Solar Energy Startups กำเนิดกลุ่มธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์
นับตั้งแต่ยุคของภาพยนตร์ “An Inconvenient Truth” ของนาย Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มายังยุคของรถพลังงานไฟฟ้า “Tesla” ของนาย Elon Musk ที่ได้รับความนิยมและใช้อย่างแพร่หลายจนผลิตไม่ทัน พร้อมทั้งได้รับรางวัล “Car of The Year” 2 ปีซ้อนจากนิตยสาระสำคัญอย่าง Consumer Reports โดยชนะคู่แข่งอย่าง โตโยต้า ฮอนด้า และผู้ผลิตรถยนต์ที่เราคุ้นเคยรายอื่นๆทั้งหมด มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบันที่ราคาน้ำมันต่อบาร์เรลร่วงจนมีราคาถูกกว่าถัง(บาร์เรล) ที่มันได้ถูกบรรจุไว้เสียอีก จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้เริ่มตระหนักถึง
ความเสี่ยงและความอันตรายในการพึ่งพาอาศัยน้ำมันให้เป็นแหล่งพลังงานหลักเพียงแหล่งเดียวของมนุษย์ต่อไปในอนาคต ทั้งในเรื่องของการหมดไปของพลังงานนี้ และมลพิษต่อสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในการใช้น้ำมันและถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานเหมือนที่ผ่านมาอีกด้วย
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราจึงได้เห็นการลงทุนในการวิจัย พัฒนา และการค้าขาย “พลังงานทดแทน” จากทั้งภาครัฐและเอกชนในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะประเทศเยอรมัน เดนมาร์ค และสเปน ที่เป็นผู้นำในการวางนโยบายสนับสนุนการพัฒนา “พลังงานทดแทน” ต่างๆมาใช้จริง โดยประเทศเยอรมันได้ตั้งคณะกรรมการในการวางแนวทางให้ประเทศตนสามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทนให้ได้ 100% และทางประเทศเดนมาร์คเองก็ได้ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะเปลี่ยนแหล่งพลังงานในประเทศจากพลังงานน้ำมัน มาเป็นพลังงานทดแทนให้ได้ภายในปี คศ. 2050
ทางด้านสหรัฐฯอเมริกาเองก็มีการเติบโตของอุตสาหกรรม “พลังงานทดแทน” โดยนอกจากจะมีแรงขับเคลื่อนใหญ่จากทางรัฐบาลที่มีการลดหย่อนภาษีธุรกิจมากถึง 30% แล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นคือกลุ่มนักลงทุนและ “สตาร์ทอัพ” ที่นอกจากจะลงทุนและพัฒนา “พลังงานทดแทน” แล้ว ยังสร้าง “ธุรกิจ” และองค์ประกอบอื่นๆที่จะต้องมีเพื่อให้เกิดเป็น “อุตสาหกรรม” พลังงานทดแทนอย่างแท้จริง และจะเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพที่ผมยกมาในครั้งนี้ ไม่ใช่กลุ่มบริษัทที่ผลิตพลังงานเป็นหลัก แต่กลับเป็นบริษัทที่มีมีองค์ประกอบหลักคือ “ซอฟท์แวร์” ที่ทำหน้าที่ในการจัดการ จัดจำหน่าย ขาย และบริการพลังงานแสงอาทิตย์ให้สามารถเข้าไปสู่การใช้งานโดยผู้บริโภค เอกชน และภาครัฐฯได้อย่างแท้จริง
โดยในครั้งนี้ ผมอยากจะขอหยิบ Startup เฉพาะกลุ่ม “พลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “Solar Energy” มาพูดถึงเป็นพิเศษ เพราะมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ โดยในปัจจุบันได้มีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือ “Solar Panel” รวมกันแล้วกว่า 20 กิกะวัตต์ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถให้พลังงานขับเคลื่อนบ้านได้กว่า 4.6 ล้านหลัง และมีอัตราการเติบโตในกลุ่มบ้านพักอาศัยเป็นพิเศษในอัตรา 70% ภายในช่วงไตรมาศที่สามของปี คศ.2015 พร้อมกับการลดลงของราคาแผงเซลล์ในระดับประมาณ 10% ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
Mosaic จัดหาเงินทุนให้คุณเริ่มติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ทันที
