ในปี 2017 เราได้เห็นการพัฒนาและแพร่หลายของเทคโนโลยีหลายประเภทที่สร้างความน่าตื่นเต้นให้กับวงการเทคโนโลยี เพราะเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่อาจเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่อีกครั้ง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นมีทั้งเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ที่อาจเรียกว่าเป็น “Hard tech” ที่ใช้ความรู้ความเข้าใจเชิงเทคนิคอลอย่างมาก หรือการเจริฐเติบโตของเทรนด์หลายตัวที่ได้รับการพูดถึงกันมานานจนเริ่มมี Startup ที่นำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาทดลองใช้งานจริงได้แล้ว
ในคอลัมน์นี้ จึงขอสรุปเทรนด์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะถูกใช้อย่างแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักทั่วไปในปี คศ. 2018 นี้มาเล่าให้ฟังกันครับ
หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้ถูกการพูดถึงในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะได้รับการแพร่หลายในปีหน้าผ่าน Startup ที่ได้ทยอยนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ก็คือเทคโนโลยี “Blockchain” เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง “สกุลเงินดิจิตอล” หรือ “Cryptocurrencies” ยุคใหม่ที่เริ่มได้รับการกล่าวถึงและแพร่หลายในระดับกว้างในปี คศ. 2017 ที่ผ่านมา
เทคโนโลยี “Blockchain” นี้ อธิบายแบบจำกัดความได้ว่าเป็นวิธีการเก็บข้อมูลในทางดิจิตอลแบบใหม่ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการกระจายข้อมูลไปยังหน่วยปฏิบัติการ หรือ “คอมพิวเตอร์” หลายๆเครื่องของคนหลายๆคนโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าของฐานข้อมูลหลัก แทนที่จะเก็บไว้ในฐานข้อมูลเดี่ยวๆบนเครื่องเซิฟเวอร์ของใครบางคน
เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของสกุลเงินดิจิตอลที่ต้องการที่จะปฏิวัติระบบการเงินของระบบธนาคารเดิมที่คุมอำนาจไว้อยู่ที่ทางธนาคารและผู้รับรองระบบการชำระเงินอย่างเช่น Visa, Mastercard ไม่กี่ราย ที่มีกำลังทรัพย์ที่จะลงทุนในระบบเซิฟเวอร์จำนวนมากเพื่อรองรับการทำบัญชีสำหรับการชำระเงิน
แต่นอกจากการนำแนวคิดของ “Blockchain” มาใช้ในการเป็นสกุลเงินแล้ว ตอนนี้ก็ได้มี Tech Startup จำนวนมากหาวิธีที่จะนำแนวคิดของ “Blockchain” มาใช้ประโยชน์จากความเป็นระบบที่มีการเก็บฐานข้อมูลได้แม่นยำ ปลอดภัยจากการโดนแฮ็กระบบ และมีต้นทุนในการประมวลผลและรองรับความถูกต้องต่ำมากมาใช้ในทางอื่นอย่างเช่นระบบสัญญา การทำบัญชี การติดตามและจัดเก็บข้อมูลการการขนส่ง และการเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญ เป็นต้น
วิธีการทำงานของ Blockchain จาก Blockgeeks.com
หนึ่งในตัวอย่างของการนำ Blockchain มาใช้ในทางการเงินเพื่อมาทดแทนวิธีการแบบเดิมๆคือการระดมทุน โดยมีบริษัท Startup จำนวนหนึ่งได้เลือกใช้วิธีการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิตอลแทนที่จะใช้วิธีการระดมทุนแบบทั่วไปผ่านการขายหุ้นหรือเพิ่มหุ้นผ่านการจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐฯและการรับรองธุรกรรมทางการเงินโดยธนาคาร โดยมีหลักการคร่าวๆคือการสร้างหน่วยทุนที่จะถูกนำมาใช้ “หุ้นดิจิตอล” หรือนำตัว “สกุลเงิน” มาเร่ขายเองเลย คิดภาพตามง่ายๆอย่างเช่นหาก LINE นำตัว LINE Coin ที่ใช้ซื้อขายสติ๊กเกอร์มาปล่อยขายในลักษณะคล้ายหุ้น โดยสิ่งที่นักลงทุนจะได้นั่นก็แล้วแต่เงื่อนไขที่ทางบริษัทผู้ระดมทุนได้สัญญาไว้ อย่างเช่นในตัวอย่างของ LINE Coin หากในอนาคตมีคนต้องการใช้ LINE Coin มากขึ้นจนมูลค่าเงินต่อ 1 LINE Coin นั้นสูงขึ้น นักลงทุนที่ลงทุนซื้อแต่เนิ่นๆก็จะได้ประโยชน์ทางการเงินไป
