ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าจีนคือผู้นำทางด้านการค้าขายออนไลน์อย่างแท้จริง ด้วย ประชากรจำนวน 1.35 พันล้านคน และมูลค่าตลาดการค้าขายออนไลน์กว่า 20 ล้านล้านบาท ที่ประกอบไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่ที่ได้ความร่วมมือสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างกลุ่มบริษัท “Alibaba”, “Aliexpress”, “Taobao”, และ “Tmall” ของนาย “แจ็ค หม่า” ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยมูลค่าที่สูงกว่าบริษัทอีคอมเมิร์ซชื่อดังฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่าง “Amazon” พร้อมการขยายสู่ภูมิภาคด้วยการเปิดให้บริการและการลงทุนในบริษัท “Tech Startup” ต่างๆ เพื่อวางกลยุทธ์ในการเป็นผู้นำทางด้านการค้าขายและการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกของทั้งกลุ่ม Alibaba และทางประเทศจีนเอง
ด้วยความเป็นอันดับหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้เอง ที่ทำให้การขยับตัวครั้งล่าสุดของกลุ่มบริษัท Alibabaสร้างความฮือฮาให้กับวงการค้าขาย เมื่อ Alibaba แถงข่าวประกาศการลงทุนในตลาด “Online to Offline” อย่างเต็มตัวในปีที่ผ่านมา รวมมูลค่าแล้วกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
จากการรวบรวมผลสำรวจในงาน ecommerceIQ ที่ร่วมจัดโดยบริษัท aCommerce และ Google พบว่าในปัจจุบัน มูลค่าตลาดการซื้อขายออนไลน์ในประเทศไทยยังอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว นับว่ายังอยู่ในกลุ่มเริ่มต้นอยู่ ต่างกับประเทศจีนที่เติบโตไปที่ 9% หรือสหรัฐอเมริกาที่โตไปถึง 10-11% แล้ว
ที่มาของข้อมูล: งาน ecommerceIQ รวบรวมมาจาก Euromonitor, Planet Retail, eMarketer, iResearch, Technavio, และวิเคราะห์โดย A.T.Kearney
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาจจะถูกเรียกว่ามีอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาแล้ว แต่ตัวเลข 9-12% ก็หมายความว่ามีมูลค่าอีกกว่า 90% ที่ยังเป็นการซื้อขายในโลก “ออฟไลน์” หรือหน้าร้านกายภาพอยู่ ซึ่งอาจจะนับเป็นเรื่องแปลก เมื่อเราคำนึงว่าเราใช้เวลาผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและการใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นจนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 3-4 ชั่วโมงไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสองตัวเลขนี้ จึงเป็นการบ่งบอกว่าโอกาสที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะสูงขึ้นนั้นยังมีอยู่มาก รวมไปถึงโอกาสที่ร้านออฟไลน์จะใช้ประโยชน์จากการที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น เพื่อดึงจำนวนคนให้มาใช้จ่ายในร้านค้าตัวเองมากขึ้นเช่นกัน
“Online to Offline” ในที่นี้ จึงหมายถึงเทคโนโลยีที่ทำให้ร้านค้าปลีกสามารถเข้าถึงตลาดของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตกันอยู่ในสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะเป็นเครื่องมือการโฆษณาออนไลน์ หรือแม้กระทั่งบริการที่ทำให้ร้านค้าออฟไลน์ สามารถขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั่นเอง
