Social Graph, Social Media, Social Network
คาดว่าหลายๆคนคงจะได้ชมภาพยนตร์แรงแห่งปีเรื่อง The Social Network ที่ตอนนี้ได้ถูกส่งชิงรางวัลภาพยนตร์ไปมากมายหลายสาขาแล้ว ซึ่งภาพยนตร์ที่นำประวัติความเป็นมาของบริษัท facebook มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นี้ นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่ฉลาดและคมแล้ว เชื่อว่ายังเป็นแรงบรรดาลใจให้ผู้ต้องการบุกเบิกธุรกิจดิจิตอลหลายคน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้คิดย้อนกลับมาเรื่องศัพท์เฉพาะและคอนเซปต์ที่มาพร้อมกับธุรกิจและการตลาดยุคใหม่ที่มากับกระแสโลก ที่ผมเชื่อว่าหลายๆคนยังอาจสับสนหรือไม่แน่ใจว่าแต่ละอย่างมีความแตกต่างกับอย่างไร ได้แก่ “Social Network”, “Social Media”, และ “Social Graph”
คำว่า “Social Network” นั้น จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ทุกวันนี้เราทุกคนต่างรู้ถึงความสำคัญของการรู้จักคน คนรุ่นปัจจุบันจึงมักพยายามไปเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ตั้งแต่การเข้าร่วมอบรมทักษะการประกอบการที่จัดโดยสถาบันภาครัฐหรือธนาคารต่างๆ การสมัครเรียนปริญญาโทในสาขาและสถาบันที่มีชื่อเสียง ไปจนถึงงานสังสรรค์รื่นเริง ทั้งหมดนี้เพื่อจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างพวกพ้อง หรือที่เราหันมาเรียกกันอย่างสุภาพและดูมีภูมิปัญญาขึ้นตามศัพท์ตะวันตกว่า “Networking” หรือ “การสร้างเครือข่าย” ซึ่งเครือข่ายที่เชื่อมต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเข้าไปอีกนี้เอง ที่ได้ถูกบัญญัติมาเป็นคำว่า “Social Network” ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเว็บไซต์สมัยปัจจุบันอย่าง facebook, hi5, twitter หรือของคนไทยอย่าง sanook qq, หรือ friendflock นั้น จริงๆแล้วไม่ใช่ “เว็บไซต์ Social Network” แต่เป็น “เว็บไซต์ที่ให้บริการ Social Network” หรือการที่มีบริการให้ผู้ใช้สามารถกดยืนยันเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันนั่นเอง
ในเมื่อเราเข้าใจแล้วว่า “Social Network” นั้นหมายถึงเครือข่ายของคนที่เชื่อมต่อกัน อีกคำหนึ่งที่ปัจจุบันเราได้ยินกันบ่อยนั้นก็คือ “Social Media”
ผมเห็นหลายคนมักจะสับสนว่าทำไมเว็บไซต์สร้างเพื่อนอย่างพวกเว็บไซต์ Social Network ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นถูกเรียกว่าเป็น Social Media ทั้งๆที่ก็ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนเว็บไต์ดูวีดีโออย่าง YouTube และที่สำคัญ หลายๆเว็บไซต์ก็ไม่เห็นจะมีข่าวสารสาระเหมือนอย่าง “สื่อ” (Media) ที่เรามักจะนึกถึงกัน
ความสับสนนี้มันเกิดขึ้นจากการที่เราอาจจะลืมไปว่าคำว่า “สื่อ” หรือ “Media” นั้นแท้จริงแล้วแค่หมายถึงช่องทางการสื่อสาร หรือเรียกเต็มๆว่า “สื่อสารสนเทศ” โดยที่เรามักจะคุ้นเคยกันกับสื่อย่างรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ และหนังสือพิมพ์ ที่มีรูปแบบในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารของมันขึ้นมา หากเพียงแต่ “สื่อดั้งเดิม” (Traditional Media/Old Media) เหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการถ่ายทอดข้อมูลเพียงด้านเดียวเป็นส่วนใหญ่ คือจากผู้ผลิตสื่อ ถ่ายทอดไปยังผู้ชม จะมีการโต้ตอบระหว่างผู้รับกับผู้สื่อแค่เพียงส่วนน้อยในบางสื่อ เช่น คอลัมน์ตอบรับจดหมายในหนังสือพิมพ์ หรือการโทรศัพท์พูดคุยในวิทยุ เป็นต้น และที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายในการผลิตและขออนุญาตใช้ช่องสัญญาณในการสื่อสารของสื่อดั้งเดิมเหล่านั้นมักจะมีมูลค่าสูง ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะทำได้
