จากที่ครั้งที่แล้วได้พูดถึงศัพท์การตลาดที่เกี่ยวข้องกับ Social Media โดยเน้น Social Network ที่ดังที่สุดในขณะนี้ ซึ่งก็คือ Facebook แต่การใช้งานของอินเทอร์เน็ตทั้งที่บ้านและที่ทำงาน รวมไปถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสมาร์ทโฟร์น ที่ทำให้ทุกคนสามารถติดต่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลานั้น การทำความเข้าใจถึงโลกของ Social Media Markting ในส่วนอื่นๆที่สำคัญนั้นจึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่
เมื่อกระแสโลกดิจิตอลได้กลายเป็นกระแสหลักของสังคม นักการตลาดจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว ไปอยู่ในที่ที่ผู้บริโภคของตนเองอยู่เช่นกัน ซึ่งเราก็จะเห็นกันผ่านการเติบโตของ Digital Marketing และเป็นที่แน่นอนว่าในโลกใหม่นี้ ก็มีศัพท์เทคนิคใหม่ๆที่เราจะต้องทำความเข้าใจว่าคืออะไร และจะมีความเกี่ยวข้องกับเราในทางใดเช่นกัน โดยครั้งนี้ผมจะยกตัวอย่างผ่านบริการอื่นๆนอกจาก Facebook ครับ
Twitter (ทวิตเตอร์) นั้นมักจะถูกเรียกว่าเป็น Social Network ที่มีผู้ใช้เป็นอันดับสอง แม้ว่าจากที่เคยกล่าวในบทความก่อนๆแล้วว่ามันไม่ได้เป็น Social Network สักทีเดียว โดย Twitter นั้นเป็นเสมือนเครื่องมือในการส่งข้อความขนาดสั้นๆไม่เกิน 140 ตัวอักษรออกไปสู่โลก โดยในการใช้งานนั้น เราสามารถเลือกที่จะติดตามผู้ใช้ต่างๆได้ว่าเขาเขียนข้อความอะไรบ้าง โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Twitter ฮิตมาจนถึงทุกวันนี้ได้ก็คือความสามารถในการเข้าถึง Twitter ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหลากหลายประเภท และการจำกัดจำนวนข้อความให้สั้นๆ บังคับให้ข้อความไม่เวิ่นเว้อ ทำให้ผู้ใช้สามารถติดตามข่าวสารได้ง่าย
Twitter สามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบเว็บไซท์ แอพพลิเคชันบนมือถือสมาร์ทโฟน ซึ่งในทางเทคนิค จึงเรียก Twitter ว่าเป็นเสมือนบริการ (Service) ด้านข้อความเหล่านี้ มากกว่าจะเรียกว่าเป็นเว็บไซท์ ทั้งนี้ ชื่อ User Account ของ Twitter จะถูกนำหน้าด้วยเครื่องหมาย “@” ยกตัวอย่างเช่นตอนที่สมัคร Twitter Account ของผมนั้น ผมใช้ชื่อจริงตัวเองว่า “lertad” แต่ Twitter จะทำการใส่เครื่องหมาย “@” ไปข้างหน้า ทำให้ชื่อ User เราเต็มๆคือ “@lertad” นั่นเอง และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ว่า หากเราเห็นเครื่องหมาย “@” นำหน้าข้อความใดๆก็ตาม เราจะรู้ได้ทันทีเลยว่ามันเป็นชื่อ User Account ของ Twitter นั่นเอง
Tweeting - คำว่า “Tweet” (ทวีต) หรือการ “Tweeting” นั้น หมายถึงการโพสท์ข้อความไปยัง Twitter ซึ่งมีการจำกัดความยาวของข้อความไม่ให้เกิน 140 ตัวอักษร โดยสามารถทวิตลิ้งค์ไปยังรูปภาพ เว็บไซท์ พิกัดสถานที่ และวิดิโอต่างๆ แล้ว Twitter จะทำการแสดงรูปภาพวิดิโอและตำแหน่งบนแผนที่ต่างๆนั้นให้เองได้ด้วย
Retweet — การ Re-Tweet หรือที่เรียกสั้นๆว่า “RT” นั้น เป็นการนำข้อความที่คนอื่นได้ทำการ Tweet ไว้มาโพสท์ซ้ำ ซึ่งเหมือนเป็นการ “Quote” หรืออ้างอิงนั่นเอง อย่างเช่น หากทาง Twitter Account ของ จส100 ทำการโพสท์ข้อความเกี่ยวกับการจราจรที่น่าสนใจ โดย Account ได้ทำการติดตาม จส 100 อยู่ เราก็จะสามารถกด Retweet ข้อความของ จส 100 เพื่อให้เพื่อนที่ไม่ได้ติดตาม จส 100 แต่ติดตามเราอยู่ให้สามารถเห็นได้ คล้ายๆการ “Share” ใน Facebook โดยคนมักจะทำการ Retweet ข้อความที่โดนใจ หรือข่าวสารสำคัญ
