SoLoMo
SoLoMo เป็นศัพท์ที่ถูกบรรยัติขึ้นมาเพื่อใช้พูดถึงเทรนด์ใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในโลกของเทคโนโลยีในปัจจุบันว่ากำลังมุ่งไปในทศทางใด ซึ่ง SoLoMo นี้จริงๆเป็นคำเก๋ๆที่ย่อมาจากคำสามคำด้วยกัน อันได้แก่ Social, Location, และ Mobile นั่นเอง
นาย John Doerr แห่งบริษัทนักลงทุน Kleiner Perkins ผู้ที่เป็นผู้เริ่มบัญญัติศัพท์ “SoLoMo” นี้ขึ้นมานั้นจึงมอง “SoLoMo” เป็นเทรนด์ระดับ ใหญ่ยุคที่สามของการปฏิวัติเทคโนโลยีเลยทีเดียว ต่อจากคลื่นยุคแรกที่เป็นยุคของการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC หรือ Personal Computer) แพร่หลายไปทั่วโลก และยุคที่สองที่เป็นยุคของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถส่งและรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว โดย “SoLoMo” นี้เป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหญ่สามอันคือ
Social - พฤติกรรมการทำอะไร “ร่วมกัน” กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูลให้คนอื่น การร่วมกันซื้อคูปอง หรือการเชื่อมต่อกันเพื่อส่งรูป ข้อมูลข่าวสาร อย่างแนบแน่นกับเพื่อนและครอบครัว
Location - พฤติกรรมการค้นหาและใช้ข้อมูลโดยคำนึงถึงสถานที่ที่อยู่ ตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึง เมือง เขต หรือแม้กระทั่งซอย รวมไปถึงการค้นหารายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆที่อยากไปหรือได้ไปมา
Mobile - การลดขนาดของเทคโนโลยีจนทำให้เราสามารถมีคอมพิวเตอร์ระดับพกพาติดตัวได้ตลอดเวลา ในรูปแบบของสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเทคโนโลยีอื่นๆที่ซ่อนอยู่ตามชีวิตประจำวันเรามากขึ้นทุกวัน
เทรนด์ “SoLoMo” นี้มีจุดกำเนิดมาจากการแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้เรามีวิถีชีวิตที่ติดต่อกับคอมพิวเตอร์และอินเทร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา และพึ่งพาอาศัยข้อมูลเฉพาะพื้นที่ยิ่งขึ้นมากกว่าเวลาหาและใช้ข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราค้นหา “ร้านก๋วยเตี๋ยว” บนคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เราอาจจะต้องการหาร้านที่อร่อยๆในกรุงเทพโดยไม่คำนึงถึงว่าจะตั้งอยู่ที่ใดนัก เพราะเป็นการหาข้อมูลเพื่อเตรียมเดินทางไปในอนาคต แต่หากเราค้นหาจากมือถือแล้ว อาจเป็นการค้นหาเพื่อหาร้านที่ใกล้เคียงกับที่ๆเรายืนอยู่ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้ เพราะ Google หรือ Search Engine อื่นๆสามารถรู้ตำแหน่งเราได้จากเทคโนโลยีชิพ GPS ที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนปัจจุบันทุกเครื่อง หรือเรียกได้ว่า เมื่อเทคโนโลยีที่เราใช้ “Mobile” มากขึ้น จึงทำให้เกิดตลาด “Local” จากการที่ “Location” มีความสำคัญมากขึ้นนั่นเอง
พฤติกรรมในการใช้และหาข้อมูลของคนเราที่เริ่มต้องคำนึงถึง Location มากขึ้นนี้ถือว่าเป็นวิธีคิดที่ต่างไปจากเทคโนโลยียุคก่อนๆอย่างมาก แต่เป็นไปตามเทรนด์ที่ความสามารถของเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าและบริการถูกออกแบบมา “สำหรับเราโดยเฉพาะ” (customized) มากขึ้น ซึ่งสนองไปกับพฤติกรรมของคนยุคใหม่ที่มีความเป็นปัจเจก ชอบอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