Ele.Me เป็นหนึ่งในตัวอย่างของบริษัทที่ Alibaba ได้ทำการลงทุนไปด้วยมูลค่าเงินกว่า $1.26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Ele.Me เป็นบริษัทส่งอาหารที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้และเคยได้รับการลงทุนจากบริษัท Tencent คู่แข่งของ Alibaba ไปแล้วอีกด้วย
ดังนั้น สิ่งที่ Alibaba จะได้จากการลงทุนครั้งนี้คือการเพิ่มความเข็มแข็งในการเป็นผู้ให้บริการการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการวางตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งที่พร้อมที่จะซื้อบริษัทนี้ในอนาคตเมื่อมันมีการเติบโตถึงขั้นที่สมควร พร้อมทั้งโอกาสในการร่วมให้บริการกับบริษัทอื่นๆในเครือของ Alibaba อย่าง Koubei ที่ให้บริการโปรโมชันสำหรับร้านอาหารต่างๆที่สนใจเข้าร่วม และ Alipay บริการการรับชำระเงินที่เป็นที่นิยมอันดับหนึ่งในประเทศจีน
Alipay นับเป็นเครื่องมือสร้างกำไรสำคัญของ Alibaba ด้วบริการการรับชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ที่นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินอันดับหนึ่งในประเทศจีนแล้ว ยังเริ่มขยายมาต่างประเทศอีกแล้วด้วย แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง ที่มีให้บริการใน 7-11 แล้ว นับเป็นการอำนวยความสะดวกในคนีนสามารถจ่ายชำระเงินผ่าน Alipay ที่ตนเองคุ้นเคย และสร้างผลประโยชน์ให้กับ Alibaba และประเทศจีน ที่ยังคงมีรายได้แม้คนในประเทศจะท่องเที่ยวอยู่ในต่างประเทศก็ตาม โดยAlipay นั้นมีที่มาจากการเป็นผู้ให้บริการการรับชำระเงินให้กับ Alibaba มาก่อน คล้ายกับที่ PayPal ได้รับการเติบโตจากการเป็นผู้ให้บริการให้กับ eBay ในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นนั่นเอง และจะเห็นว่า บริการ Online to Offline ต่างๆนั้น มี Alipay เป็นผู้เล่นสำคัญในการที่ผู้บริโภคจะชำระเงินล่วงหน้าออนไลน์ หลังใช้บริการแล้วที่หน้าร้านออฟไลน์ หรือผูกบัตรมัดจำไว้ล่วงหน้าแล้วค่อยปล่อยชำระเมื่อได้รับสินค้าและบริการโดยสมบูรณ์แล้วก็ได้เช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน มีข่าวว่า Alipay เตรียมตัวที่จะเข้าตลาดหุ้นในประเทศจีนและฮ่องกงเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับประเมิณมูลค่าไว้ที่ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในประเทศไทยเอง ก็มีการขยับตัวของบริษัท Payment ในมุมของ O2O โดยได้มีการร่วมทุนกระหว่างบริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัดผู้ให้บริการบัตร “แรบบิท” ที่เราคุ้นเคยกันผ่านการใช้งานรถไฟฟ้า “BTS” กับบริษัท LINE Biz Plus Limited ผู้ให้บิรการ LINE Pay ในสัดส่วน 50:50 โดย LINE Pay จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Rabbit LINE Pay
ณ วันที่มีการประกาศร่วมทุน ทางบัตร Rabbit เองได้มีการออกบัตรไปแล้วกว่า 5 ล้านใบ และมีจุดรับบัตรแรบบิทมากกว่า 4,000 จุด ในกรุงเทพและปริมณฑล ในขณะที่ LINE Pay มีผู้ใช้แล้วประมาณ 1.5 ล้านคน โดยมีการชูผลความสำเร็จจากแคมเปญตรุษจีนว่ามีการโอนเงินผ่าน LINE Pay แล้วกว่า 8 ล้านครั้งใน 7 วัน
