ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า “การค้าขายออนไลน์” หรือ “อีคอมเมิร์ซ” คือช่องทางใหญ่ในการเติบโตของการค้าปลีกในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ด้วยมูลค่าตลาดค้าปลีกที่สูงกว่า 3,000 ล้านบาท แต่กลับประกอบไปด้วยการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์เพียง 0.2% (ข้อมูลจากปี พศ. 2555) เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มักมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10% จึงเป็นตัวเลขชี้ชัดว่าตลาดนี้จะ “โตแน่” และ โตอย่าง “มหาศาล”
ข้อมูลจาก The Wall Street Journal และ UBS
ในปัจจุบัน จึงมีผู้เล่นกระโดดเข้าสนามลงมาจับตลาดร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่ม “บริการขนส่งสินค้า” หรือ “Logistics” ที่เป็นหนึ่งในหัวใจหลักในการให้บริการการค้าขายออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับร้านออนไลน์หลายๆที่ “การส่งสินค้า” นี้ไม่ใช่เพียงสิ่งจำเป็น แต่เป็นกลยุทธ์ในการเอาชนะคู่แข่งหรือมัดใจลูกค้าเดิมอีกด้วย ด้วยบริการจัดส่งสินค้าที่ได้คุณภาพ ส่งเร็ว ราคาไม่แพง และสินค้าถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย ช่วยให้เจ้าของร้าน แข่งกันด้วย “บริการหลังการขาย” ที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจที่สุด
พอพูดถึงการส่งสินค้า หรือส่งพัสดุ ภาพแรกที่แว้บเข้ามาในหัวใครหลายๆคน นั่นก็คือภาพของพ่อหนุ่มหมวกกันน็อคแดง-เสื้อคลุมสีแดง คอยขับมอเตอร์ไซค์ส่งของไปตามบ้านจาก “ไปรษณีย์ไทย” แน่ๆ แต่ทุกวันนี้ มีธุรกิจเกิดใหม่ ทั้งจากบริษัทใหญ่เดิมที่สร้างหน่วยงานสำหรับการบริการลูกค้าอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ หรือบริษัทที่กำเนิดใหม่ขึ้นมาเลยที่เข้ามานำเสนอวิธีการส่งของและเก็บชำระเงินจากร้านค้าไปยังมือผู้ซื้อได้ในวิธีที่แตกต่างกันไปมากมาย
ในครั้งนี้ จึงอยากถือโอกาสพูดถึงวิธีการส่งของต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันดังนี้ครับ
สำหรับคนที่ไม่ได้ทำการค้าขาย อาจไม่ทราบว่าบริษัททัวร์เป็นตัวเลือกแรกๆ ของคนที่อยากจะส่งพัสดุขนาดใหญ่ๆไปต่างจังหวัด เนื่องจากมีราคาถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด สมมุติเราอยากจะส่งของที่มีขนาดกล่องใหญ่ เช่น ตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ ส่งเสื้อผ้าเป็นกระสอบ ฯลฯ ถ้าส่งกับไปรษณีย์ไทยจะต้องเสียค่าจัดส่งหลายร้อยบาท แต่ถ้าฝากของกับบริษัททัวร์อาจจะเสียแค่ 60-100 ต้นๆ เท่านั้นเอง
รูปภาพจากสมบัติทัวร์
ส่วนวิธีการส่ง-รับของกับบริษัททัวร์ ก็จะแตกต่างกับการส่งของด้วยไปรษณีย์ไทย เพราะเรามีหน้าที่เอาของไปวางไว้ที่ศูนย์บริการรถทัวร์ หรือสถานีขนส่ง ที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จากนั้นก็ทำการห่อพัสดุเพื่อป้องกันความเสียหาย แล้วบอกพนักงานว่าจะส่งของไปที่จังหวัดไหน แล้วภายใน 1-2 วัน ของ/สินค้า/พัสดุ ที่เราฝากส่งก็จะเดินทางถึงจังหวัดปลายทางชนิดที่ว่าเร็วกว่าส่งด้วย EMS ธรรมดาเลยด้วยซ้ำ ในส่วนของผู้รับของ จะต้องมารับของเองที่ศูนย์บริการของบริษัททัวร์ หรือสถานีขนส่งในจังหวัดนั้นๆ ด้วยตัวเอง หรือถ้ามาไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันตัวตน มารับของที่สถานี
ในปัจจุบัน บริษัทรถทัวร์ที่มีบริการนี้ ได้แก่ นครชัยแอร์ บขส. และ สมบัติทัวร์ แต่ละบริษัทก็มีเงื่อนไข และราคาที่แตกต่างกัน แต่เงื่อนไขการส่งของ-รับของ เหมือนกันตามที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ
ส่งของกับบริษัทขนส่งที่สนับสนุนด้าน E-Commerce โดยตรง (E-Commerce Fulfillment)
รูปภาพจาก Kerry Express
บริษัทที่อยู่ในกลุ่มนี้ คือกลุ่มบริษัทที่ตั้งตนขึ้นมาเพื่อบริการรองรับคนค้าขายออนไลน์โดยเฉพาะ มีการนำเสนอบริการที่มากกว่าบริการขนส่งสินค้าตามปกติที่บริษัทขนส่งเอกชนมี เช่น
