หากคุณติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเงินและแวดวงเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา นอกจากเรื่องของ “AI” หรือ “Artificial Intelligence” แล้วคุณคงจะได้ยินการพูดถึง “สกุลเงิน” ใหม่ที่เรียกว่า “Bitcoin” ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุน สถาบันการเงินและนักเทคโนโลยีทั่วโลกในมุมที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของการเป็น “สกุลเงินดิจิตอล” ที่จะมา “disrupt” หรือ “เปลี่ยนแปลง” ระบบการเงินในโลกนี้ทั้งหมด การเป็นที่มิจฉาชีพใช้ในการทำธุรกรรมผิดกฏหมาย การเพิ่มมูลค่าอย่างรวดเร็วของตัวสกุลเงิน และข่าวสารอื่นๆอีกมากมายทั้งถูกและผิด จนเราเองก็ยากที่จะเข้าใจว่าจริงๆแล้ว “Bitcoin” ที่พูดถึงกันนี้มันคืออะไรกันแน่
ทั้งนี้แม้ว่าการที่จะเข้าใจว่า “Bitcoin คืออะไร” ได้อย่างถ่องแท้นั้น ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานแนวคิดทั้งเรื่องระบบการเงินที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน พื้นฐานเศรษฐศาสตร์การเงิน รวมถึงต้องทำใจว่าวิธีการใช้งาน Bitcoin เองก็ยังมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาในบางส่วน แต่ในบทความนี้ ผมจะขอพยายามถือโอกาสปูพื้นฐานเพื่อให้สามารถพออ่านข่าวสารเกี่ยวกับ Bitcoin ในครั้งต่อไปได้อย่างงงน้อยลงครับ
หากเราเริ่มด้วยการแปลอย่างตรงตัวแล้ว คำว่า “Bitcoin” นั้นประกอบไปด้วยคำว่า “Bit” ที่มักถูกใช้สื่อถึง “ชิ้นส่วนข้อมูลดิจิตอล” และคำว่า “coin” ที่แปลว่าเหรียญ เพื่อสื่อถึงความเป็น “เงินดิจิตอล” นั่นเอง เพราะตัว Bitcoin เองนั้น ถูกออกแบบมาให้เป็น “เหรียญ” หรือ “เงิน” ที่มีมูลค่าอยู่ในตัวของตัวเอง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้โดยไม่ต้องอาศัยระบบธนาคารหรือระบบการเงินที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันมารองรับ
ทุกวันนี้ เวลาเราใช้เงินในโลก “offline” สิ่งที่เรียกว่าเงินนั้นมักอยู่ในรูปแบบกระดาษที่เราเรียกว่า “แบงค์” กับเหรียญที่ใช้แทน “สกุลเงิน” ที่เราเรียกว่า “บาท” ในประเทศไทย ซึ่งสกุลเงินและแบงคืและเหรียญเหล่านี้มีค่าได้เพราะมีระบบการเงินและการธนาคารของโลกรองมูลค่าอยู่นั่นเอง หรือหมายความว่า การที่เงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีค่าได้ ก็เพราะมีระบบธนาคารรองรับอยู่ผ่านระบบบัญชีต่างๆที่ได้ถูกออกแบบและใช้งานกันไว้อย่างเป็นเวลานาน
พอมาเป็นโลก “ดิจิตอล” ที่ไม่มีแบงค์และเหรียญให้เราจับต้องแล้ว การทำธุรกรรมจึงจำเป็นต้องมี “เจ้าภาพ” ในการ “รองรับธุรกรรม” ว่าได้มีการแลกเปลี่ยนมูลค่าระหว่างคนสองเกิดขึ้นแล้วจริง จึงเกิดเป็น “payment network” หรือ “เครือข่ายการชำระเงิน” เกิดขึ้น ซึ่งเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่เราคุ้นเคยกันก็คือ “Visa” ที่ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินตราและเหรียญทางกายภาพเช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่ “Visa” ทำนั้น ก็คือการรับข้อมูลการชำระแทนธนาคารต่างๆในแต่ละประเทศ ซึ่งหมายความว่าวิธีการชำระเงินผ่าน Visa ที่หลายคนคุ้นเคยนั้น ก็อยู่บนพื้นฐานเครือข่ายการเงินปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่แล้วเหมือนเดิมเช่นเดียวกัน
ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ Bitcoin แตกต่างจากการชำระเงินออนไลน์แบบที่เราเคยเห็นกัน คือการที่ธุรกรรมของ Bitcoin นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ด้วย “เครือข่ายการชำระเงิน” แบบใหม่ ที่ถูกเรียกว่า “Bitcoin” เหมือนกับตัวสกุลเงินและเป็นเหตุให้เกิดความสับสนเวลาพูดคุยและทำความเข้าใจเหมือนกัน ซึ่งเครือข่ายการชำระเงิน “Bitcoin” นี้มีความพิเศษอีกอย่างที่ทำให้แตกต่างจะเครือข่ายการชำระเงินเดิมอย่าง Visa ในแง่เทคโนโลยีตรงที่เครือข่ายเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการบันทึกและรองรับธุรกรรมนั้น สามารถถูกกระจายไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆทั่วโลก แทนที่จะต้องถูกรวมศูนย์ไว้ในที่เดียวจนเป็นเหตุให้เครือข่ายอย่าง Visa นั้นจำเป็นต้องคิดค่าธรรมเนียมในการรองรับธุรกรรมสูงถึง 1-3% ต่อทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายของตนเอง
ซึ่งเครือข่ายการบันทึกธุรกรรมอย่างตลอดเวลาเพื่อให้ทุกธุรกรรมมีการรองรับในรูปแบบนี้ คือสิ่งที่นักเทคโนโลยีเรียกกันอยู่ว่า “blockchain” และเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังทั้ง “สกุลเงินดิจิตอล” และการประยุกต์ใช้ในแง่ของการ “เก็บบันทึกและรองรับข้อมูลหรือธุรกรรม” อื่นๆอย่างเช่นสัญญา หรือเครือข่ายการเดินทางของโลจิสติกส์เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันสนใจ “Bitcoin” นั้น มักไม่ใช่เรื่องของความเป็นสกุลเงินดิจิตอล แต่มักเกี่ยวข้องกับการ “ซื้อขาย” Bitcoin ในลักษณะคล้ายการซื้อขายหุ้น เพราะ Bitcoin นั้นมีมูลค่าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่กระโดดจาก ประมาณ $230 เหรียญมาสู่ $4,400 ในเวลาอันรวดเร็ว
กราฟมูลค่า Bitcoin ระหว่างปี 2015-2017 จาก Coinbase.com
การที่มูลค่าของ Bitcoin นี้สูงขึ้น ทำให้คนแสวงหาอยากได้ตัว Bitcoin นี้มาถือไว้เพื่อเก็งกำไรกันในอนาคต โดยวิธีการที่จะได้ Bitcoin นี้มาอยู่ในมือนั้นสามารถทำได้สองวิธี โดยวิธีแรกคือการซ้อขายผ่าน “ศูนย์แลกเปลี่ยน” หรือ “Exchange” ที่ทำตัวคล้ายกับธนาคารในการแลกเปลี่ยนเงินตราปัจจุบันกับ Bitcoin ที่มีอยู่ในระบบนั่นเอง
ส่วนอีกวิธีซึ่งเป็นแหล่งที่มาของ Bitcoin อย่างแท้จริงนั้นสามารถทำได้ผ่านการนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายการชำระเงิน Bitcoin เพื่อทำหน้าที่ในการรองรับธุรกรรมต่างๆในเครือข่าย โดยเมื่อคอมพิวเตอร์เหล่านี้ถูกเชื่อมต่อเครือข่ายแล้ว นอกจากจะมีหน้าที่ในการรองรับธุรกรรมแล้ว จะสามารถทำหน้าที่อีกอย่างคือการ “คำนวณ” โจทย์คณิตศาสตร์ที่ทางเครือข่าย Bitcoin ได้ออกแบบไว้ โดยคอมพิวเตอร์เครื่องไหนที่สามารถ “แก้โจทย์” คณิตศาสตร์นั้นได้ ก็จะได้ Bitcoin จำนวนหนึ่งไป “ฟรีๆ” ได้เลย ซึ่งการนำคอมพิวเตอร์มาใช้แบบนี้ ก็ถูกเรียกว่าเป็นการ “ขุดเหมือง” หรือ “Bitcoin mining” เพื่อเปรียบเทียบกับการ “ขุดทอง” ในสมัยก่อนนั่นเอง
และวิธีการได้มาซึ่ง Bitcoin ในรูปแบบนี้ จึงทำให้เกิด “นัดขุด” จำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อมูลค่าของ Bitcoin ที่ได้มานั้น สูงกว่าการลงทุนในเครื่องคอมพิวเตอร์และค่าไฟที่เกิดขึ้นนั่นเอง โดยทางเครือข่าย Bitcoin ได้ออกแบบไว้ให้มีการแจกรางวัลในลักษณะนี้อยู่ทุกปีจนกว่าจะมี Bitcoin ในโลกนี้ในจำนวน 21 ล้าน Bitcoin และการที่ Bitcoin มีจำนวนจำกัดแบบนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ Bitcoin มี “มูลค่า” อยู่ในโลกนี้นั่นเอง
การใช้งาน Bitcoin นั้น สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน “Digital Wallet” ที่รองรับ คล้ายกับแอปพลิเคชันอย่าง True Wallet, AliPay, WeChat Pay, AirPay, PayPal ที่รองรับการทำธุรกรรมดิจิตอลด้วยเงินปัจจุบันอยู่ โดยแอปพลิเคชัน Digital Wallet บางตัวนั้น จะทำหน้าที่ในการเป็น “Exchange” เชื่อมต่อบัตรเครดิตของผู้ใช้ เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราปัจจุบันเป็น Bitcoin ได้ภายในคลิกเดียว
ตัวอย่างแอป Digital Wallet ที่รองรับ Bitcoin จาก Bitcoin Wallet
ในแง่ของการใช้งานในการซื้อขายสามารถทำได้หากร้านค้าหรือผู้ขายนั้นมี “Digital Wallet” ของตัวเอง หรือเครื่องรองรับการชำระเงิน คล้ายกับเครื่องรูดบัตรเครดิตตามเคาน์เตอร์แคชเชียร์ต่างๆนั่นเอง