แนวคิดของ OmiseGo จาก OmiseGo
สิ่งที่น่าสังเกตของการระดมทุนแบบนี้คือการระดมทุนแบบนี้ยังไม่ได้ถูกรับรองหรือต้องผ่านหน่วยงานรัฐฯประเทศใด ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไหนก็ได้สามารถซื้อ “หุ้นดิจิตอล” หรือ “เหรียญฯดิจิตอล” เหล่านี้ แทนการระดมทุนจากกองทุน นักลงทุน หรือเข้าตลาดหุ้นแบบดั้งเดิม แต่นั่นก็หมายความว่า การลงทุนจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะบริษัทฯเหล่านี้อาจไม่มีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมารองรับความน่าเชื่อถือขงอตัวบริษัทฯเอง
ตัวอย่างของบริษัท Startup ที่ระดมทุนในลักษณะนี้ได้สำเร็จในปี 2017 ที่ผ่านมาได้แก่ FIlecoin ที่ระดมทุนไปได้ $257 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดเก็บไฟล์ผ่านการจับคู่คนต้องการหาพื้นที่จัดเก็บ กับคนที่มีพื้นที่เหลือ หรือทาง OmiseGo ภายใต้บริษัท Omise ที่มีสัญชาติไทยญี่ปุ่นแต่มีโครงสร้างบริษัทแม่อยู่ที่สิงคโปร์ ที่ระดมทุนไป $25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างระบบการเงินรองรับการโอนเงินระหว่างประเทศและการใช้ในทางค้าปลีกอย่างเช่นการสะสมแต้ม เป็นต้น
เมื่อราคาในการผลิตฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิคส์ถูกลงและมีขนาดเล็กลงทุกปีเหมือนที่เราเห็นในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน การพัฒนาโครงสร้างการทำงานระหว่างกันของแอปพลิเคชัน และการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงได้มาถึงจุดที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้นั้น เส้นแบ่งกั้นระหว่างโลก “Digital” และ “Physical” ก็ได้หายไปเพราะในปัจจุบันเราสามารถฝังชิ้นส่วนเซ็นเซอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้ในอุปกรณ์อื่นๆนอกจากสมาร์ทโฟนได้เรียบร้อยแล้ว และเมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างรอบตัวเราสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็แปลว่าข้อมูลการทำงานต่างๆก็จะสามารถถูกวัด จัดการ และควบคุมได้ คล้ายกับการที่เราวัดสุขภาพของตนเองผ่านจำนวนก้าว จำนวนการเต้นของหัวใจ ดั่งที่ใครหลายคนอาจคุ้นเคยอยู่ในตอนนี้
แนวคิดของการทำให้สิ่งรอบตัวเรานั้นเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อัตโนมัตินี้ได้ถูกเรียกไว้ว่า “Internet of Things” และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง (“Things”) มีแนวโน้มว่าจะได้รับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและการติดตามผ่านระบบดิจิตอลมากขึ้นแล้ว สงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตอนนี้ก็คือการที่จะได้เป็น “ผู้ควบคุม” ระบบอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งหมด เราจึงได้เห็นการต่อสู้กันระหว่าง Amazon, Google, และ Apple ในการผลิตอุปกรณ์ “Smart Speaker” หรือ “Smart Assistant” ที่มีหน้าที่ในการเป็น “ผู้ช่วยอัจฉริยะ” ในบ้านเพื่อทำการเชื่อมต่ออุปกรร์อิเล็กทรอนิกส์ใน “Smart home” ของเรา รวมถึงบริการออนไลน์ต่างๆอย่างเช่น YouTube หรือบริการเพลงออนไลน์ เพื่อให้เราสามารถใช้เสียงเรียกใช้งานได้โดยไม่ต้องอาศัย Smartphone
ทางประเทศไทยเอง ก็มีบริษัทในระบบนิเวศ Internet of Things ที่น่าสนใจ อันได้แก่ Nasket อุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในคอนโดมิเนียมชั้นนำของประเทศไทยที่สามารถถูกใช้ในการเรียกใช้บริการออนไลน์ต่างๆอย่างเช่นการซ่อมบ้าน การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือการซื้อของออนไลน์ เป็นต้น
รูปภาพจาก Nasket.com
