ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบทความของทางบริษัท Gartner ซึ่งเป็นบริษัท IT
Consulting ชื่อดังระดับโลก โดยเป็นบทความที่ถูกเขียนในเชิงสนุกสนานเกี่ยวกับ buzzwords
หรือ business jargon ที่เขาเห็นว่าเริ่มฮิตและได้รับความนิยมในปีนี้
ซึ่งด้วยความที่เนื้อหาประเภทนี้เกี่ยวข้องกับคอลัมน์นี้โดยตรงอยู่แล้ว
ผมจึงอยากหยิบคำที่ตัวผมเองก็ได้ยินเล็ดลอดออกมาอยู่บ่อยๆมาแปลและวิเคราะห์กันในที่นี้นะครับ
at
the end of the day… -
จริงๆปกติแล้วผมจะไม่ค่อยหยิบวลีที่เป็นเชิงภาษามากกว่าเชิงธุรกิจมาเขียน
แต่เนื่องด้วยประโยคนี้มีคนเคยถามผมเข้ามาเยอะเหมือนกัน พอมาเจอในคอลัมน์ของ Gartner
เลยถือโอกาสหยิบเข้ามาอธิบายต่อ โดยประโยค “at the end of the day” นี้แปลว่า
“โดยสรุปแล้ว” นั่นเอง ความหมายจะเป็นในเชิงว่า ในแต่ละสิ่งที่เราต้องทำในบริษัทนี้แล้ว
สุดท้ายแล้ว ผลที่ได้รับ หรือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญจริงๆคืออะไร คล้ายๆกับที่ผ่านมาที่คนชอบใช้คำว่า
“the bottom line” เป็นการหมายถึงผลกำไรขั้นสุดท้าย
ทั้งนี้
ประโยคนี้มักจะถูกใช้เมื่อมีการพูดคุยหรือประชุมกันมาระดับหนึ่งแล้วจนเหมือนมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ตีกัน
คนที่คุมประชุมหรือผู้นำจึงอาจจะแทรกขึ้นมาว่า “at the end of the day…what we have
to do is sell more products” เพื่อเป็นการรุปและเรียกสมาธิกลับมาที่ประเด็นสำคัญ
ideate
- ideate นี้เดาไม่ยากครับ เป็นการแผลงศัพท์ เอาคำนามมาเป็นคำกริยา จาก “idea”
กลายมาเป็น “ideate” จนกลายเป็นการใช้ทียอมรับกัน หมายถึงการออกไอเดีย ออกความเห็น
โดยเน้นในเรื่องของการระดมความคิดเห็น หรือการทำ “brainstorming” ในทีม
จึงมักจะถูกใช้เมื่อคนพูดต้องการจะบอกว่า “เราต้องคิดเรื่องนี้กันมากกว่านี้อีกนะ” นั่นเอง
see
what sticks - คำว่า “see what sticks” นี้ต่อยอดมาจาก “ideate”
คือบางทีเรามีแนวความคิด ไอเดีย หรือเครื่องมือทางการตลาดที่เยอะ
และเราอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าวิธีใดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
อาจเพราะทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีข้อมูลตัวอย่างให้อ้างอิง การ “see what sticks”
นี้จึงหมายถึงการทดลองให้ครบทุกอย่างแล้วดูว่าวิธีไหน “ใช้งานได้” ดีที่สุด
เปรียบเสมือนการโยนก้อนอะไรบางอย่างใส่กำแพง แล้วดูว่าก้อนไหนยังติดอยู่ที่กำแพงบ้าง
แล้วอันไหนตกออกไป ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งผมคิดว่าคำนี้อาจจะมาจากหนังสือการตลาดที่ฮิตที่ชื่อว่า
“Made to Stick” ที่เป็นการพูดถึงแคมเปญการตลาดที่ “stick” หรือ “ติด”
อยู่ในหัวของผู้บริโภคครับ
take
it offline - ฟังผิวเผินแล้ว คำว่า “take it offline”
อาจจะหมายถึงว่าให้คุยกันในชีวิตจริงแทนที่จะผ่านแชทหรือวิธีการณ์ online ต่างๆในอินเตอร์เน็ท
ซึ่งคำนี้ก็คงจะมีที่มาที่ไปแบบนี้จริงๆ แต่ในปัจจุบันคำนี้มักจะเป็นการสื่อว่า ให้เอาเรื่องนี้ไป
“คุยกันทีหลัง” โดยมักจะใช้ในที่ประชุม
เวลามีประเด็นหรือเรื่องคุยที่มีบางฝ่ายต้องตกลงเจรจากันต่ออย่างละเอียดและยาวนาน
แต่ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายๆอื่นๆในที่ประชุมจะต้องรับรู้หรือคิดด้วย
หัวหน้าที่ประชุมจึงอาจบอกให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องนี้ไป “take it offline”
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาของฝ่ายอื่นๆในที่ประชุม
ping - “ping” นี้ก็เป็นศัพท์ slang อีกหนึ่งคำที่มีที่มาจากโลกคอมพิวเตอร์
โดยการ ping ในทางเทคนิกทางด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ทนั้น
เป็นการยิงสัญญาณไปที่เซิฟเวอร์หรือเว็บไซท์เพื่อตรวจสอบความเร็วว่า
สัญญาณนั้นใช้เวลาในการเดินทางไปยังจุดหมายและย้อนกลับมาเมื่อไหร่