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่น่าสนใจนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องของการที่แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมด (Renewable) และการเป็นพลังงานที่ “สะอาด” (Clean) แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงานที่ถูกกว่าราคาที่เราจะต้องซื้อจากโรงงานไฟฟ้าตามปกติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่จะเริ่มต้นประหยัดทั้งพลังงานและค่าใช้จ่ายพลังงานนั้น ต้องอาศัยการลงทุนติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายมากถึงประมาณ 5-6 แสนบาท ซึ่งแม้ว่าราคาในส่วนของการติดตั้งนี้ได้มีการลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่มันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอยู่ดี
บริษัท Mosaic จึงถูกก่อตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ “ปล่อยกู้” ให้ครัวเรือนที่สนใจการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยไม่เก็บเงินค่าดาวน์ ไม่มีการปรับดอกเบี้ยรายปี พร้อมทั้งประเมิณและติดต่อผู้ให้บริการติดตั้งระบบวงจรพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดให้ลูกค้าในทันที เป็นการตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายในขั้นแรก และสนับสนุนให้ผู้พักอาศัยนำเงินที่ได้จากการประหยัดพลังงานมาผ่อนจ่ายให้กับ Mosaic จนหมดภาระทั้งหมดแทน โดยเฉลี่ยแล้ว Mosaic จะทำการแบ่งงวดจ่ายเป็นระยะเวลา 20 ปี และทำให้ผู้ใช้บริการประหยัดค่าใช้จ่ายรวมแล้วกว่า $67,000 เหรียญสหรัฐฯจากค่าใช้จ่ายพลังงานที่ลดลง โดยหักค่าติดตั้งและดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับ Mosaic แล้วด้วย
Gridmates ช่วยเหลือคนอื่น ผ่านการ “บริจาค” พลังงานเหลือใช้
จริงๆแล้วหนึ่งในปัญหาใหญ่ของกลุ่มพลังงานทดแทนในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องของการผลิตพลังงาน แต่เป็นเรื่องของการกักเก็บพลังงานเพื่อนำมาใช้ตอนที่ต้องการ อย่างในกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์ หากเรานำแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาติดตั้งไว้ที่บ้าน พลังงานแสงอาทิตย์ที่เราได้รับนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะสังเคราะห์ได้ในช่วงที่เราไม่ได้อาศัยอยู่ใน้บ้าน จึงต้องอาศัยแบตเตอร์รี่ที่มีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถกักเก็บพลังงานที่เหลือไว้ให้ได้ และหมายความว่าหากเราใช้พลังงานไม่หมดในวันถัดไป ย่อมมีโอกาสที่จะมีพลังงานเหลือเกินกว่าหมดสิ้นไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้พลังงานสูญหายไป จึงเกิดพฤติกรรมการขายพลังงานให้กับผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าแทน เป็นการ “สร้างตลาด” ให้กับพลังงานเหลือใช้เหล่านั้น ด้วยการแปลงจำนวนพลังงานที่มีอยู่เป็น “วัตต์” ให้กลายเป็นมูลค่าเป็นตัวเลขว่า “ราคาเท่าไหร่” ซึ่งพฤติกรรมนี้ก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วด้วย
แต่สำหรับบริษัท “Gridmates” นี้ แทนที่จะช่วยเรื่องของการจัดจำหน่ายและขายพลังงานแบบทั่วๆไป กลับเลือกที่จะเจาะตลาดที่ต่างออกไป ด้วยการสร้างแอพพลิเคชันที่เปิดโอกาสให้ผู้มีพลังงานแสงอาทิตย์เหลือใช้สามารถ “บริจาค” มูลค่าที่ได้จากโอกาสในการขายพลังงานนี้ ให้กับคนอื่น ที่อาจไม่ได้มีความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ตนเองใช้อยู่แทน หรือพูดง่ายๆก็คือการเอากำไรของตนเองไป “จ่ายค่าไฟ” แทนคนอื่นนั่นเอง โดย Gridmates จะมีรายได้จากการแบ่งกำไรจากหน่วยงานภาครัฐที่ทุกวันนี้มีสถิติขาดทุนเงินจำนวน 1 หมื่นล้านเรียญสหรัฐฯจากการที่มีผู้ไม่ยอมหรือไม่สามารถจ่ายค่าไฟฟ้าของตนเองได้ในแต่ละปี
Solar Site Design ลดกระบวนการและเวลาในการประเมิณ เสนอราคา และติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์
อีกหนึ่งปัญหาของการเริ่มติดตั้งและใช้งานพลังงานแผงเซลล์แสงอาทิตยืก็คือกระบวนการขายที่แพงและใช้เวลา เพราะจะต้องทำการสำรวจสถานที่ ออกแบบ และประเมิณค่าใช้จ่าย ก่อนที่ผู้ซื้อจะตกลงชำระเงินเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นอุปสรรคในการสนับสนุนให้เกิด “ผู้ขาย” ในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