เรียกได้ว่าหากเทรนด์เทคโนโลยียุคแรกคือ “คอมพิวเตอร์” ที่เกิดจากการลดลงของต้นทุนในการผลิตคอมพิวเตอร์ เทรนด์ยุคสองคือ “อินเทอร์เน็ต” ที่ทำให้เกิดความสามารถในการส่งและรับข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ในทันทีแล้ว เทรนด์ “SoLoMo” ยุคสามนี้ก็คงจะเกี่ยวข้องกับโอกาสที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์สื่อสารพกพาอย่าง iPhone, Android ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook และการค้าระดับพื้นที่ (local) ที่ย้ายมาทำกันบนโลกดิจิตอล เช่น Ensogo ผู้ซึ่งทำให้คนค้นพบร้านค้าใหม่ๆในเมืองของตนเองอย่างมากมาย
ทีนี้ ในฐานะของนักธุรกิจและนักการตลาดแล้ว เราคงจะต้องถามตนเองว่า เทรนด์ “SoLoMo” นี้สามารถช่วยในงานของเราได้อย่างไรบ้าง ซึ่งคำตอบนี้คงจะพบได้ด้วยการเริ่มทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากเทรนด์แตละเทรนด์นี้ก่อน
Social - คำว่า “Social” นี้ หมายถึงพฤติกรรมของคนที่ชอบออกความเห็นของตนเองและชอบหาและฟังความเห็นของคนอื่น ทั้งคนที่ตนเองรู้จักและความเห็นส่วนรวมของหลายๆคน ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้คนเราสามารถแสดงความเห็นได้ง่ายขึ้น หลากหลายขึ้น เช่น การให้ดาว ให้คะแนน การเขียนรีวิว หรือการกดไลค์ และมีความสนุกเพราะสามารถเห็นว่าคนอื่นนั้นได้ประโยชน์จากความเห็นเรามากน้อยเพียงใด ทำให้คนอย่างออกความเห็นผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้คนในยุคนี้ ตัดสินใจที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ จากการอ่านรีวิวหรือคะแนนจากเว็บไซท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Foursquare, หรือเว็บไซท์ที่ขายสินค้าเองอย่าง Lazada, Zalora เป็นต้น
Mobile - หน้าที่ของนักการตลาด คือการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในอดีต นักการตลาดมีช่องทางการสื่อสารผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือป้ายตามสถานที่ต่างๆ แต่ในยุคปัจจุบันนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคใช้รับข้อมูลข่าวสารมากที่สุดไม่ใช่ช่องทาเหล่านั้นแล้ว แต่เป็นอุปกรณ์สื่อสารพกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เขาพกพาอยู่ตลอดและนั่งดูอยู่ทั้งวันนั่นเอง
Local - จากการที่ผู้บริโภคสมัยนี้ต่างคนต่างมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตติดตัวอยู่ตลอดเวลา และอุปกรณ์ทุกตัวเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีอุปกรณ์ GPS อูย่ในเครื่องเพื่อบ่งบอกสถานที่ที่อุปกรณ์นั้นอยู่แล้ว ทำให้หลายแอพพลิเคชันในอุปกรณ์เหล่านั้นสร้างความสามารถใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่มากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากความสามารถพื้นฐานอย่างการบอกทางในแผนที่แล้ว ก็มีพฤติกรรมใหม่ๆอย่างการ check-in ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อบ่งบอกว่าเราได้มาที่นี่แล้ว หรือการหาร้านค้าร้านอาหารในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตนเองอยู่ หรือแม้กระทั่งการแชร์รูปภาพโดยบ่งบอกว่าได้ถ่ายไว้ที่ไหน ซึ่งจากสถิติล่าสุดจากสถานบัน Pew Institute พบว่า กว่า 74% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน ได้มีการใช้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เหล่านี้เลยทีเดียว