โดยในโลกทั่วไปที่ฮิตใช้กันในัจจุจับันนี้ คำว่า “ping” มักจะหมายถึง “การติดต่อ” อาจผ่านทาง
e-mail หรือ sms เช่น “I’ll ping you later” ดังนั้นหากท่านได้ยินใครพูด
ไม่ต้องตกใจว่าเป็น app หรือเว็บไซท์อะไรใหม่ๆที่เราไม่ได้ใช้ครับ
black
swan - ก่อนที่จะมีภาพยนตร์รางวัลออสการ์ Black Swan ที่นำแสดงโดย Natalie
Portman นั้น คำว่า “black swan” นั้นเป็นแนวคิดสำคัญอันเกิดมาจากหนังสือที่ชื่อ “Black
Swan” ที่ถูกเขียนโดย Nassim Nicholas Taleb
โดยเป็นการยกทฤษฎีและพิสูจน์แนวความคิดว่ามนุษย์เราชอบพยายามคาดการณ์และจัดการความเสี่ยง
(manage risk)
ทั้งๆที่อดีตได้พิสูจน์แล้วว่ามักจะมีเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นจนทำให้แผนที่วางไว้เสียอยู่เสมอ
แต่มนุษย์เราก็ยังมักที่จะมองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์เหล่านั้นและหาคำอธิบายต้นเหตุของการเกิดที่ง่ายเกินความเป็นจริง
เพื่อบอกตัวเองว่าจริงๆแล้วเรายังสามารถคาดการณ์อนาคตได้อยู่ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้ถูกเรียกว่า
“black swan event”
“Black
swan event”
นี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแต่กลับส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์มนุษย์มากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆในชีวิตประจำวัน
เช่น การเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ท และการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์
อันอยู่นอกเหนือจินตนาการของมนุษย์ส่วนใหญ่ แต่ได้ปฏิวัติวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกๆด้าน
รวมไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 เหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา และเหตุการณ์ sub-prime
crisis ในตลาดหุ้น ที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะเกิด
แต่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกินเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เหตุผลที่ใช้คำว่า “black swan” หรือ “ห่านดำ” นั้น เพราะว่าเมื่อก่อนนี้
คนในโลกไม่เคยทราบว่าห่านมีสีอื่นนอกจากสีขาว
จนกระทั่งอยู่ดีๆก็มีคนไปเจอมันเข้าในประเทศออสเตรเลีย จนต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่
จากที่เมื่อก่อนเวลาพูดถึงห่านจะเรียกแค่ว่า “ห่าน” หรือ “swan” แต่ในปัจจุบัน
อาจต้องอธิบายด้วยว่าเป็น “white swan” หรือ “black swan”
เปรียบเสมือนเหตุการณ์ที่อยู่ดีๆก็เกิด และทำให้โลกเปลี่ยนไปตลอดการณ์
new
normal - คำว่า “new normal” นั้นเป็นความต้องการที่จะสื่อว่า
สภาพการณ์ในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้นี้นี่แหละ เป็นสิ่งที่จะเป็นสภาพการณ์ที่อยู่กับเราไปอีกนาน
เราจึงควรจะอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่คาดการณ์หรือรอให้ทุกอย่างกลับไปเป็น “เหมือนเดิม”
หรือสิ่งที่เราเคยชิน
ซึ่งผมคิดว่าคำนี้ได้เริ่มฮิตขึ้นเนื่องจากวิกฤติการณ์สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในตลาดโลกอันเกิดจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในหลายปีที่ผ่านมานั้น
ได้ทำให้สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป
องค์กรและธุรกิจจึงไม่สามารถที่จะคิดว่าสภาพเศรษฐกิจหรือองค์กรจะสามารถกลับไปอยู่ในสภาวะที่รุ่งเรืองได้เหมือนในอดีตก่อนวิกฤติการณ์เศรษฐกิจได้อีกในเร็ววัน
leverage
- คำว่า “leverage” นั้นแปลตรงๆคงจะแปลว่าการ “ใช้ให้เป็นประโยชน์“ หรือ “ใช้งาน”
โดยอาจพูดถึงสินทรัพย์ หรือทรัพยากรตัวใดตัวนึงว่า เราจะสามารถ “ใช้มันได้อย่างไร” (how
can we leverage this?) โดยคำนี้น่าจะเริ่มฮิตเพราะว่ามีที่มาที่ไปมาจากตลาดหุ้น ซึ่งการ
“over-leverage” นี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นล้มอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีก่อนนั่นเอง
