Startup - คนไทย ต้องทำได้
ธุรกิจยุคใหม่ คือยุคของ “Startup” ครับ
Startup นั้นเป็นคำที่เรียกกันย่อๆมาจากคำว่า “Tech Startup” โดย “Tech” ในที่นี้หมายถึง “Technology” หรือ “เทคโนโลยี” อันว่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือวิธีการทำงาน ส่วน “Startup” นั้นหมายถึงบริษัทที่ “พึ่งเกิดใหม่” ขึ้นมา
ตัวอย่างของ “Startup” ชื่อดังที่ใครๆก็คงรู้จักก็คือ Facebook, Instagram, และ Twitter ที่ใครต่อใครต่างก็ต้องเคยได้ยินหรือใช้อยู่ทุกวัน บริษัทเหล่านี้มีอายุไม่ถึงสิบปี แต่กลับถูกตีมูลค่าเป็นบริษัทหลายพันหรือหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ในประเทศไทยเอง หลังจากที่ในอดีตคนที่หลงไหลเรื่องเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ตและอยากทำมันเป็นอาชีพนั้นจะต้องไปเป็นพนักงานในฝ่ายดีไซน์หรือฝ่ายเขียนโปรแกรมในบริษัทที่ทำงานหลักด้านอื่น หรือไม่ก็เปิดบริษัทเอเยนซี่หรือซอฟท์แวร์เฮ้าส์เพื่อสร้างสรรค์งานให้บริษัทอื่นๆ (enterprise clients) แล้วนั้น เรากลับได้เห็นค่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ทั้ง True, AIS, และ dtac เข้ามามีโครงการสนับสนุนให้เกิด Startup ในประเทศไทยขึ้นมา
คำถามคือ เมื่อก่อน บริษัทอย่าง Xerox, Microsoft, Apple เองก็คงจะต้องเรียกได้ว่าเคยเป็น Startup มาก่อน แล้วทำไมคำๆนี้กลับไม่ได้แพร่หลายมาก่อนหน้านี้?
คำตอบง่ายๆน่าจะเป็น “อินเทอร์เน็ต” ครับ
ในฐานะของคนที่ติดตามวงการนี้ในต่างประเทศมานาน และเริ่มเข้ามาสู่วงการนี้ในประเทศไทยแล้ว ในความคิดของผม Startup ไม่ใช่การสร้างเว็บไซท์ การสร้างแอพ หรือการสร้างสินค้า (product) อย่างใดอย่างหนึ่งแต่มันคือการสร้างโมเดลธุรกิจ (business model) และธุรกิจที่เหมาะสมที่จะเรียกว่าเป็น Startup ของจริงนั้นจะต้องมีความสามารถในการ “scale” ได้อย่างยั่งยืน
คำว่า “scale” นี้หมายถึงการ “เติบโต” โดยเป็นการโตแบบใช้ product และ business model เดิมในการทำซ้ำในตลาดต่างๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศและทั่วโลก หากจะให้เปรียบเทียบกับธุรกิจทั่วไป เมื่อคุณสร้างเก้าอี้มาหนึ่งตัว หรือร้านขายของชำหนึ่งร้าน คุณก็จะมีความสามารถในการเสนอขายให้กับคนเพียงจำนวนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้สิ่งของเหล่านั้นเพราะข้อจำกัดทางด้านกายภาพที่มากับสิ่งของที่จับต้องได้
แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต คนอย่าง Mark Zuckerberg กลับสามารถเขียนเว็บ Facebook อยู่ที่สหรัฐอเมริกา แล้วนำเสนอให้คนทั่วโลกใช้ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องไปนั่งสร้าง Facebook ตัวใหม่ให้กับผู้ใช้ทุกคน หรือประเทศทุกประเทศ ซึ่งความสามารถในการ “scale” นี้เองคือสิ่งมหัศจรรย์ที่เป็นผลพลอยได้มาจากยุคของอินเทอร์เน็ตและการแปลงข้อมูลข่าวสารทั้งหมดมาสู่ความเป็นดิจิตอล
วันก่อนผมได้มีโอกาสไปพูดงานเดียวกับทางคุณโน้ต เฉลิมยุทธ ผู้ก่อตั้งบริษัท Fastinflow ซึ่งเป็น Startup ไทยที่ชนะโครงการ dtac Accelerate คว้าโอกาสเดินทางไป Silicon Valley เพื่อเข้าร่วมโครงการ Blackbox เพื่ออบรมและบ่มเพาะธุรกิจโดยเฉพาะ หลังจากที่ได้เล่าประสบการณ์และบรรยากาศที่เขาได้พบที่ Silicon Valley แล้วนั้น คุณโน้ตได้ทิ้งประโยคไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้และอยากจะฝากไว้กับคนไทยทุกคนก็คือ “Internet is The Endless Opportunity” หรือ “อินเทอร์เน็ต” คือโอกาสที่ไร้สิ้นสุด
อินเทอร์เน็ตคือเทคโนโลยีย่อโลก เพียงไม่กี่วินาที คุณสามารถส่งรูปให้คนทุกคนได้ทั่วโลก ประกาศข้อความให้คนข้ามทวีปได้อ่าน ต่างจากสมัยก่อนที่ไม่มีทางได้เลยที่คนไทยอย่างเราจะสามารถผลิตอะไรขึ้นมาแล้วนำไปขายในประเทศอื่นได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ลองคิดดูนะครับ สมัยก่อน แค่เราปั้นธุรกิจขึ้นมาหนึ่งตัวก็อยากแล้ว แต่การที่เราจะบุกตลาดต่างประเทศนั้น กว่าเราจะสร้างเครือข่ายในประเทศนั้น เรียนรู้ข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ต้นทุน แรงงาน ฯลฯ ก็ใช้เวลาในการเติบโตนานมาก ทำไปทำมาคนในประเทศเหล่านั้นก็อาจจะลอกระบบของเราไปทำก่อนเรียบร้อย ยิ่งประเทศยิ่งห่างไกลยิ่งไม่ต้องพูดถึง กว่าเราจะไปถึงได้นี่เขาคงได้ทำมันไปนานแล้ว ขนาดตลาดของประเทศเราก็ไม่ได้ใหญ่เมื่อเทียบกับทั่วโลก เรียกได้ว่าหากคิดนวัตกรรมได้แต่อยู่ในไทย ก็เป็นกรรมที่อาจจะโตได้ไม่เกินขนาดตลาดของไทยมากนัก
