สวัสดีครับ บทความเดือนนี้ ผมจะขอหยิบศัพท์กระแส jargon ที่กำลังฮิตติดลม digital marketing ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมากันนะครับ อย่างที่ผมมักจะกล่าวเป็นประจำก็คือ ศัพท์พวกนี้ หลายๆครั้งเป็นศัพท์ฮิตที่บางทีถูกใช้บ่อยจนความหมายมันหายไป แต่การที่มันฮิตได้นั้น แสดงว่ามันเกิดจากกระแสที่มีอยู่จริง ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมีความเกี่ยวข้องกับโลก digital marketing โดยตรงหรือไม่ก็ตาม จึงน่าจะควรที่จะรู้ไว้ เพื่อให้เข้าใจโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ นั่นเอง
Mobile
ในโลกปัจจุบัน สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราใช้ทั้งในการติดต่อสื่อสาร ทำงาน และเสพข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก จนเป็นสิ่งที่นักธุรกิจหรือแบรนด์หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างแอพพลิเคชันหรือพัฒนาวิธีการให้ตนเองยังมีตัวตนและความสำคัญอยู่ในโลกนี้ รวมไปถึงนักการตลาดที่จะต้องคอยคิดวิธีหาทางทำการตลาดบนโลกของโทรศัพท์มือถือ ตลอดไปจนอุปกรณ์จำพวกแทบเบล็ท ซึ่งได้กลายเป็นอุปกรณ์พกพาที่มีนัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอีกตัว แต่ก็มีลักษณะการใช้งานที่คล้ายคลึงกบโทรศัพท์มือถือ คือเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้พกพาติดตัว ดังนั้น เวลาคนพูดถึงการทำอะไรในโลกของอุปกรณ์พกพานี้แล้ว จึงไม่สามารถพูดถึงแค่เฉพาะ “Smartphone” หรือ “Tablet” แต่จะใช้คำว่า “Mobile” เพื่อต้องการที่จะสื่อถึงอุปกรณ์พกพาทุกประเภทนั่นเอง โดยคำว่า “Mobile” นี้มักจะถูกใช้เป็น adjective คือมีคำ noun ต่อท้าย เช่น “Mobile marketing”, “Mobile shopping”, “Mobile advertising” เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้คำว่า “Mobile” ในการสื่อสารหรือคิดถึงเรื่องการตลาดหรือการทำธุรกิจนั้น ก็มีข้อเสียทั้งเรื่องของการครอบคลุมทั้งแทบเบล็ทและสมาร์ทโฟน ตรงที่แม้ว่าสองสิ่งนี้จะมีความคล้ายกัน แต่ข้อจำกัดและวิธีการเสพก็มีต่างกันเล็กน้อย ตรงที่แทบเบล็ทมักจะถูกใช้ในการใช้งานมากกว่า และมีอัตราเวลาในการใช้ที่ยาวนานกว่ามือถือ รวมไปถึงการที่มือถือมีพื้นที่ในการแสดงน้อยกว่า สร้างข้อจำกัดในเรื่องโฆษณา หรือข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ เป็นต้น
นอกจากนี้ บางทีการคิดถึงแค่โลกของ Mobile ก็อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการทำให้ตัวตนของเราในโลกของเว็บไซท์ปกติ หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์หายไป ทำให้ขาดความต่อเนื่องหรือเชื่อมโยง จึงมีหลายคนที่แนะนำว่า แทนที่จะใช้คำว่าผู้บริโภคในยุคนี้เป็นยุค “mobile” นั้น ให้เรียกว่าเป็นยุค “multi-screen” จะทำให้เข้าใจผู้บริโภคในระดับภาพรวมได้ดีและครอบคลุมกว่ากัน
Digital ecosystem
นอกจากคำว่า “Mobile” จะถูกบัญญัติมาเพื่อนิยามและใช้พูดถึงโลกของอุปกรณ์สื่อสารพกพาแล้ว การที่โลกของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ทได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้วนั้น การที่เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอ เพ่งเล็งข้อมูล ข่าวสาร รูปภาพ และสื่อต่างๆในรูปแบบของ “ข้อมูลดิจิตอล” มากกว่าสื่อดั้งเดิมที่ “จับต้องได้” อย่างเช่นพวก หนังสือ หนังสือพิมพ์ ป้ายโฆษณา และสิ่งพิมพ์อื่นๆ หรือในทางเทคนิคบางคนอาจเรียกว่า “physical media” หรือ “analog media” นั้น จึงทำให้เกิดการบรรยัติศัพท์ว่า “digital ecosystem” เพื่อพูดถึงสื่อดิจิตอลประเภทต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ขึ้นมา
