheRealReal ตลาดออนไลน์สินค้าราคาแพง (luxury products) มือสอง คล้ายๆเว็บไซท์ ThaiSecondhand.com แต่ลงแรงเยอะกว่าด้วยการรับหน้าที่ในการตรวจสินค้าเพื่อทดสอบว่าเป็นของแท้ โดย TheRealReal นั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว แต่พึ่งเริ่มมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วในปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้ไปแล้วกว่า 4.5 ล้านคน ขายสินค้าไปแล้วกว่า 2 ล้านชิ้น และปิดการระดมทุนไปแล้ว $123 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากวงการซื้อขายสินค้าราคาแพงมือสองแล้ว ตลาดซื้อขายรถมือสองก็เป็นอีกตลาดที่คนนิยมซื้อขายกัน แต่มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจในการซื้อ และการคอยติดต่อประสานงานระหว่างคนซื้อและคนขาย จึงกำเนิด Shift เว็บไซท์ที่ทำให้ประสบการณ์การซื้อขายรถยนตร์ง่ายขึ้นด้วยการส่งพนักงานไปตรวจสภาพรถยนต์ถึงที่ พร้อมขับไปหาผู้ที่สนใจซื้อเพื่อให้ทำการทดลองขับ พร้อมอำนวยความสะดวกในการดำเนินเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆอีกด้วย
และสุดท้าย ในยุคที่สื่อดิจิตอลพัฒนากันจนคนเริ่มโหยหาเสน่ห์และความถาวรของสิ่งที่จับต้องได้ จึงกำเนิด Minted ที่เป็นการใช้ประโยชน์ของโลกดิจิตอลในการทำให้เกิดสินค้าที่จับต้องได้ในรูปแบบของการ์ดของขวัญ ด้วยการเป็น “ตลาดดีไซเนอร์” ให้ผู้ที่อยากได้การ์ดอวยพรพิเศษๆสามารถส่งรูปภาพที่ตัวเองอยากใช้ ให้นักออกแบบอิสระแข่งกันนำไปตกแต่งออกมาเป็นการ์ดสวยๆที่ไม่สามารถหาซื้อได้ที่ไหน เพื่อให้ผู้ว่าจ้างเลือกอันที่ชอบที่สุดที่ต้องการซื้อ โดยล่าสุด Minted ได้ขยายกลุ่มสินค้าไปยังของตกแต่งบ้านแล้ว และได้ทดลองการมีหน้าร้านชั่วคราวเป็นของตนเองอย่างเรียบร้อยแล้ว
จากกลุ่มตัวอย่างสามกลุ่มดังกล่าว จะเห็นว่าในตลาดต่างประเทศ การแข่งขันในตลาด Mass Market นั้นได้ผ่านไปแล้ว จนเทรนด์การเติบโตหันเข้ามาสู่พฤติกรรม niche และการเล่นตลาดของกลุ่มคนรุ่นใหม่วัย Millennials ที่มีรสนิยมและความต้องการต่างไปจากพ่อแม่ของเขา เห็นได้จากการเติบโตของตลาด e-sports หรือ “การเล่นและชมการเล่นเกมเป็นกีฬา” และการใช้แอปพลิเคชัน Social ใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้จักอยู่มากมาย
โดยแม้ตัวอย่างที่ผ่านมาจะเน้นหนักไปที่ตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่น่าจะเป็นแรงบรรดาลใจให้กับคนที่กำลังมองหากลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดดิจิตอลที่เริ่มมีผู้เล่นยักษ์ใหญ่หลายรายเข้ามาแย่งชิงเค้กก้อนใหญ่กันแล้วนะครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
www.sellsuki.co.th