“Startup” คืออะไร… และแตกต่างจาก “SME” อย่างไร?
ทุกวันนี้คำว่า “Startup” ได้เกิดขึ้นและพุ่งแรงในประเทศไทยจนกลายเป็นธุรกิจกระแสสำหรับคนรุ่นใหม่ และไม่ว่าใครที่เริ่มทำธุรกิจเทคโนโลยีก็ต่างเรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่าเป็น “Startup”
แต่แท้จริงแล้ว เคยสงสัยกันไหมว่า สรุปแล้ว… “Startup คืออะไร?” และทำไมจะต้องมีศัพท์บัญญัติธุรกิจนี้ขึ้นมาแทนนคำว่า “SME”
ทำไมเว็บค้าขายออนไลน์บางที่ถูกเรียกว่าเป็น “Startup” ทั้งๆที่มันก็ดูเป็นเหมือนเว็บขายของออนไลน์ธรรมดาๆ แล้วบริษัทเกิดใหม่ทุกบริษัทมันคือ “Startup” เหมือนกันหมดหรือไม่ เพราะคำว่า “Startup” แปลตรงตัวก็น่าจะแปลว่า “ธุรกิจเกิดใหม่” ไม่ใช่หรือ?
สำหรับผมแล้วที่ติดตามธุรกิจเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก จริงๆแล้วก็ใช้เวลาศึกษาคำว่า “Startup” มาหลายปีเหมือนกัน จนได้มาประกอบธุรกิจของตนเองทั้งแบบที่คิดว่าเป็น “SME” และ แบบที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็น “Startup” นั้น ผมคิดว่าคำนิยาม “Startup” ที่ดีที่สุดนั้นมาจากนาย Paul Graham จากศูนย์บ่มเพาะ Y Combinator ที่เป็นศูนย์บ่มเพาะชื่อดัง Top 5 ของโลกในสหรัฐอเมริกา ที่ได้เขียนไว้ในบทความไว้ว่า “Startup = Growth” หรือ “การเติบโต” นั่นเอง โดย Startup ที่ดี จะต้อง “โตเร็ว”
ธุรกิจ Startup คือธุรกิจที่ถูกออกแบบมาให้เติบโตอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ทีมงาน โครงสร้างธุรกิจ ไปจนถึงวิธีการใช้เงิน และการทำตลาด โดยไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่เป็น “ธุรกิจเทคโนโลยี” หรือได้รับการลงทุน หรือ “Venture Capital” หรือมีการ “Exit” ผ่านการควบกิจการหรือการเข้าตลาดหุ้นแต่อย่างใด
ในขณะที่ธุรกิจ “SME” (Small Medium Enterprises) หรือที่สมัยนี้มักเรียกว่า “SMB” (Small Medium Businesses) นั้นมักจะมีเป้าการดำเนินการธุรกิจให้มีรายได้เติบโตอยู่ที่ประมาณปีละ 30%-50% หรือหากเป็นช่วงเกิดใหม่ก็อาจอยู่ที่ปีละ 100%-200% เป็นอย่างมาก ธุรกิจ Startup นั้นมีเป้าหมายที่จะเติบโตขึ้นให้ได้อย่างน้อยปีละ 1,000% โดยหากได้น้อยกว่านั้น ถือว่าธุรกิจ Startup นั้น “ยังไม่โต” หรืออาจถึงขั้น “ไปไม่รอด” ในฐานะ Startup ก็ว่าได้
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าธุรกิจทุกประเภทที่จะเป็น “Startup” ได้ ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจบริการอย่างเช่นร้านอาหาร ธุรกิจสปา หรือช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีข้อจำกัดในการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะต่อให้ร้านอาหารได้รับความนิยมเพียงใด หรือช่างที่มีฝีมือจะเป็นที่ต้องการแค่ไหน ธุรกิจเหล่านั้นก็จะมีข้อจำกัดทางด้านกายภาพที่ยากที่จะเอาชนะได้อย่างสถานที่ตั้ง และพื้นที่ที่สามารถให้บริการและทำตลาดได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าธุรกิจดังกล่าวนั้นจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีแต่อย่างใด เพราะการทำธุรกิจแบบ “กำไร = ต้นทุน” ตามที่กล่าวมานั้นก็คือการทำธุรกิจแบบที่มีมาแต่ช้านาน ที่สร้างนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีฐานะแบบไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครมาตลอดเวลาที่ผ่านมา และเป็นวิธีการทำธุรกิจแบบ “SME” ที่เราคุ้นเคย