Follow — การ Follow นั้น หมายถึงการ “ติดตาม” Account ต่างๆใน Twitter ตามตัวอย่างในข้อที่แล้วที่พูดถึงว่า หากเราต้องการรับข่าวสารและข้อความที่ทาง Twitter Account ของ จส100 ได้คอย Tweet ไว้ เราก็ต้องทำการ “Follow” หรือ “ติดตาม” Twitter Account ของ จส.100 นั่นเอง และเราก็จะกลายเป็น “Follower” ของ จส.100 ซึ่งตัวเลขจำนวน Follower นี้จะปรากฏให้คนทั่วไปสามารถเห็นได้ เป็นเสมือนการจัดลำดับความสำคัญและความน่าเชื่อถือให้กับ Twitter Account
Hashtag — Hashtag นั้นหมายถึงตัวเครื่องหมาย “#” ซึ่งผู้ใช้ Twitter มักจะใช้นำหน้าข้อความที่บ่งบอกถึงเนื้อหาที่ตนเองกำลังพูดถึงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเขียนข้อความเกี่ยวกับน้ำท้วม เราก็จะแปะคำว่า “#น้ำท่วม” ไว้ในข้อความ หรือหากพูดถึงรายการ The Star 8 ก็จะทำการเขียนข้อความตัวอย่างเช่น “ร้องเพราะดีนะ #thestar8” ซึ่งคำว่า “#น้ำท่วม” หรือ “#thestar8” นี้ จะกลายเป็นลิ้งค์ให้คนสามารถกดเพื่อดูข้อความอื่นๆที่มี Hashtag นี้ด้วยเช่นกัน จึงทำให้สามารถหาผู้คนที่พูดถึงในสิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่ได้ง่ายขึ้น นั่นเอง
แม้ว่าจริงๆในปัจจุบัน มี Social Network อื่นๆที่น่าสนใจอย่าง Pinterest, Path, Instagram, และ Google+ แต่เนื่องจากมันยังไม่ได้เป็นกระแสหลักสำหรับคนทั่วไปในประเทศไทย ผมจึงขอเปลี่ยนจากการนำเสนอศัพท์เทคนิคของแต่ละบริษัท มาเป็นศัพท์ที่มีการใช้ทั่วไปในภาพรวมครับ
Check-in — การ “Check-in” นั้นได้ถูกพัฒนาให้ติดตลาดอย่างกว้างขวางโดยบริษัท Foursquare หมายถึงการ “ปักหมุด” ตัวเองเวลาเราไปอยู่สถานที่ต่างๆ เช่นเวลาเราไปร้านอาหารที่เราชอบ หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด เราก็จะสามารถทำการ “Check-in” ในสถานที่นั้นๆ ผ่านระบบ GPS เป็นเหมือนการบันทึกและการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งใน Foursquare นั้น หากไม่มีสถานที่ที่เราอยู่ เราก็จะสามารถสร้างสถานที่ต่างๆนั้นขึ้นมาได้เอง ทำให้ Foursquare ได้กลายเป็นผู้ให้ข้อมูลตำแหน่งสถานที่ต่างๆบนแผนที่ที่ใหญ่และครบถ้วนที่สุดในโลกไปแล้ว และในปัจจุบัน ทุก Social Network จะต้องมีบริการการผูกสถานที่หรือการ Check-In เข้าไป อย่างเช่น Facebook Places หรือการแนบข้อมูลสถานที่ไปกับรูปภาพ
Feeds — คำว่า “Feed” นั้นแผลงมาจากความหมายเดิมที่หมายถึงการ “ป้อน” โดยเปลี่ยนมาเป็นมุมของการ “ป้อนข้อมูล” แทน ยกตัวอย่างเช่น จากที่ได้พูดถึงการ Follow ผู้คนต่างๆใน Twitter นั้น เมื่อเราเข้าหน้าแรกของ Twitter เราก็จะเห็นข้อความต่างๆที่ทุกคนที่เรา Follow ได้เขียนไว้ เรียงตามลำดับเวลา ซึ่งหน้าข้อความนี้เรียกได้ว่าเป็นการ “Feed” ข้อความจาก Twitter Account ของแต่ละคนเข้ามา หรือใน Facebook หน้าหลัก ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “News Feed” ซึ่งมีข้อความจากเพื่อนๆของเราอยู่