Solar Site Design จึงถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแอพพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้ที่ เป็น “ฝ่ายขาย” สามารถออกแบบและประเมิณค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และระบบวงจรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในสถานที่ที่ตรวจสอบ โดยทำหน้าที่ในการเป็นเครื่องมือในการถ่ายรูป วัด ระบุสถานที่ และจัดจำหน่ายระบบวงจรที่จะต้องมีไปยังผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อรับการเสนอราคา แล้วนำราคารวมทั้งหมดนี้ไปเสนอให้กับผู้ซื้ออีกที
เมื่อผู้ซื้อตอบตกลงแล้ว ระบบวงจรทั้งหมดก็จะได้รับการส่งไปยังบริษัทติดตั้ง วิศวกร และผู้อื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้สามารถมีแผนเบื้องต้นในการปฏิบัติงานได้ทันที
Utility API เปิดประวัติข้อมูลการใช้พลังงาน ให้เข้าถึงง่าย และทันที
จากที่กล่าวมาข้างต้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยมก็คือราคาต่อหน่วยพลังงานที่ถูกลงมาเมื่อเทียบกับการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งเดิมๆ ดังนั้น หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการประเมิณว่า ตนเองจะสามารถ “ประหยัดได้เท่าไหร่”
อย่างไรก็ตาม การขอปริมาณหน่วยพลังงานที่ใช้ไปและค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าของตนเองอย่างละเอียดย้อนหลังเป็นจำนวนเดือนที่เยอะพอที่จะนำมาใช้ประเมิณกลับเป็นกระบวนการที่ใช้ทั้งแรงและเวลานานมาก แอพ “UtilityAPI” จึงทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถรับสิทธิเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ในทันทีผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือ โดยผู้ใช้สามารถให้อนุญาตทีมขายหรือผู้ให้บริการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาประเมิณค่าใช้จ่ายที่จะสามารถประหยัดได้หลังจากที่ติดตั้งแผงเซลพลังงานแสงอาทิตย์ได้โดยตรงอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อข้อมูลการใช้พลังงานสามารถถูกดึงออกมาได้แล้ว การสร้างกราฟสถิติ วิเคราะห์ และปรับใช้การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ว่า UtilityAPI จะเลือกที่จะทำเอง หรือเปิดให้บริษัทอื่นๆเข้ามาเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ก็ตาม
จะเห็นได้ว่า แม้อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็เติบโตพอที่เราจะเริ่มเห็นธุรกิจ “Startup” ที่ให้บริการนอกเหนือจากแค่การ “ผลิต” พลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทที่ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เป็นบริษัท “IT” ทั้งหมด มีหน้าที่ในการทำให้กระบวนการประเมิณราคา ขาย และติดตั้งง่ายขึ้น ลดอุปสรรคในการติดตั้งแผงและวงจรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ให้ง่ายที่สุด พร้อมทั้งการตั้งราคาในการซื้อขายที่โปร่งใสและเป็นบรรทัดฐานสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต
อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือบริษัทเหล่านี้เลือกที่จะเริ่มดำเนินการเลยโดยไม่ต้องรอให้นโยบายรัฐบาลสนับสนุน และไม่พึ่งกฎหมายหรือนโยบายในการอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมอย่างการที่บริษัทเอกชนสามารถผลิตและจำหน่ายพลังงานให้กับบริษัทเอกชนอื่นๆโดยที่ตนเองไม่ใช่หน่วยงานของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นเพียงแค่หนึ่งในพลังงานทดแทนที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในตอนนี้ จนคงจะไม่เป็นเรื่องเกินจริงหากเราจะคาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีนี้ เราจะมีการใช้แหล่งพลังงานอื่นนอกจากน้ำมันและถ่านหินเป็นหนึ่งในพลังงานสำคัญก็ได้ครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
กรรมการบริหาร บริษัท ฟลายอิ้ง คอมม่า จำกัด
www.lertad.com