เมื่อรวมกันแล้ว ตัวอย่างคำตอบของโอกาสที่เกิดจาก “SoLoMo” ที่เห็นง่ายๆอย่างแรกคงจะเป็นเรื่องของการ “targeting” กลุ่มลูกค้าที่ทำให้เราามารถเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น ที่นอกจากจะเจาะจงกลุ่มคน (demographics) ได้เฉพาะและถูกจุดแล้ว ยังสามารถส่งได้ถูกที่และถูกเวลาได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นผู้ขายขนมชอคโกแลต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานออฟฟิศ เราสามารถเลือกที่จะยิงข้อเสนอโปรโมชันหรือโฆษณา เฉพาะถ้าลูกค้าได้ทำอะไรบางอย่างอย่างเช่นการ “check-in” ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งทำให้เรารู้ว่าปัจจุบันเขาอยู่ใกล้ร้านสะดวกซื้อที่มีการจัดจำหน่ายขนมของเรา และทำในช่วงเวลาบ่ายๆซึ่งเป็นช่วงที่พนักงานออฟฟิศกำลังหิวและหาของกินรองท้องอยู่ เป็นต้น
เรียกได้ว่า เทคโนโลยีและเทรนด์ “SoLoMo” ในปัจจุบันนั้น ทำให้เราสามารถรู้และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่จะทำให้เขามีโอกาสที่จะซื้อสินค้าและบริการของเราแล้วนั่นเอง
บางบริษัทไม่ได้เพียงแค่ใช้โอกาสจากบริการต่างๆในทางการตลาด แต่เลือกที่จะสร้างสินค้าใหม่ๆเพื่อรองรับเทรนด์ “SoLoMo” นี้เลย ยกตัวอย่างเช่น Nike ผู้ผลิตแอพ “Nike Plus” เพื่อใช้ในการวัดปริมาณการออกกำลังกาย เช่น จำนวนกิโลเมตรที่วิ่ง รวมไปถึงสถานที่ที่วิ่ง และความสามารถในการแชร์ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเทียบกับเพื่อนฝูง ทให้ประสบการณ์การออกกำลังกายสนุกขึ้น และผู้ใชก็จะผูกพันกับแบรนด์ Nike ในฐานะแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและออกกำลังกายที่ทันสมัย รวมไปถึงยอดขายจากการที่ Nike ออกผลิตภัณฑ์รองเท้ารุ่นพิเศษ ที่มีการฝังชิพ Nike Plus เข้าไปในรองเท้า เพื่อให้เก็บข้อมูลได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ “SoLoMo” ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น นอกจากจะส่งผลต่อยอดขายแล้ว ยังส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งทำให้ “customer engagement” ของลูกค้าต่อแบรนด์มีมากขึ้น หรือพูดง่ายๆว่าลูกค้า “ติดแบรนด์” เรามากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เขา “แชร์” สิ่งดีๆเกี่ยวกับเราในโลก social ของเขา และทำให้เพื่อนของเขาสนใจแบรนด์เราในมุมมองที่ดีขึ้น จากคำแนะนำของเพื่อนเขา เรียกได้ว่า ในที่สุดนักการตลาดก็จะสามารถมีทางสร้าง “word of mouth” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการต่างๆของผู้บริโภค
ในยุคที่มีข้อมูลมากขึ้นอย่างในปัจจุบัน เป็นทั้งงานที่เพิ่มขึ้นของนักการตลาด และโอกาสมหาศาล เพราะการที่จะขายของหรือทำการตลาดกับผู้บริโภคได้สำเร็จแล้ว เราย่อมจำเป็นที่จะต้อง “เข้าใจ” เขาก่อน ซึ่งในยุคปัจจุบันที่มีช่องทางให้ผู้บริโภค “พูดถึง” สินค้าและบริการของแบรนด์เราอยู่มากมาย ย่อมหมายความว่านักการตลาดมีช่องทางให้ “ฟัง” ผู้บริโภคเหล่านั้นได้มากขึ้น และลึกขึ้นกว่าเมื่อก่อน
ความ “Social” และเทรนด์ “SoLoMo” นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารถหยุดได้ ผู้บริโภคต่างคาดหวังที่จะสามารถแสดงความเห็นของตนเองให้คนอื่นรับทราบ รวมไปถึงต้องการการตอบรับจากแบรนด์ในพื้นที่ต่างๆที่เขาได้แสดงความคิดเห็นนี้ไว้ ในสมัยนี้จึงไม่ใช่สมัยที่จะสามารถกลบข่าวหรือเซ็นเซอร์อะไรไม่ดีที่เกิดขึ้นได้ นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจทุกคนจึงจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดให้สามารถต้อนรับความเห็นในทางลบให้เป็น และหาทางสนับสนุนควมคิดเห็นในทางบวกให้มีมากขึ้นนั่นเอง เพราะผู้บริโภคจะแสดงความเห็นก็ต่อเมื่อเขาเจออะไรที่ผิดหวังมาก หรือถูกใจมากๆเท่านั้นครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@flyingcomma.comwebsite: http://lertad.com
twitter: @lertad