|||

การปฏิวัติข่าวสารจากยุค Google สู่ Facebook

จากการได้พูดคุยกับใครหลายคนในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ผมสังเกตได้อย่างชัดเจนคือพฤติกรรมการรับข่าวสารจากหัวข้อข่าวที่แชร์จากเพจ Facebook

และนั่นคือวิวัฒนาการธรรมชาติของการเสพข่าว อันเป็นสัญญาณอันตรายที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเหนือสิ่งอื่นใด หน้าที่ของ Newsfeed ของ Facebook คือดึงให้ผู้ใช้ได้เห็นและอ่านในสิ่งที่ตนเองอยากที่จะเชื่อ มากกว่าสิ่งที่อาจจะเป็นความจริงหรือเน้นเรื่องข่าวสารมากกว่าความคิดเห็น

สิ่งแรกที่คนในปัจจุบันจะทำเพื่อฆ่าเวลา ก็คือการเข้าแอป Facebook หรือ LINE เพื่อ “Browse” หรือ เลื่อนดู หาอะไรใหม่ๆที่น่าสนใจเสพในระบบ Feed ของ Facebook ไม่ว่าจะเป็นการติดตามเพื่อนฝูงว่าทำอะไรกันอยู่ รวมไปถึงข่าวพาดหัวที่คนชอบแชร์ที่เขียนออกมาให้เร้าอารมณ์และถูกเลือกโดยระบบว่าเราน่าจะสนใจ

เมื่อเวลาทั้งหมดถูกเทไปสู่การเสพข่าวสารที่ถูกป้อนมาให้เราโดยอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีเวลาที่คนจะต้องคอยเข้า Google เพื่อคลิกกล่องค้นหา คั้นสมองคิดว่าเราอยากรู้เรื่องอะไรแล้ว พิมพ์ข้อความในกล่องแล้วกด ค้นหา (Search) แล้วค่อยเลือกหาตัวเลือกเว็บไซท์อีกมากมายเพื่อหาสิ่งที่เราต้องการเจอกันหลายขั้นตอน

จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากจะกล่าวว่า ข่าวหน้าหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนจาก Google ไปเป็น Facebook เรียบร้อยแล้ว แถมยังมี Forward LINE” ที่เป็นข้อความที่แชร์ต่อๆกันไปผ่านแอปแชท LINE ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

จากยุค “Search” ของ Google สู่ยุค Browse” ของ Facebook

ระบบ Newsfeed อันเป็นหน้าหลักของ Facebook นี้ ได้กลายเป็นพื้นที่ทองคำอันใหม่ถัดมาจาก “ผลการค้นหา ใน Google เรียบร้อยแล้ว เพราะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่แล้วเริ่มต้นใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกก็ผ่านเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนี้แล้ว นั้นไม่ได้รู้จักว่าเว็บเบราเซอร์หรือการค้นหาใน Google คืออะไร รู้แต่ว่าเขาสามารถติดต่อคนรอบตัวได้จาก Facebook, LINE และดูละครจากแอป YouTube เท่านั้น

และแม้ตรรกะเบื้องหลังระบบการค้นหาของ Google นั้นจะถูกรักษาและปิดมิดชิดไม่แพ้ตรรกะเบื้องหลังระบบ Feed ของ Facebook ก็ตาม แต่ระบบการค้นหานั้นแรงจูงใจที่แตกต่างกันกับระบบ Feed อย่างสิ้นเชิง เพราะเป้าหมายของการค้นหาของ Google นั้น เป็นการแนะนำผลการค้นหาที่ใกล้เคียงสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุด แล้วให้ผู้ใช้เลือกเอาเองจากสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์มากที่สุด จากตัวเลือกที่หลากหลาย แล้วทำการกดคลิกออกจาก Google เข้าไปสู่เว็บไซท์ต่างๆเหล่านั้น ในขณะที่ระบบ Feed ของ Facebook นั้น มีแรงจูงใจที่จะให้คนเห็นข่าวเพียงแหล่งเดียว เพื่อไม่ต้องเสียเวลาคิด และเจอเฉพาะสิ่งที่สนับสนุนความคิดของตนเอง หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ผู้ใช้คอยใช้ Facebook ต่อไป