Paul Graham ได้อธิบายไว้เพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่จะสามารถเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติสองอย่างคือ 1) เป็นธุรกิจที่นำเสนอในสิ่งที่เป็นที่ต้องการในตลาดที่มีขนาดใหญ่ และ 2) มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่นั้นได้
SME ที่ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่นั้นมีความสามารถในการสร้างสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการได้ แต่ไม่ได้มีทรัพยากรหรือความสามารถในการที่จะทำตลาด ขาย และจัดจำหน่ายสิ่งที่ตัวเองสร้างให้คนทั้งกลุ่มนั้นได้เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ร้่านหนึ่ง อาจมีความสามารถในการออกแบบสินค้าที่คนจำนวนมากในโลกนี้ชอบและต้องการใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนทั่วโลกนั้นจะเดินทางมาหาร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านนี้เพื่อทำการซื้อไปใช้ที่บ้าน หรือต่อให้เป็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าร้านเฟอร์นิเจอร์นี้ จะมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ทันเท่ากับความต้องการของคนทั่วโลกได้อย่างตลอดเวลา
แต่เมื่อโลกเราเข้ายุคของอินเทอร์เน็ตที่มีความสามารถในการเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจในสมัยก่อนนั้น ทำให้เกิด “โอกาสทางธุรกิจ” และ “ผู้ประกอบการ” ที่มีความกระหายที่จะใช้ประโยชน์ของช่องทางใหม่นี้ในการเข้าถึงคนให้กว้างขึ้นและเร็วขึ้น และมีโอกาสที่จะทำได้ทั้งเรื่องของ 1) สร้างสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการ และ 2) จัดจำหน่ายมันให้ทั่วถึงคนเหล่านั้น เพราะสิ่งที่นำเสนอนั้นอาศัยอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วโดยทุนเดิม
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าการทำธุรกิจเทคโนโลยีโดยอาศัยการเขียนโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่อาศัยและจัดจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของการจัดจำหน่ายได้ดี
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเทคโนโลยีทุกตัวนั้นจะเป็น Startup ยกตัวอย่างเช่น
เว็บชุมชนออนไลน์สำหรับคนรักกิ้งก่าในประเทศไทย
อาจจะสามารถเข้าถึงคนรักกิ้งก่าในประเทศไทยได้ทั้งหมด
แต่อาจไม่ใช่ขนาดตลาดที่จะสามารถเติบโตเป็น 1,000%
ต่อปีได้อย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
แต่ข้อดีของอินเทอร์เน็คที่เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้นนั้น
ก็ย่อมหมายความว่ามีคนแย่งชิงตลาดกับเรามากขึ้น ยิ่งตลาดใหญ่เท่าไหร่
ยิ่งมีคนแย่งเรามากขึ้นเท่านั้น และเราก็จะต้องทำการแข่งขันกับธุรกิจเหล่านั้นทั้งหมด
ต่างจากธุรกิจแบบ SME แบบดั้งเดิม
ที่อาจจะต้องแข่งกับร้านค้าที่ตั้งร้านอยู่ทำเลที่ใกล้เคียงกันเท่านั้นเอง
นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Startup ต้องโตเร็ว
การ สร้างธุรกิจเพื่อรองรับการโตเร็วนั้น อาศัยวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ไม่ได้มีสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจที่ไหน และต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินและการบริหารองค์กรที่แตกต่างจากธุรกิจ SME แบบที่เคยมีมา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ก่อให้เกิดวงการนักลงทุน ที่เข้ามาให้ทุนกับบริษัท Startup เพื่อหวังผลตอบแทนในอัตรา 50-100 เท่าของการลงทุน เพราะรับความเสี่ยงสูงจากการให้ทุนหลายสิบล้านบาท ต่างจากธนาคารที่ไม่มีวันแม้แต่จะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ยังแทบไม่มีลูกค้าหรือรายได้เป็นของตนเอง