ผมได้เคยพูดถึง “Artificial Intelligence” หรือ “AI” กับ “Machine Learning” ไปแล้วในคอลัมน์นี้ว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เนื่องด้วยเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่างที่ผ่านมา ทำให้เรื่องของสมอลกลนั้นได้รับความสนใจและจับตามองในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมาอยู่รอบตัวเราในทุกๆอย่างในปี 2018 นี้โดยเฉพาะในซอฟท์แวร์ธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลและการทำงานซ้ำจำนวนมาก เพื่อมาช่วยในการลดต้นทุน ลดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
หนึ่งในการใช้ระบบ “สมองกล” ที่ได้รับการพูดถึงเยอะที่สุดในปีที่ผ่านมา คือระบบ “Chatbot” หรือ “หุ่นยนต์แชทอัตโนมัติ” โดยเฉพาะในการใช้บริการลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียล เนื่องด้วยกระแสความนิยมของช่องทางนี้
แต่ในฐานะของผู้ให้บริการระบบการค้าขายที่มีจุดเด่นทางด้านโซเชียลนั้น ผมคิดว่าช่องทางแรกที่ระบบ “Chatbot” นี้จะถูกใช้กับมนุษย์ทั่วไปอย่างประสบความสำเร็จโดยแท้จริงนั้น ไม่น่าจะเป็นการบริการระหว่าง B2C แต่น่าจะเป็นกับระบบภายในบริษัทของแต่ละบริษัทเอง เช่น การตอบคำถามเกี่ยวข้องกับนโยบายบริษัท สวัสดิการ หรือระบบ HR ต่างๆ เพราะข้อมูลเหล่านี้ก็มีจำนวนมากและเป็นงานซ้ำซากที่ทางแผนกสนับสนุนเหล่านี้ต้องคอยปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง และการสนทนาภายในแบบนี้ เป็นการสนทนาที่ผู้ใช้ยังพอรองรับการทำงานผิดพลาดของระบบได้ ต่างกับการบริการ B2C ที่ความผิดพลาดอันทำให้ผู้ใช้ไม่พอใจนั้นอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้ง่าย
แต่สิ่งที่น่าสนใจหากระบบ Chatbot ที่ทำงานด้วย AI นั้นสามารถทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์ ก็คือพัฒนาการของระบบการแปลงเสียงคำพูดของมนุษย์ให้กลายเป็นคำพูด ซึ่งจะหมายความว่าระบบ Chatbot นั้น จะสามารถถูกต่อยอดจากการพิมพ์โต้ตอบไปสู่การสนทนาได้ไม่ยากเช่นกัน และระบบอุปกรณ์ Smart Speakers หรือ Smart Device ที่ได้พูดถึงในหัวข้อ Internet of Things ที่ผ่านมา ก็ใช้เทคโนโลยีแบบนี้เช่นกัน
รูปภาพ Apple HomePod, Google Home, และ Amazon Alexa จาก Inc.com
เทคโนโลยีที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีบางส่วนที่ได้ถูกพัฒนาอยู่ในอตนนี้ที่ผมหยิบมาพูดถึงเพราะมีแนวโน้มที่จะได้รับการใช้งานและกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำธุรกิจในวงกว้างมากขึ้น แต่จะเห็นว่าโทคโนเลยีแต่ละตัวนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้ธุรกิจบางประเภทหมดความจำเป็นไป เพราะสามารถทำได้ดีกว่าการใช้มนุษย์มาเป็นตัวกลางหือเทคโนโลยีเดิมที่ไม่สามารถทำได้แบบมีประสิทธิภาพเท่า
ในยุคที่ “ตลาดออนไลน์” ปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ได้จำเป็นต้อมีสต๊อคสินค้าของตนเอง แต่ใช้การ “เชื่อมต่อข้อมูล” ของผู้ที่มี “สต๊อคเหลือ” ตั้งแต่ “สต๊อคสินค้า” ไปยัน “รถยนต์” หรือ “ที่พัก” ของตัวเองนั้น จะเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิตอลมีพลังที่จะสามารถต่อยอดเรื่องของ “ระบบสารสนเทศ” ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ธุรกิจทุกประเภทจะต้องคอยจับตาดูการพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้ การเข้าใจพื้นฐานเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค และการวิเคราะห์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะมากระทบท่านในเรื่องใด เพื่อเปลี่ยน “ความเสี่ยง” ของการ “Disrupt” มาเป็น “ข้อได้เปรียบ” ของเทคโนโลยีท่านแทนครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซลสุกิ จำกัด
www.sellsuki.co.th