คำว่า “digital ecosystem” นี้ จึงหมายถึงการมีอยู่และเกี่ยวเนื่องกันของสื่อดิจิตอลทั้งหมด เช่น เราตื่นมาตอนเช้า หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาอ่านอีเมลล์และข่าวที่อาจเกิดขึ้นในช่วงข้ามคืนใน Twitter เสร็จแล้วเดินทางไปทำงานและเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อดูอีเมลล์อีกครั้งและเปิด Facebook เพื่อดูว่าเพื่อนเราทำอะไรอยู่ พร้อมกับเข้าชมเว็บไซท์ที่เราเข้าอยู่เป็นประจำ หลังเลิกงานก็ไปดูบอลกับเพื่อนฝูง ใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย QR Code ที่ขึ้นมาบนจอเพื่อเข้าไปชิงรางวัลในเว็บไซท์ที่ถูกเตรียมไว้ ก่อนกลับบ้านหยิบแท็บเบล็ทขึ้นมาอ่านเว็บไซท์ที่ค้างอยู่พร้อมกับเล่นเกมก่อนนอน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสื่อดิจิตอลที่ถูกใช้กันในคนละทิศทาง แล้วแต่ประเภทอุกรณ์และปรเภทสื่อ ซึ่งอาจมีการเกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็นสิ่งที่นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงเวลาเลือกประเภทสื่อที่ต้องการใช้ ทั้งเวลาเทียบกับสื่อดิจิตอลด้วยกันเอง และสื่อที่อยู่นอกระบบ digital ecosystem นี้เอง
Hyperconnectivity
ผมได้เริ่มเห็นคำว่า Hyperconnectivity นี้ถูกใช้ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันแปลตรงตัวหมายถึงการที่ทุกวันนี้รเา “เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ท” อยู่ตลอดเวลา หรือพูดกันง่ายๆว่า เรา “ติดเน็ท” กันอย่างงอมแงม ซึ่งคำนี้เป็นคำประเภทที่ผมขอจัดอยู่ในหมวดของ “jargon” แท้ๆ ตรงที่มันกำเนิดขึ้นมาเเพราะคนต้องการจะสื่อว่า ผู้บริโภคทุกวันนี้เขาเสพข้อมูลแบบทันทีนะ และเขาสามารถเช็คข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา แต่มันไม่ใช่คำที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์เวลาคิดเรื่องแผนธุรกิจหรือการตลาดได้จริงๆมากนัก เพราะการที่คนเรา “ติดเน็ท” นั้น เป็นสิ่งที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเข้าใจอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นปรากฏการร์ที่เราจะต้องคอยพูดถึง ดังนั้น มันจึงไม่ได้บ่งบอกถึงโอกาสในการทำธุรกิจอะไรมากนักเพราะมันเป็นคำที่กว้างเกินไป สิ่งที่เราในฐานะนักธุรกิจและนักการตลาดต้องการเข้าใจน่าจะเป็นเรื่องของว่า ผู้บริโภคเขาติดเน็ทไป “เพื่ออะไร” หรือ “เขาเสพสื่อหรือสินค้าประเภทใดในโลกดิจิตอล” หรือ “พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าบนอินเตอร์เน็ท” เสียมากกว่า
Data visualization (Infographics)
หากคุณเป็นนักการตลาดแล้วผมพูดถึง “Data Visualization” นั้น คุณอาจจะยังไม่คุ้นมาก แต่ถ้าผมพูดถึง “Infographics” ขึ้นมาเมื่อไหร่ ถ้าคุณคุ้นเคยอยู่ในวงการดิจิตอลจริง คุณจะต้องรู้จักมันอย่างแน่นอน
ฬนโลกดิจิตอลที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถถูกเก็บเป็นข้อมูลสถิติได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคลิก จำนวนการเข้าชม เว็บไซท์ที่ผู้ใช้เคยเข้า หรือประเภทสินค้าที่ผู้ใช้เคยซื้อนั้น การนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลงเป็นข่าวสาร (data to information) จึงเป็นเรื่องสำคัญ และในยุคที่ Instagram, Facebook, และสถิติจำนวนบรรทัดที่คนอ่านหนังสือต่อปี ได้พิสูจน์ว่ามนุษย์เรานิยมดูภาพมากกว่าอ่านตัวอักษรนั้น เราจึงนิยมแปลงข้อมูลมาเป็นข่าวสารในรูปของรูปภาพ ไม่ว่าจะเป็นกราฟ ชาร์ท หรือแม้กระทั่งภาพวาดเพื่อแสดงถึงการเปรียบเทียบข้อมูล หรือขั้นตอนในการทำงาน หรือที่เรียกกันว่า “Data visualization” นั่นเอง
