Startup Investment
ในปัจจุบันเราจะเริ่มได้ยินข่าวว่ามีบริษัท “สตาร์ทอัพ” ไทยหลายรายที่ได้รับเงินลงทุนไป ไม่ว่าจะเป็น Claim Di ที่พึ่งได้รับเงินลงทุนระดับ “Series A” ไป $2,000,000 เหรียญสหรัฐฯหลังจากระดมทุนรอบ “Seed” ไปเมื่อปี พศ. 2557 หรือ Omise ที่ได้ “Series A” เช่นเดียวกันที่ $2,600,000 เหรียญสหรัฐ หลังจากที่ระดมทุนไป $300,000 เหรียญสหรัฐในระดับ “Seed” เมื่อปี พศ. 2557 เช่นเดียวกัน หรือ Pomelo ที่เรียกรอบการลงทุน $1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯของตนเองว่าเป็นรอบ Pre-Series A
จะเห็นว่าการระดมทุนของกลุ่ม Tech Starup นี้ จะมีการแบ่งรอบเป็นชื่อต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเรียกกันว่า “Angel Round”, “Seed Round”, และ “Series A” ไปจนถึง “Series B”, “Series C”
Thailand Tech Startup Ecosystem โดยเว็บไซท์ TechSauce.co
การแบ่งรอบต่างๆนี้ เป็นการแบ่งทั้งตามปริมาณเงินที่ลงทุน และระดับการเติบโตของบริษัท โดยช่วงแรกซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนหาเงินหาทุนก้อนแรกมาใช้นั้น เรียกกันว่าช่วง “Seed” หรือที่แปลว่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งหมายถึงการที่ธุรกิจกำลังพึ่งถูกปลูกและบ่มเพาะ นั่นเอง โดยปกติแล้ว Seed Round ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉัยงใต้นี้ จะเป็นรอบการลงทุนในช่วง $250,000 ถึง $500,000 เพื่อแลกกับหุ้นประมาณ 15%-30% เพื่อให้บริษัทสามารถมีพนักงงานและทุนในการค้นหาตลาดของตนเองและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น โดยคนที่ลงทุนนั้นจะมีสองรูปแบบคือ กองทุน “Venture Capital” ที่มีนโยบายลงทุนในบริษัทในรอบนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าบริษัทที่โตกว่านี้ แต่ก็เป็นก้อนการลงทุนที่ต่ำกว่า โดยปกติมักจะลงก้อนละประมาณ $100,000-$250,000 เหรียญสหรัฐฯ และนักลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ลงในรอบนี้ก็คือ “Angel Investor” หรือนักลงทุนอิสระที่เอาทุนส่วนตัวมาลง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ประมาณ $50,000 เหรียญสหรัฐฯต่อบริษัท ซึ่งบางครั้ง บริษัทบางบริษัทที่ต้องการเงินลงทุนตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลย อาจขอเงินลงทุนจาก Angel Investor ในปริมาณ $20,000-$50,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อแลกกับหุ้น 5%-10% มาเพื่อเริ่มต้นบริษัท จนเกิดเป็น “Angel Round” ก่อนที่จะมี “Seed Round”
โดยเหตุผลที่เรียกว่า “Angel Investor” นั้น เนื่องจากนักลงทุนเหล่านี้ มีบทบาทในการช่วยเหลือ พยุงธุรกิจให้รอดหรือพัฒนาตามศักยภาพของตนเองได้สำเร็จนั่นเอง สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ผู้ลงทุนเหล่านั้นจึงมีบทบาทต่อตนเองคล้ายๆกับเทวดาหรือนางฟ้าที่ลงมาช่วยนั่นเอง
นักลงทุนเหล่านี้แต่เดิมมักจะเป็นนักธุรกิจหรือนักบริหารที่เกษียณแล้ว แต่ในปัจจุบันมักครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ทั้งในเรื่องของลงทุน ความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายธุรกิจที่ตนเองมี โดยสิ่งที่ผู้ลงทุนจะได้รับ นอกเหนือจากความพอใจในการได้ช่วยเหลือนักธุรกิจรุ่นใหม่แล้ว แน่นอนว่ายังได้รับผลตอบแทนเป็นรูปแบบต่างๆจำพวก หุ้นในบริษัท ซึ่งจะสามารถให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินกลับมาได้ในอนาคตในกรณีที่บริษัทประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านการปันผล การที่บริษัทได้เข้าตลาดหุ้น ทำให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้นเป็นทวีคูณ หรือการที่บริษัทถูกบริษัทที่ใหญ่กว่าซื้อไปโดยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทุกคน เป็นต้น