แต่ในยุคนี้ รางวัลของการทุ่มเทนั้นมีอยู่มหาศาล เพราะหากคุณสามารถสร้าง Startup ที่ดีจริงได้ขึ้นมา ตลาดที่จะตอบรับคุณจะไม่จบแค่ในไทย เพราะเพียงแค่คุณปรับภาษา และทำการโฆษณาออนไลน์ ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงประเทศต่างๆต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ต่างกับสมัยก่อนดิจิตอลโดยสิ้นเชิง
ในโอกาสที่ประเทศไทยเริ่มจะพอมีอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพได้แล้วนั้น จึงเรียกได้ว่า Startup คือโอกาสใหม่ที่คนไทยจะได้โลดแล่นในตลาดโลกอย่างทัดเทียมขึ้นกว่าในอดีตที่เคยเป็นมา
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เรามีโอกาสเข้าไปสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้นนั้น โลกก็มีโอกาสเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
เมื่อวัฒนธรรมพวกพ้องเพื่อนฝูงกลับไม่ถูกแปลงออกมาในภาษาดิจิตอล เราทุกคนก็เลยต้องใช้ Facebook ของสหรัฐอเมริกา
เมื่อไม่มีใครบุกทำ e-commerce ยุคใหม่อย่างจริงจังต่อจาก tarad.com และ weloveshopping.com ส่วนแบ่งตลาดของเว็บ Online Retailer จึงตกไปอยู่กับ Zalora และ Lazada ของบริษัทเยอรมัน
ประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่ควรจะถูกมองเป็นโอกาส ทั้งเกษตรกรรม ที่เรายังไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้ชาวไร่ชาวนาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นผู้ประกอบการได้มากขึ้น หรือเรื่องใกล้ตัวอย่างการขนส่งมวลชน ทั้งระบบรถเมลล์ หรือการเรียกแท็กซี่
ที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทำอย่างจริงจัง จนอีกไม่นานเชื่อว่า Startup ที่เริ่มประสบความสำเร็จเรื่องนี้แล้วในเมืองนอกก็คงจะเข้ามาทำแทนเราเอง
ในโลกธุรกิจ กลยุทธ์การแข่งขันก็มีอยู่แค่สองอย่าง คือ “แตกต่าง(ด้วยนวัตกรรม)” กับ “ลดต้นทุน” ในยุคที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การค้าเสรีใน AEC หากเรามองตัวเองแล้วคงจะต้องยอมรับว่าเราไม่ได้สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนได้เลย ค่าแรงเราต่ำแต่ต่ำสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ และก็ไม่ได้เก่งเรื่องจะมาคิดเทคโนโลยีเพื่อช่วยในส่วนนี้ได้ ยังโชคดีที่คนไทยเราเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ และพอจะมีศักยภาพที่จะผันตนเองเป็นนักสร้าง การที่เราจะไปรอดในโลกปัจจุบันที่เป็น “Creative Economy” นั้น การหันมาทำ Startup จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกยุคต่อไป
ผมเชื่อว่าความฝันในโลกนี้คงจะไม่ได้มีแค่การอยากเป็นนักร้อง…
หากคุณฝันอยากเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ที่จะสร้างงานให้คนดูเป็นหมื่นเป็นล้าน…
หากคุณฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่พัฒนาซอฟท์แวร์ที่ทันสมัยและถูกใช้จริง…
หากคุณฝันอยากสร้างธุรกิจที่แพร่หลายไปทั่วโลก…
อย่ามัวแต่ฝัน อย่ามัวแต่อยาก อย่ามัวแต่เก็บไอเดียไว้ในหัวแล้วบอกตัวเองว่าเด็ดแต่กลับไม่กล้าทำจริง…
โลก Startup และประเทศไทยกำลังต้องการคุณครับ
Tech Startup…คนไทยก็ทำได้ และคนไทยต้องทำได้
ผมขอเปิดคอลัมน์นี้ เพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของโลก Startup ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นองค์ความรู้และแรงบรรดาลใจ ให้คนไทยหัวใจ Startup ทุกคนนะครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@flyingcomma.comwebsite: http://lertad.com
twitter: @lertad