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือในโลกที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน รู้จัก Facebook ก่อน Google โลกของการ ค้นหา ของเขา ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นผ่านกล่องค้นหาของแอปที่เขาใช้อยู่แล้วอย่าง Facebook มากกว่าการเข้าเว็บเบราเซอร์หรือดาวน์โหลดแอป Google มาใช้ด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับการที่ YouTube ได้รับขนานนามว่าเป็นช่องทาง ค้นหา” ที่คนใช้เยอะสุดเป็นอันดับสองของโลก

แม้ว่าระบบที่ถูกปิดของ Facebook ทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่าระหว่างกล่อง ค้นหา” ของ Facebook กับ YouTube หรือแม้กระทั่ง Google นี้ ใครจะเป็นผู้นำในปัจจุบัน แต่เรารู้ได้ว่ากล่องค้นหาของ Facebook นั้น ก็ย่อมพยายามแนะนำข้อมูลข่าวสารหรือ Facebook Page ที่อยู่ในระบบของ Facebook อยู่แล้ว เหมือนกับการที่กล่องค้นหาของ YouTube เองก็แนะนำแต่วิดีโอที่มีอยู่ใน YouTube จนทำให้ระบบวิดิโอเว็บไซท์อื่นๆลำบากกันตามๆไป

นาย Sergey Brin หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google ได้เคยกล่าวหา Facebook ในเรื่องของความ “ปิด (Walled Garden) แต่ยอมรับว่าทาง Google เองก็คงไม่สามารถประสบความสำเร็จในเกมเดียวกับ Facebook ได้ เพราะว่า Facebook นั้นเล่นเกมของการปิดระบบของตนเองจากภายนอก ในขณะที่ระบบการค้นหาของ Google ที่อาศัยการไต่เว็บไซท์ทั่วโลกเพื่อทำให้คนค้นหาสิ่งที่ตนเองต้องการได้นั้น เกิดได้จากการเปิดกว้างของระบบนิเวศน์ของเว็บไซท์ (Open Web) ที่ช่วยกันผลักดันกันและกัน

You have to play by their rules, which are really restrictive. The kind of environment that we developed Google in, the reason that we were able to develop a search engine, is the web was so open. Once you get too many rules, that will stifle innovation.”

จาก Search Engine Optimization (SEO) สู่ Newsfeed Optimization

และเมื่อ ทำเลทอง ของจำนวนการใช้งาน (traffic) ของอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนจาก “ผลการค้นหา (Search Results) ของ Google ไปเป็น โพสท์ ของ Facebook ใน Newsfeed แล้ว เหล่านักการตลาดออนไลน์ก็ได้เทความสนใจจากการปรับโครงสร้างเว็บไซท์เพื่อให้ง่ายต่อการไต่อันดับในผลการค้นหา (Search Engine Optimization) ที่อาศัยวิชาทางเทคนิคและการเขียนโปรแกรมมากมาย มาสู่การสร้างเนื้อหา (Content) ที่จะสามารถติดอันดับ Feed ของผู้ใช้งาน Facebook ให้ได้จำนวนมากที่สุด (Newsfeed Optimization) ซึ่งอาศัยเพียงการเขียนข่าวและใช้รูปภาพที่ดึงดูด โดยนักเขียนและนักออกแบบที่มีอยู่มากมายและราคาถูกกว่าโปรแกรมเมอร์ โดยเนื้อหาเหล่านี้มักจะถูกแชร์ผ่าน Facebook Page” ที่เป็นเหมือนเว็บไซท์ส่วนตัวภายในระบบนิเวศน์ของ Facebook ที่สามารถสร้างได้ง่ายยิ่งกว่าระบบเว็บไซท์อัตโนมัติใดๆที่มีอยู่ในตอนนี้

และไม่ว่าแรงจูงใจของเจ้าของ เพจ ต่างๆจะเริ่มต้นด้วยสิ่งใดก็ตาม แต่สุดท้ายจำนวนคนที่มากดไลค์ คอมเม้นท์ และกดแชร์ ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนทำเพจ เพราะมันเป็นเหมือนรางวัลที่จับต้องได้ว่าสิ่งที่ตนเองทำไปมี คุณค่า อยู่แค่ไหน

ดังนั้นการหา เนื้อหา ที่กระตุ้นอารมณ์คน ให้อยากเม้นท์อยากแชร์ รวมถึงการพาดหัวข่าวให้เอนซ้ายหรือเอนขวา ย่อมเป็นวิวัฒนาการธรรมชาติของการแพร่หลายข่าวสาร โดยไม่ต้องสนใจว่าข่าวนั้นจะเป็นจริงหรือเท็จก็ตาม