ส่วนการลงทุนแบบ “Venture Capital” นี้ เป็นการลงทุนจากกองทุนหรือบริษัท ผ่านการรวบรวมเงินลงทุนมาจากผู้ลงทุนอื่นๆอีกที ซึ่งจะถูกเรียกว่าเป็น “LP” หรือ “Limited Partner” ของกองทุนนั้นๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีทุนหนา และต้องการเครื่องมือการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเพียงการเล่นหุ้น
สำหรับการลงทุนในรอบถัดไปนั้น เรียกว่ารอบ “Series A” ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใจ้มักมีปริมาณอยู่ที่ $1,000,000-$5,000,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อแลกกับหุ้นประมาณ 25%-35% โดยบริษัทที่ระดมทุนในรอบนี้เป็นบริษัทที่ค้นพบตลาดที่ตนเองถนัด และมีผลิตภัณฑ์ที่นิ่งแล้ว มีการระดมทุนไปเพื่อใช้ในการค้นหาการเติบโตและการขยายตลาดให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในตลาดของตนเอง หรือต่างประเทศก็ตาม ซึ่งเงินลงทุนรอบนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากกองทุน “Venture Capital” ล้วนๆ โดยหากมี Angel Investor สนใจลงด้วย ก็มักที่จะไม่ได้มีอำนาจใดๆในการเจรจาเงื่อนไขการลงทุน หรือมีหน้าที่ใดๆในบริษัท
สำหรับรอบถัดไปจากนี้ มักจะเป็นการไล่ตัวอักษรไปเรื่อยๆ เช่น Series B, Series C, ฯลฯ โดยมักจะเป็นการลงทุนเพื่อขยายตลาดเป็นหลัก ไม่ได้มีความแน่นอนในผลิตภัณฑ์เหมือนรอบ Seed Round หรือความไม่แน่นอนในวิธีการเติบโตเหมือนในรอบ Series A โดยปริมาณเงินและปริมาณห้นนั้นมักจะอยู่ที่กลไกตลาดการลงทุนล้วนๆ เพราะแต่ละบริษัทมีการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน ต้องการเงินไม่เท่ากัน และมีนักลงทุนแข่งกันลงไม่เท่ากัน
เพราะฉะนั้น ในหลายๆครั้งเราจึงจะเห็นได้ว่า บริษัทบางบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอล ดูเหมือนไม่มี Business Model ไม่มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจน แต่กลับดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และมีการขยายกิจการ เพิ่มจำนวนลูกค้าหรือผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมันเป็นเพราะเขามีเงินลงทุนมาตั้งแต่ Angel Investment แล้ว โดยผู้ลงทุนมองว่า รอให้บริษัทโตก่อน แล้วค่อยหาทางหาเงิน (“monetize) เมื่อมีจำนวนผู้ใช้หรือลูกค้าอยู่ในระดับที่จะทำให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว โดยหากจะยกตัวอย่างก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ Facebook ที่หากได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Social Network จะเห็นได้ว่า ในระยะแรกไม่มีวิธีการหาเงินเลย และจงใจที่จะยังไม่มีโฆษณา เพื่อดึงให้มีผู้ใช้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อน แล้วจึงหาทางคิดค่าโฆษณาในภายหลัง โดยคิดค่าโฆษณาต่อหัวเป็นจำนวนน้อยๆ แต่เมื่อรวมกันแล้วกลับเป็นจำนวนมหาศาล
ทั้งนี้ กับมามองในแง่ของการที่ผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่าเพียงเรื่องของเงินนั้น ทำให้บางทีก้อนเงินที่ผู้ลงทุนจำเป็นต้องลงนั้นอาจไม่เยอะเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะหากผู้ลงทุนเป็นผู้มีชื่อเสียงที่จะช่วยทำให้บริษัทที่ได้รับการลงทุนได้รับความยอมรับมากขึ้นจากโลกภายนอกนั่นเอง
จะเห็นว่า เมื่อมีการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น จากการที่บริษัทเกิดใหม่สามารถใช้เงินทุนเพื่อเติบโตได้อย่างรวดเร็วก่อนที่ตนเองจะมีรายได้พอที่จะกู้ธนาคารด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ต่อให้เราไม่ได้ประกอบกิจการสตาร์ทอัพ แต่ก็จะถูกกระทบได้ไม่รู้ตัวครับ
เลอทัด ศุภดิลก
Twitter: @lertad
Email: lertad@sellsuki.com