ในยุคปัจจุบันที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้ระบบข้อมูลข่าวสารนั้นสามารถถูกส่งได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นธรรมดาที่ปัญหาดังกล่าวได้ถูกแก้ จนเกิดเป็นเครื่องมือที่คนทั่วไปสามารถใช้ในการสื่อสารข้อมูลที่ต่างคนต่างมีให้กันและกันได้อย่างสะดวก กล่าวคือกำเนิด “สื่อ” ที่ผู้ชมนั้นสามารถโต้ตอบและมีส่วนร่วมในการสร้าง “เนื้อหา” (Content) ได้เป็นจำนวนมากและหลากหลายอีกด้วย เช่น เว็บไซต์ Wikipedia.org ที่สนับสนุนให้ผู้ใช้เขียนเนื้อหา สร้าง”สารนุกรมเสรี” ขึ้นมา จนกลายเป็นสารานุกรมที่มีเนื้อหาทั้งหลากหลายและลึกกว่าสารานุกรมที่ผลิตโดยบริษัทดั้งเดิมทั้งหมดทั้งปวง หรือเครื่องมืจำพวก Blog ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ในการถ่ายทอดข่าวสารหรือจะใช้เขียนไดอารี และเปิดให้มีคนเข้ามาเขียนชมโต้ตอบได้ทันที เช่น เว็บไซต์ exteen.com ของประเทศไทย ซึ่งสื่อประเภทใหม่บนอินเทอร์เน็ตเหล่านี้เอง จึงถูกจับกลุ่มมาเรียกว่าเป็น “Social Media”
แน่นอน เมื่อในโลกปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากหันมาใช้เครื่องมือ Social Media ในการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน จึงเป็นโอกาสที่บริษัทต่างๆจะสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการโฆษณาสินค้าและบริการของตนเอง ซึ่งรูปแบบในการทำการตลาดบน Social Media (Social Media Marketing) นั้นก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปอีกเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ให้บริการ Social Media นั้น มักจะมีข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้ที่ละเอียด และมีช่องทางให้บริษัทต่างๆเลือกกลุ่มเป้าหมาย ได้ละเอียดกว่าสื่อดั้งเดิมที่มักจะออกไปในทาง “Mass Marketing” เสียมากกว่า ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้เหล่านี้นี่เอง ที่กำลังถูกพัฒนามาจนกลายเป็นสิ่งที่ถูกเรียกกันว่า “Social Graph”
Social Graph นั้นไม่ได้หมายถึงแค่ชื่อ อายุ เพศ ที่อยู่ ของผู้ใช้ แต่รวมไปถึงว่าผู้ใช้ชอบชมรายการโทรทัศน์อะไร ใช้สบู่ยี่ห้อไหน โดยดูจากสิ่งที่เราพูดคุยกันใน Social Media หรือสิ่งที่เรากดบอกไว้ว่าเราชื่นชอบ หรือนำมาแบ่งปันให้คนอื่นได้ชมไว้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของข้อมูลที่เรียกว่า “Social Graph” นั้น คือนอกจากความล้ำลึกของข้อมูลส่วนตัวเราแล้ว มันยังรวมไปถึงข้อมูลของกลุ่มเพื่อนเราอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ engadget.com ที่เป็นเว็บไซต์ข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์นั้น จะพบแถบที่แสดงให้เห็นว่า ข่าวเรื่องใดกำลังเป็นที่นิยม มีคนพูดถึงเยอะ ซึ่งเก็บรวบรวมจากสถิติของผู้ชมเว็บไซต์ แต่หากปัจจุบันคุณได้ทำการ login เข้าสู่ facebook ไว้แล้ว ถ้าคุณลองสังเกตต่อ จะพบว่ายังมีข้อมูลบอกอีกว่า ข่าวไหนได้รับการกดชื่นชมเฉพาะจากเพื่อนๆของคุณอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะมีคุณค่ากับเรามากกว่า เพราะบางทีเราน่าจะอยากรู้ว่าเพื่อนๆของเราชอบเรื่องใด มากกว่าเรื่องที่คนทั่วโลกทั่วไปที่เราไม่ได้รู้จักกำลังสนใจด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ เรื่องเกี่ยวกับ Social Graph, Social Media, และ Social Network แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและเป็นมิติใหม่ในการสื่อสารของคนยุคปัจจุบัน และยังมีความน่าสนใจอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถพูดได้หมดภายในคอลัมน์เดียว สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษา อยากจะแนะนำให้ลองใช้และค้นคว้าดูได้โดยปราศจากค่าใช้จ่ายหรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำ เพราะถึงแม้มันอาจจะไม่มาทดแทนสื่อดั้งเดิมได้เลยทีเดียว แต่มันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามันจะมามีบทบาทสำคัญ และแย่งชิงส่วนแบ่งผู้ใช้และผู้ชมจากสื่อดั้งเดิมไปแล้วเป็นจำนวนมากจนเกิดการสั่นคลอนกันทั่วโลกมาแล้ว ดังนั้น เราจึงเหลือทางเลือกสองทางครับ ว่าเราจะอยู่ติดกับสิ่งที่เราคุ้นเคยเพียงอย่างเดียว หรือเรียนรู้และต้อนรับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ตามคำพูดที่ว่า
“การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น”
เลอทัด ศุภดิลก (@lertom)
วิทย์ มหาปิยศิลป์
http://www.blocktheworld.com