เพราะความเป็นกลาง ไม่เคยทำเกิดกระแส และการอ่านโดยคิดไตร่ตรอง ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการแสกน feed โซเชียลที่ปกติแล้วจะทำกันในยามเบื่อ ไม่มีอะไรทำ

และสิ่งที่น่ากลัวที่ตามมาก็คือ หัวข้อข่าวที่ถูกพาดเหล่านั้น มักเป็นสิ่งเดียวที่คนอ่านและกระตุ้นให้เกิดการแชร์ต่อๆกัน

ความรับผิดชอบของเจ้าของ Social Network

หลังจากจบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอเมริกาที่ผ่านมา มีข่าวว่าทางผู้บริหารของ Facebook เองได้เริ่มมีการพูดคุยกันถามตัวเองว่าทาง Facebook มีบทบาทอย่างไรต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการแพร่หลายข่าวเท็จใน feed ของผู้ใช้แต่ละคน

หลักการทำงานของ feed คือการแสดง content ที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใช้นั้นจะสนใจอยากอ่าน และแน่นอนว่าคนเราทุกคนอยากเห็นแต่สิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่อ เพราะมันใช้แรงน้อยกว่าการที่จะคอยทำความเข้าใจความเห็นต่างของอีกฝ่าย

เพราะถึงแม้ว่าการแก้ข่าวต่างๆจะมีตามมา แต่เรื่องราวเหล่านั้นก็หลุดกระแสไปเสียแล้ว และยากที่จะเข้าถึงคนทุกคนที่ได้เชื่อในสิ่งเร้าอารมณ์ที่ได้ผ่านไป เพราะจะมีสักกี่คนที่อยากจะแชร์ว่าตนเองผิด และต่อให้เห็นว่าข่าวสารผิด อารมณ์ที่ได้เกิดขึ้นมันก็ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดไปเสียบเรียบร้อยแล้ว

ทาง Mark Zuckerberg เอง ก็ได้มีการโพสท์แถลงการณ์ถึงอิทธิพลของ Facebook ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯอเมริกา โดยปฏิเสธว่าบริษัทของตน จะมีอิทธิพลมากในระดับที่เลือกผลการเลือกตั้งได้ พร้อมทั้งกล่าวว่าสิ่งที่ถูกแชร์ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่เนื้อหาที่ถูกพาดหัวหรือเขียนข่าวเกินจริง

แต่ก็กลายเป็นเรื่องตลก ที่ประชาชนชาวอเมริกันที่อ่านโพสท์นั้น ก็มักจะเห็นโฆษณาจากแหล่งข่าวปลอมพาดอยู่ข้างๆต่อหน้า จากเว็บไซท์ที่เน้นการสร้างข่าวปลอมเพื่อดึงคนให้เข้ามาในเว็บไซท์ของตนเอง ที่มีจุดประสงค์ในการสร้างรายได้จากระบบโฆษณาที่วัดผลลัพธ์จากจำนวนคนที่เห็น อย่างข่าวปลอมว่า Tiger Woods นักกอล์ฟชื่อดังได้เสียชีวิตไปแล้ว หรือการที่นาย Donald Trump ถูกไล่ออกด้วยเหตุผลทางเทคนิค พร้อมโลโก้ข่าว CNN ทั้งที่เว็บปลายทางไม่ใช่เว็บของ CNN จริง

การเสพข่าว เพื่อความบันเทิง

จริงๆแล้ว มีการวิเคราะห์กันว่าเราเสพข่าวเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เพื่อการศึกษา

และการที่ช่องทางข่าวสารต้องหารายได้จากค่าโฆษณา ที่เยอะน้อยตามจำนวนผู้คนที่จะเห็นโฆษณานั้น ก็แปลว่าผู้กระจายข่าวสาร จะต้องคอยสร้างความบันเทิงให้กับผู้เสพมากขึ้นอยู่เรื่อยไป