และเมื่อเครื่องมืออำนวยการเติบโตเหล่านี้มีความพร้อมมากขึ้น จากสมัยก่อนที่อาจใช้เวลา 20-30 ปีในการสร้างธุรกิจมูลค่าพันล้าน ในปัจจุบัน มีบริษัทเกิดใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าได้เร็วขึ้นว่าที่เคยมีมา โดยใช้เวลาเพียง 10, 5, หรือ 2 ปีในบางกรณีด้วยซ้ำ
ข้อมูลจากเว็บไซท์ inc.com
อีกนิยามของ Startup ที่เข้ากับยุคสมัยที่ “การเติบโต” สำคัญกว่า “รายได้” นั้นเป็นของนาย Dave McClure จาก 500 Startups ที่เป็นทั้งคู่แข่ง และเพื่อนของ Y Combinator ของนาย Paul Graham และติดอันดับ Top 5 ของโลกเช่นเดียวกัน และมีนโยบายการลงทุนท่ีแตกต่างจากที่อื่น ทั้งในเรื่องผลตอบแทน และสัญชาติของบริษัทที่ลงทุน ดั่งที่เห็นการที่เขาเข้ามาให้ความสำคัญกับบริษัทในประเทศไทย และตั้งกองทุน “500 Tuk Tuk” ขึ้นมา โดยปัจจุบัน 500 Startups ได้ลงทุนในบริษัทเกือบเท่าตัวจากเดิมที่ตั้งใจตั้งชื่อไว้ว่า “500” ให้มันดูเยอะๆไว้ตอนต้นไปเรียบร้อยแล้ว
นาย Dave McClure ได้นิยามบริษัท “Startup” ไว้ใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า “ธุรกิจเกิดใหม่” ในทางภาษาศาสตร์ไว้ โดยเขาบอกว่า “Startup” คือบริษัทที่กำลังสับสนว่า 1) ผลิตภัณฑ์ของตนเองคืออะไร 2) ลูกค้าเป็นใคร และ 3) สามารถหารายได้ได้อย่างไร และทันทีที่บริษัทใดสามารถตอบคำถามได้ทั้ง 3 ข้ออย่างมีกำไร แล้ว บริษัทนั้นจะสิ้นสุดสภาพความเป็น “Startup” และกลายเป็น “ธุรกิจจริงๆ”
Startup ส่วนใหญ่นั้นเลือกที่จะสร้าง “ผู้ใช้” ก่อนที่จะหา “รายได้” เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และทรัพยากรในการที่จะ “หารายได้” ทีหลัง โดยมองว่าการหารายได้ในตอนแรก อาจะเป็นอุปสรรคในการเติบโต ในเมื่อเราอยู่ในสภาพที่ต่างบริษัทต่างมีความสามารถในการเข้าหาทุน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหารายได้ในตอนแรกหากมันหารายได้แล้วจะมีคู่แข่งมาชิงตัดหน้าด้วยการปล่อยสินค้าและบริการฟรี
ในแง่นี้เอง ที่ทำให้บริษัท SME บางราย อาจถูกผลกระทบจาก “Startup” ได้เต็มๆ
Startup = Community
แล้วทำไมถึงจะต้องแยกระหว่าง “Startup” กับ “SME”?
สำหรับผมแล้ว มันเป็นเรื่องของ “Community” หรือ “ชุมชน”
Startup นั้นมักไม่ได้ใช้เครื่องมือการเติบโตเดียวกับ SME จึงต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ และเครือข่ายที่แตกต่างไปจากธุรกิจเดิมๆ เมื่อเราเข้าสู่ชุมชน Startup ไม่ว่าจะเป็นจากการอ่านสื่อในต่างประเทศ หรือเข้าสู่ชุมชนในประเทศไทยผ่านกิจกรรมต่างๆที่จัดโดย Hubba หรือสมาคม Thailand Tech Startups Association แล้ว เราจะได้เจอภาษาและผู้คนที่มีวิธีคิดแตกต่างออกไป
การทำความเข้าใจว่า Startup คืออะไรนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันคือวิธีคิด ตัวตน
และเป้าหมายในการทำงานของธุรกิจของคุณนั่นเองครับ
ย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าธุรกิจ “Startup” นั้นคือธุรกิจที่ “โตเร็ว” แต่ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจ SME
นั้น “ไม่โต”
มีธุรกิจหลายๆธุรกิจ ที่สามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น “Startup” และคนหลายคนที่ไม่เหมาะที่จะประกอบธุรกิจแบบ “Startup” และสามารถเติบโตและใช้ชีวิคอย่างมีความสุขได้มากกว่าผู้ประกอบการ “Startup” ส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ
แต่สำหรับคนที่รู้ว่า “Startup” คือวิธีของคุณ
ยินดีต้อนรับเข้าสู่วงการและชุมชนแห่งนี้นะครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
@lertad
lertad@sellsuki.com