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่าการควบรวมของผู้ให้บริการ Payment ออฟไลนืและออนไลน์ครั้งนี้ก็คือ การผนึกกำลังร่วมกับ Kerry Express ผู้ให้บริการการขนส่งพัสดุและการเก็บเงินปลายทางอันดับหนึ่งในประเทศไทย ที่จะเป็นการนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆอย่างเช่น LINE Man ที่เปิดให้บริการส่งสินค้าและอาหารผ่าน LINE กันไปที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งช่องทาง O2O ที่จะเป็นโอกาสใหญ่สำหรับ Startup ในอนาคต ก็คือช่องทางที่จะทำให้ร้านค้าสามารถใช้เพื่อโฆษณาสินค้าและบริการของตนเองให้กับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาโดยสภาหอการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่า วิธีการโฆษณาแบบ “Pay Per Click” หรือ “จ่ายเมื่อมีการคลิก” ที่เป็นที่นิยมในโลกออนไลน์เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงและผูกกับผลลัพธ์โดยตรงนั้น กลับไม่สามารถสร้างลูกค้าให้กับธุรกิจออฟไลน์ได้ดี เพราะการคลิกนั้นไม่ตรงกับพฤติกรรมการเห็นแล้วไปที่ร้านของผู้บริโภค และไม่เปิดโอกาสให้ร้านค้าสามารถแสดงโฆษณาได้ซ้ำๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการ “สร้างแบรนด์”
เมื่อมองในมุมมองของร้านออฟไลน์แบบนี้ จะพบว่าวงการโฆษณาออนไลน์ได้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆไว้น้อยมาก และได้กลายเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาของบริษัทออนไลน์ชั้นนำอย่าง Google และ Facebook ในเวลานี้ในการที่จะหาทางเชื่อมต่อคนที่ดูสินค้าออนไลน์ เข้ากับคนที่เดินเข้ามาซื้อของในร้านอย่างแท้จริง เพื่อสามารถประเมิณผลของการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างถูกต้องอย่างแท้จริง
สุดท้าย อีกหนึ่งพัฒนาการที่น่าสนใจของวงการออนไลน์ ก็คือการที่ร้านค้าที่เริ่มต้นด้วยการเป็นร้านค้าออนไลน์ กลับเริ่มกลับมามีหน้าร้านออฟไลน์แล้ว ด้วยการฝากขายตามห้างสรรพสินค้า การออกตลาดนัด หรือ การเกิดขึ้นของร้าน Multi-brand ยุคใหม่ที่รวบรวมร้านค้าที่มีลักษณะคล้ายๆกันที่มีอยู่ในโลกออนไลน์แต่ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง อย่างเช่นร้าน CAMP ที่สยามสแควร์ซอย 5 หรือ ร้าน SOS ในซอยถัดไป (หมายเหตุ: ผู้เขียนเป็นหุ้นส่วนของร้าน CAMP)
ในประเทศสหรัฐฯอเมริกาที่มีการให้กำเนิดแบรนด์ที่เติบโตผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ก็ได้มีพฤติกรรมการเปิดหน้าร้านออฟไลน์เรียบร้อยแล้ว อย่างเช่นร้าน BONOBOS เสื้อผ้าผู้ชายที่เติบโตมาจากการขายเสื้อผ้าที่มีขนาดพอดีกับร่างกายผู้ชาย Warby Parker ผู้จัดจำหน่ายแว่นตาที่เริ่มต้นด้วยการเป็นร้านออนไลน์เพื่อข้ามผ่านอุปสรรคของการยึดอำนาจของผู้จัดจำหน่ายในโลกออฟไลน์ หรือแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่มีการเปิดหน้าร้านของตนเองในประเทศอินเดีย โดยผู้ค้าขายเหล่านี้ มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งก็คือจะไม่เน้นการมีสต๊อคหน้าร้าน แต่เปิดร้านไว้ให้คนได้ลองสินค้าและบริการของตนเอง หรือมีช่องทางในการให้บริการหรือคืนสินค้านั่นเอง โดยเมื่อมีการสั่งซื้อ จะสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในร้านได้ และทำการส่งของให้ภายในวันนั้นหรือวันถัดไปนั่นเอง
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
กรรมการบริหาร บริษัท ฟลายอิ้ง คอมม่า จำกัด
www.lertad.com