นั่นคือเหตุผลที่เราเห็นช่องข่าว 24 ชม. ที่คอยติดตามทุกรายละเอียดให้มีอะไรเล่า รวมถึงการสร้างข่าวในช่วงที่เงียบเหงาไม่มีอะไรรายงาน รวมถึงการมีสำนักข่าวที่แบ่งค่ายชัดเจน ที่แม้คนอ่านจะบอกว่าอ่านเอาข่าวสารตามเนื้อผ้า แต่เราก็เห็นได้ว่าข่าวเดียวกันสามารถถูกพาดหัวข่าวและสรุปให้ต่างกันได้ด้วยถ้อยคำความคิดเห็นได้อย่างไม่ยากเย็น

ในยุคของ Social Network ที่ influencer จะเป็นใครก็ได้ โดยไม่ต้องให้ใครรู้ตัวตน การเลือกหัวข้อข่าวจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกิดจากข้อเท็จจริงหรือไม่ ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่

การพูดจาให้หนักแน่น เร้าอารมณ์ และสอดคล้องกับขั้วความเชื่อของสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเราอยากได้ยิน คือสูตรสำเร็จในการสร้างผู้ติดตามที่เหนียวแน่นในยุคของความสดและความเร็ว

เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่จะต้องคอยติดตามกันว่าจะมีวิวัฒนาการในการผลิตและเสพข่าวในยุคที่ผู้มีอิทธิพลต่อความคิดถูกรวมไว้อยู่เพียงไม่กี่รายไปอย่างไร

แต่ส่วนตัวแล้ว ช่วงหลังรู้สึกโชคดีที่ ตกข่าว อะไรไปหลายอย่าง

และได้ค้นพบว่า ข่าว ส่วนใหญ่นั้น ไม่จำเป็นต้องรู้ทันที

–-

เลอทัด ศุภดิลก

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด

www.sellsuki.co.th

Up next Status Seekers เมื่อผู้บริโภคต้องการ “สถานะ” มากยิ่งกว่า “การแก้ปัญหา” Fast Growing Silicon Valley Startups 2017 - เทรนด์ Startup จาก Silicon Valley ที่จะมาแรงในปี 2017
Latest posts GDPR คืออะไร และส่งผลกระทบอะไรต่อธุรกิจ “Fintech” คืออะไร? ตอนที่ 1 - M-Pesa ตัวอย่างความสำเร็จของระบบการเงินดิจิตอล The New Disuptive Technologies: 2018 & Beyond การปรับกลยุทธ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งใหม่ของ Facebook Startup Tech Trends 2018 - เมื่อเทรนด์ 2017 จะแพร่หลายในปี 2018 “HQ Trivia” - The Future of TV เกมฮิตใหม่ที่อาจเป็นตัวอย่างของรายการทีวีในอนาคต Facebook Ads vs. Google Ads การต่อสู้ระหว่าง “Search” กับ “Discovery” Just Jack - Annabel’s Dilemma Bitcoin คืออะไร และทำไมมันถึงได้รับความสนใจ วิธีเริ่มต้นแบบเล็กๆของเหล่า Startup Unicorn มูลค่าพันล้าน The Fundamentals of AI - Machine Learning, Neural Network, Deep Learning - พื้นฐานแนวคิดของ “AI” ในยุคปัจจุบัน The WeChat Economy - มองเทรนด์ “Tech Startup” อนาคต จากการใช้ “WeChat” ในประเทศจีน การพลิกโฉม ”วิธีการซื้อ″ ด้วยนวัตกรรมจาก Amazon - How Amazon is Re-inventing How We Buy AliPay - เครื่องมือครองโลกของ Jack Ma ที่คุณอาจคาดไม่ถึง - Jack Ma’s Strategy to Conquer the World ทิศทางการเติบโตของ ”ห้างออนไลน์″ ในประเทศไทย - The Future of Marketplaces in Thailand Digital Transformation : จากการบริโภค Product สู่ Service Fast Growing Silicon Valley Startups 2017 - เทรนด์ Startup จาก Silicon Valley ที่จะมาแรงในปี 2017 การปฏิวัติข่าวสารจากยุค Google สู่ Facebook Status Seekers เมื่อผู้บริโภคต้องการ “สถานะ” มากยิ่งกว่า “การแก้ปัญหา” The Different Types of Conversational Commerce Online to Offline 31 The Future of Apps Pirate Metrics for Startups (AARRR) The Rise of Chat Bots E-commerce Delivery in Thailand Conversational Commerce Solar Energy Startups Facebook Thailand Startup = การเติบโตที่รวดเร็ว (Growth) Startup Investment The Future of Messaging