ทั้งนี้ ระบบ Feed นั้นได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ระบบการเขียนข้อความ (publishing) ที่เรียกกันในทางเทคนิคว่า Blog ซึ่งเป็นระบบที่ทุกเว็บไซท์ใช้ในการทำข้อความ เพราะสามารถทำให้เนื้อหาของตนเองรับการ Feed ไปยังที่ต่างๆได้ ดังนั้น เวลาเราใช้เว็บไซท์ หรือแอพพลิเคชันมือถือที่มีเนื้อหาหรือข่าวสารต่างๆที่มาจากสำนักงานหลายๆที่ เราสามารถเดาได้เลยว่าได้ใช้ระบบ Feed ดึงข้อมูลมาโดยอัตโนมัติอยู่นั่นเอง
Alerts/Notifications — Alert หรือ Notification นั้น หมายถึงข้อความ หรือระบบการแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ โดยระบบ Notification ของ Facebook ที่แจ้งเราเมื่อมีคนทำการสื่อสารกับเรา และระบบ Notification ของสมาร์ทโฟน นั้นเป็นเหตุผลสำคัญให้คนสนใจการทำ digital marketing เพราะสามารถเตือนและส่งข้อความไปยังผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้ทันที ไม่เหมือนอีเมลล์ที่ต้องรอให้ผู้ใช้เปิดเข้ามาอ่านข้อความ
Deal — ระบบ Deal นั้น ได้ถูกพัฒนาและกลายเป็นธุรกิจใหญ่ทั่วโลกโดยบริษัท Groupon เป็นโมเดลธุรกิจที่ใช้การขอส่วนลดในปริมาณสูงจากร้านค้าต่างๆ โดยใช้การสัญญากับร้านค้าว่า หากไม่สามารถสร้างจำนวนลูกค้าได้ในปริมาณที่ได้ตกลงไว้เป็นการตอบแทน ร้านค้าจะสามารถยกเลิกส่วนลดที่เคยให้ไว้ได้ โดยบริษัท Deal นี้ก็จะเอาส่วนลดนี้มาขายผ่านเว็บไซท์หรือแอพพลิเคชันมือถือของตนเอง ซึ่งจากการที่ส่วนลดเหล่านี้เป็นจำนวนที่สูงกว่าที่ผู้บริโภคทั่วไปจะสามารถหาได้หากไปหาร้านค้าด้วยตนเองเพียงคนเดียว จึงทำให้มีปริมาณคนซื้อ Deal มากเกินจำนวนขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยในไทยนั้น บริษัท Deal ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ Ensogo นั่นเอง
Meme — คำว่า Meme หรือ “มีม” นั้น หมายถึงพวกรูปภาพ วิดิโอ หรือข้อความต่างๆที่เป็นเหมือนพวกศัพท์ฮิต หรือมุกเฉพาะ (Inside Joke) ของชาวอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะถูกทำการทำซ้ำหรือดัดแปลงอย่างซ้ำๆ ยกตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์ “ครูอังคณา” หรือคำว่า “เอาอยู่” ที่ฮิตกันในโลก Social Network นั่นเอง ซึ่งหากคุณใช้ Facebook ก็จะต้องเคยเจอสองข้อความนี้อย่างแน่นอน แต่หากยังไม่เข้าใจ ท่านสามารถเข้าไปดู Meme ต่างๆได้ที่ 9GAG.com หรือ Facebook Page “9GAG in Thai” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเล่น Meme ที่แพร่หลายอย่างมาก โดยมีเว็บไซท์ที่ทำหน้าที่ในการอธิบาย Meme ต่างๆโดยเฉพาะ ชื่อว่า knowyourmeme.com.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผมจะได้ยกศัพท์ต่างๆที่ฮิตๆและสำคัญๆมาอธิบายให้ท่านแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านเข้าใจได้จริงก็คือการลองใช้ครับ ซึ่งผมมองว่าจากกระแสโลกแล้ว เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ท่านจะต้องทำความเข้าใจโลกของ Social Media หากธุรกิจของท่านจะต้องมีการขายไปยัง Consumer ท่านจึงไม่สามารถมองเรื่องของ Social Network หรือสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยหรือเรื่องเสียเวลาได้อีกต่อไป เพราะมันจะกลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และร้านอาหารสำหรับนัดพบในโลกยุคต่อไปครับ
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยอะไร สามารถติดต่อผมได้ผ่านช่องทางต่างๆเช่นเดิมครับ
เลอทัด ศุภดิลก
twitter: @lertad
e-mail: lertad@flyingcomma.com
–-