โดยคำว่า “leverage” ในตลาดหุ้นนั้น
หมายถึงแนวความคิดการบริหารเงินก้อนหนึ่งโดยใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและกระจายความเสี่ยงเยอะที่สุด
leverage
ในตลาดเงินทุนนี้สามารถยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้อย่างคร่าวๆคือ ในชีวิตปกติ
หากเรามีเงินหนึ่งร้อยบาท เราสามารถให้เพื่อนกู้ยืมโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ดังนั้น
เมื่อเพื่อนเราคืนเงิน เราก็จะได้คืน 107 บาท แต่หากเพื่อนคนนั้นนำเงินไปลงทุนต่อแล้วเจ๊ง
เราก็จะไม่ได้เงินคืนเลย แต่ว่าในตลาดการเงินนั้น เราสามารถ “leverage” เงิน 100
บาทนี้ได้โดยหั่นเป็นเงินหลายๆก้อน เช่น 10 ก้อน ก้อนละ 10 บาท
แล้วทำการกู้ยืมหรือระดมทุนจากคนอื่นๆในตลาดในอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะต่ำกว่า 7%
จนแต่ละก้อนนั้นกลายเป็นก้อนละ 100 บาท ประกอบด้วยเงินจากคนหลายๆคน
แล้วเราก็นำเงินแต่ละก้อนนั้นไปให้คนอื่นกู้ยืมต่ออีกทีในอัตรา 7% ซึ่งหมายความว่า
เราลงทุนเท่าเดิม แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีโอกาสได้เงินคืนเยอะกว่านั่นเอง
ทั้งนี้ หากท่านสนใจเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดเงินทุน
และเครื่องมือทางการเงินที่พูดถึงเวลาพูดถึงการ “leverage” นี้ ผมแนะนำให้ search ใน
YouTube โดยหาวิดีโอที่ชื่อว่า “The Credit Crisis Visualised”
ซึ่งได้อธิบายเหตุการณ์ที่ซับซ้อนไว้ได้อย่างดีครับ
สิ่งที่ผมมักจะพูดในคอลัมน์นี้อยู่เป็นประจำก็คือ “Buzzwords” หรือ “Business jargons”
นั้นมักจะเป็นสิ่งบ่งบอกกระแสหรือเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ซึ่ง สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุได้จากคำศัพท์ชุดนี้มีอยู่สามข้อใหญ่ๆ คือ
ภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการคิดค้นหา innovation
และการออกความคิดเห็นของพนักงานสูงขึ้นเป็นอย่างมาก (ideate, see what sticks)
เทคโนโลยี สื่อ
และอุปรกรณ์ดิจิตอลอิเล็กทรอนิคส์นั้นได้เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของคนในสังคมและภาคธุรกิจอย่างแท้จริง
(take it offline, ping)
ท่ามกลางกระแสของการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเพื่อใช้ในธุรกิจอย่างท่วมท้นอันเกิดจากการเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่ก้าวหน้าขึ้นเป็นเท่าตัวอยู่ทุกปี
วงการการ “predict” หรือ “คาดเดา”
เทรนด์หรือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั้นได้เริ่มมีการยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว บางที
“ความไม่แน่นอน” นั่นแหละ คือ “สิ่งที่แน่นอน” (black swan, new normal)
ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจมองได้ว่า
ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต
โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ได้ครอบงำชีวิตเราไปอย่างสมบูรณ์แล้วนั้น
สังคมและภาคธุรกิจเรากลับใช้มันเป็นประโยชน์ในการให้ความสำคัญกับการคิดสร้างสรรค์ของสมองมนุษย์มากขึ้น
รวมไปถึงกับการเรียนรู้ที่จะต้องไม่วางใจกับเทคโนโลยีมากเกินพอดี
ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรากำลังเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่โตอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างมีประโยชน์มากขึ้น
เสมือนกับที่เทคโนโลยีรถยนตร์ รถไฟ และเครื่องพิมพ์
และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมายได้เคยปฏิวัติโลกเรามาแล้วในอดีตจนเราเลิกเรียกมันว่าเป็นโทคโนโลยีไปแล้วนั่นเอง
Reference: http://blogs.gartner.com/matthew-davis/2012/03/08/2012-forecast-for-corporate-buzzwords-and-phrases/
เลอทัด ศุภดิลก
twitter: @lertad
e-mail: lertad@flyingcomma.com
–-