บริการเก็บเงินปลายทาง จ่ายเงินค่าสินค้าตอนได้รับของ-ไม่ต้องโอนมาก่อน ซึ่งเป็นบริการที่เป็นเคล็ดลับการเติบโตของร้านค้าออนไลน์จำนวนมาก จนเรียกได้ว่าหากร้านใดเปิดรับการเก็บเงินปลายทาง บริการนี้จะเติบโตจนกลายเป็นวิธีชำระ 60% ของรายการขายทั้งหมด เพราะผู้ซื้อมีความไว้วางใจในการซื้อสินค้าเป็นอย่างมาก แต่ต้องระวังเรื่องอัตราการคืนสินค้า ที่มักสูงถึง 10-20% ตามๆกันมาเช่นเดียวกัน
บริการสต็อกของ/บริการ Warehouse บริการจัดเก็บสินค้า ที่ทำให้ร้านค้าสามารถขายของได้โดยไม่ต้องแตะสินค้า สามารถสั่งแหล่งสินค้าให้นำส่งไปยังคลังสินค้าหรือที่เรียกกันว่า Warehouse ได้เลย โดยผู้ให้บริการจะทำการจัดวางสินค้าให้ พร้อมนำหยิบมาใส่กล่องเมื่อถึงเวลาที่สินค้าขายได้แล้ว โดยมักจะคิดเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าหยิบ และค่าแพ็คของ
บริการ Door-to-Door บริการส่งของโดยให้ร้านค้าอยู่เฉยๆที่บ้าน แล้วจะมีพนักงานมารับของที่บ้าน แล้วนำไปส่งให้ที่บ้านลูกค้า เป็นการประหยัดค่าคลังสินค้า และเวลาที่ใช้ในการยกของไปยังศูนย์ให้บริการ
รูปภาพจาก dpx Ecommerce
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ E-commerce Fullfillment แบบนี้เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น Kerry Express รับของจากหน้าบ้านไปส่งให้ (Door-to-Door) เก็บเงินปลายทาง (COD) ส่งต่างประเทศ, aCommerce รับของจากหน้าบ้านไปส่งให้ (Door-to-Door) เก็บเงินปลายทาง (COD) ส่งต่างประเทศ บริการ Warehouse ขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค, Siamoutlet ช่วยจัดเก็บสินค้า (Warehousing) แพ็คของให้ด้วย (Packing) ส่งของ Shipping พร้อมให้บริการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดผ่าน LINE Group, dpx Ecommerce ช่วยจัดเก็บสินค้า (Warehousing) แพ็คของให้ด้วย (Packing) ส่งของ Shipping และยังมีบริการนำเข้าและเคลียร์สินค้าจากต่างประเทศให้ด้วย, MYCLOUD ช่วยจัดเก็บสินค้า (Warehousing) แพ็คของให้ด้วย (Packing) ส่งของ Shipping และยังมีบริการปลีกย่อยอื่นๆที่เหมาะกับเจ้าของธุรกิจ อาทิ บริการรับสินค้าจาก Supplier บริการ QC ของแทนเรา ฯลฯ
รูปภาพจาก techsauce.co
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ให้บริการที่เน้นการรับส่งของ ไม่เน้นคลังสินค้า เช่น Alphafast ที่ให้บริการความคล่องตัวในการส่งของและเอกสารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และยังมีบริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ในราคาที่ถูก, นิ่มเอ็กเพรส (Nim Express) เครือข่ายขนส่งใหญ่รองจากไปรษณีย์ไทย นอกจากส่งของแล้วยังมีบริการ Warehouse ที่เป็นห้องเย็นเก็บของสด ด้วย หรือกลุ่มของ Sendit และ lalamove ที่ให้บริการส่งของและเอกสารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีบริการด่วน ส่งของด่วนถึงที่ภายใน 3 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง แต่คิดราคาตามระยะทาง
นอกจากการส่งของในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย ยังมีบริการอื่นๆที่ช่วยส่งของให้ถึงที่หมายที่น่าสนใจ เช่น ม้าขาว รับ-ส่ง พัสดุขนาดเล็กที่ 7-11 (เซเว่น อีเลเว่น) ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งสามารถรับชำระเงินผ่านแคชเชียร์ของร้านค้าได้อีกด้วย และ ATT Skybox บริการรับฝากของตามสถานี BTS ต่างๆ
เป็นที่น่าสนใจ ว่าบริการเหล่านี้จะมีการพัฒนากันไปในทิศทางไหน จะมีรายใดเติบโตจนสามารถเอาชนะเจ้าตลาดในปัจจุบัน หรือได้รับบริการมากกว่าไปรษณีย์ไทยหรือไม่ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การที่มีผู้ให้บริการแข่งขันกันเยอะเช่นนี้ ผู้ชนำคงหนีไม่พ้น “ผู้บริโภค” ทั้งร้านค้าและผู้ซื้อครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กัญสพัฒน์ อัศวรุจานนท์
www.lertad.com