“Data visualization” นั้นไม่ใช่ศาสตร์ที่ใหม่มากนัก เพราะมีอยู่ในโลกของวิศวกรรมและการบริหารมานานแล้ว แต่ได้รับการรู้จักและแพร่หลายเป็นอย่างมากเนื่องจากการแพร่หลายของข้อมูลในโลกดิจิตอล ทำให้มีนักออกแบบสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้มากขึ้น จนเกิดมาเป็นกระแส “Infographics”
ซึ่งเป็นการทำ data visualization ออกมาเป็นกราฟฟิกที่นักเสพข้อมูลดิจิตอลนิยมดูและแบ่งปันกันมากนั่นเอง โดยตัว “infographics” นี้หมายถึงพวกรูปภาพที่เอาข้อมูลประเภทต่างๆมาทำเป็นภาพวาดที่คนอ่านสามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็วผ่านการแบ่งสี และการเปรียบเทียบขนาด โดยท่านสามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ที่เว็บไซท์ http://visua.ly เพื่อทำความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นครับ
หลายคนในวงการการตลาดและนักออกแบบคงจะกุมขมับมาหลายครั้งแล้ว กับการที่ลูกค้าหรือนักธุรกิจนั้นบอกว่าอยากให้งานออกแบบนั้นออกมา “เหมือน Apple” หรือ “Apple-like” ทั้งนี้ คงจะป็นเพราะความสามารถในการออกแบบที่สมบูรณ์แบบและใส่ใจในรายละเอียดของ Apple ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุภัณฑ์ การออกแบบสินค้า รวมไปถึงการออกแบบกราฟฟิก ที่ต่างคนต่างหลงไหล จนคิดว่านี่คือการออกแบบประเภทเดียวที่ดีในโลก
ในขณะเดียวกัน Apple นั้นก็มักจะไม่ใช่ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่มักจะเป็นผู้นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำให้ใช้ง่าย และผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้ การที่เราบอกว่าการทำอะไรก็ตามนั้น “เหมือน Apple” เลยนั้น ก็อาจจะไม่ใช่เป็นคำชมเสมอไป และถึงแม้เรามีเจตนาดี แต่การที่เราชมหรือขอให้งานออกแบบอะไรนั้นเหมือนกับ Apple แล้ว นักออกแบบอาจจะรู้สึกโดนต่อว่าหรือกล่าวหาว่างานไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองก็เป็นได้นะครับ
Social Media Guru
เมื่อ Social Media อย่าง Facebook, Twitter, และ Instagram นั้นได้รับความนิยม มีคนหลายคนนั้นได้เรียกตัวเองว่าเป็น “Social Media Guru” หรือ “Social Media Expert” หรือแปลตรงตัวว่า “ผู้เชี่ยวชาญ Social Media”
แต่ในความเป็นจริง ในหลายๆครั้ง “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านั้นเป็นแค่ “ผู้ใช้” ที่ติดงอมแงม เพราะ Social Media นั้นนอกจากจะมีหลายประเภทแล้ว ยังมีการใช้หลายแขนง เช่น ความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคนนิยมอ่านและติดตาม การเข้าใจวิธีการใช้ของผู้บริโภค และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริการแต่ละแห่ง รวมไปถึงประเภทเนื้อหาที่มีอยู่ในแต่ละ การเข้าถึงและเข้าใจระบบการโฆษณา และการสร้างยอดขายหรือจำนวนผู้ชมในแต่ละบริการอีกด้วย ซึ่งด้วยความที่ Social Media แต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า “Guru” เหล่านั้น ในหลายๆครั้ง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในทุกๆด้านของทุกๆ Social Media อย่างแท้จริง
หมดแล้วสำหรับคำฮิตติดปากคนในแวดวงธุรกิจในฉบับนี้ หวังว่าทุกๆท่านคงจะได้เห็นและเข้าใจอะไรใหม่ๆบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในทุกวันนี้ สื่อดิจิตอลไม่ใช่เป็นเพียงของมาแรง แต่เป็นเรื่องที่เราคงจะ “ต้องคำนึงถึง” ไปแล้ว จากการที่พฤติกรรมผู้บริโภคได้หันมาใช้เวลากับ “หน้าจอดิจิตอล” มากกว่า “สื่อที่จับต้องได้” อย่างมีนัยสำคัญ
หากคุณมีคำศัพท์อะไรที่ไม่เข้าใจ หรือเห็น jargon อะไรแปลกๆที่ฟังแล้วตะหงิดหู ส่งเข้ามาหาผมได้เหมือนเดิมนะครับ แล้วพบกันฉบับหน้าครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@flyingcomma.com
twitter: @lertad