เหตุผลที่ง่ายที่สุดที่ทำให้ Bitcoin ผิดกฏหมายนั้นคือการที่การแลกเปลี่ยนเงินตราเหล่านี้ไม่ได้ถูกรองรับโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ทำให้เสี่ยงต่อการกระทบความมั่นคงของระบบการเงิน
รวมทั้งการที่ในทางเทคนิคแล้ว การใช้งาน Bitcoin สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุชื่อและที่อยู่จริงของผู้ใช้ จึงทำให้สามารถก่อให้เกิดการทำธุรกรรมผิดกฏหมายได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีการดูแลจากเครือข่ายเดิมที่เคยติดตั้งกันไว้อีกด้วย และหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Bitcoin ได้รับความนิยมเหนือสกุลเงินดิจิตอลอื่นที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือการได้ถูกรับเลือกให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ใน “ตลาดมืด” ในอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า “Silk Road” ที่มีการค้าขายสินค้าผิดกฏหมายจำนวนมาก จนถูกปิดไปในปี 2013 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลต่างๆทั่วโลกจะมีการประกาศว่าการใช้งาน Bitcoin ผิดกฏหมายด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่ก็มีการต่อรองเจรจากันเพื่อทำให้การใช้งาน Bitcoin “เป็นมิตร” ต่อกฏหมายมากขึ้น อย่างเช่นเจ้าของ Digital Wallet หรือ Exchange หลายแห่งที่จะยอมให้เกิดการซื้อขาย Bitcoin เฉพาะเมื่อมีการระบุตัวตนแล้วเท่านั้น รวมไปถึงการที่ Bitcoin เป็นระบบเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถยุติธุรกรรมต่างๆด้วยการปิดเซิฟเวอร์ตัวใดตัวหนึ่งได้อย่างง่ายได้เลยอีกด้วย
รูปภาพการยอมรับ Bitcoin จาก bitcoinschannel.com
แม้ Bitcoin จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตอนนี้ แต่อนาคตของมันยังไม่แน่นอนเนื่องจากมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการเก็งกำไรมากกว่ามูลค่าที่เกิดจากการใช้งานจริง ซึ่งดาบสองคมของการที่มูลค่าของ Bitcoin เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายนั้น ก็คือการที่ไม่มีใครกล้าใช้เงิน Bitcoin ในการทำธุรกรรมจริงเพราะเสียดายมูลค่าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เปรียบเสมือนกับถ้าเงินบาทมีมูลค่าที่สูงขึ้นตลอดเวลา การใช้จ่ายของเราก็อาจช้าลงเพราะสินค้าจะมีมูลค่าถูกลงทุกวันที่เราถือเงินบาทไว้
อย่างไรก็ตาม Bitcoin ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้เงินในโลกใหม่ ที่ไม่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางใดๆ ซึ่งในยุคที่รัฐบาลต่างๆในโลกนี้มีการควบคุมและเซ็นเซอร์ประชาชนมากขึ้น Bitcoin จึงได้ก่อให้เกิดแรงบรรดาลใจในการพัฒนาสกุลเงินต่างๆแบบนี้ ทั้งตัวเทคโนโลยี “Blockchain” เองที่ได้รับการประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นๆนอกจากเงิน และการเกิดขึ้นของ “สกุลเงิน” อื่นๆในรูปแบบนี้ที่ถูกเรียกว่า “Cryptocurrencies” ที่มีคำว่า “Crypto” จากคำว่า “Cryptography” อันหมายถึง “ศาสตร์ของรหัส” ในรูปแบบอื่นๆคล้ายๆ Bitcoin นั่นเอง
รวมถึงการที่ Bitcoin มีเรื่องราวต่างๆเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้งเองที่ไม่เคยเปิดเผยตัวตน ความเป็นระบบ “open-source” ของตัว bitcoin ที่ทำให้คนสามารถร่วมกันพัฒนาได้กันทั่วโลก การเมืองภายในกลุ่มที่ช่วยกันดูแล bitcoin จนเกิดการแตกของสกุลเงินเป็นสองรูปแบบ และอื่นๆอีกมากมายที่อาจทำให้ bitcoin หายไปหรือกลายเป็นสกุลเงินหลักของโลกดิจิตอลก็เป็นได้
เรียกได้ว่า ไม่ว่าคุณจะสนใจในมุมของนักลงทุน นักเทคโนโลยี นักการเมือง หรือประชาชนทั่วไป เรื่อง Bitcoin เป็นเรื่องที่ควรคอยจับตาไว้อยู่เรื่อยๆครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
www.sellsuki.co.th