ธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจประเภทไหน (What’s Your Type of Business?)
คุณเคยคิดไหมครับว่าธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจแบบไหน?
คำถามนี้ดูเป็นคำถามพื้นๆง่ายๆ แต่ผมกลับค้นพบว่ามันช่วยทำให้เข้าใจผู้ประกอบการและความเป็นอยู่ของธุรกิจที่ถามถึงได้เป็นอย่างดี เพราะ “แบบ” หรือ “ประเภท” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจัดหมวดหมู่ว่าเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมอะไรนะครับ แต่หมายถึงขนาด การเติบโต และเชื่อมโยงไปยังถึงเหตุผลว่าคุณทำธุรกิจทำไป “เพื่ออะไร”
เพื่อไม่ให้เป็นการงงไปมากกว่านี้ ผมขอเข้าเรื่องเลยว่า จากที่เมื่อก่อนเรามักจะมองว่าธุรกิจขนาดเล็ก เป็นเพียงธุรกิจที่มีขนาดเล็กทีค่อยๆโตไปเป็นขนาดใหญ่ แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ต้องการที่จะโตกลายเป็นเหมือน ซีพี เซ็นทรัล หรือซัมซุง ทุกวันจึงเริ่มมีการมองเห็นและได้มีการจัดประเภทธุรกิจตามสไตลล์ ความต้องการ และเป้าหมายของผู้ประกอบหรือขนาดตลาดของธุรกิจได้ชัดเจนขึ้นแล้ว จึงอยากมาแบ่งปันศัพท์เรียกธุรกิจต่างๆมาให้ท่านผู้อ่นาทุกคนได้รู้จักกันครับ
Lifestyle Business
คำภาษาไทยที่ใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า “Lifestyle Business” นั้นอาจจะเป็น “ธุรกิจเด็กแนว” แต่คำว่า “เด็กแนว” ในไทยอาจจะดูไม่ไปในทางบวกนัก โดย “Lifestyle Business” นั้นมักจะใช้บ่งบอกถึงธุรกิจประเภทที่สามารถหากำไรให้ผู้ประกอบการใช้ชีวิตอยู่อย่างระดับพอมีความสุขได้ โดยอาจจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เจ้าของกิจการต้องการทำอยู่แล้ว หรือเป็นธุรกิจที่สามารถหากำไรได้โดยไม่ต้องใช้เวลาในการทำมาก ยกตัวอย่างเช่น ครูสอนวาดรูป ที่อาจทำการสอนวาดรูปเพื่อให้ตัวเองมีเวลาวาดรูปมากขึ้น หรือนักปีนเขา ที่ทำธุรกิจพาคนทัวร์ป่าหรือปีนเขา หรือคนที่อยู่ตามตลาดนัดอินดี้หรือตลาดจตุจักร ซึ่งบางทีก็รวมไปถึงนักเล่นหุ้นที่เลือกที่จะอยู่บ้านเล่นหุ้นวันละไม่กี่ชั่วโมง ส่วนที่เหลือใช้ชีวิตหาอะไรอย่างอื่นทำ
คำศัพท์นี้ถูกบัญญัติขึ้นมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตที่เอื้ออำนวยให้คนสามารถทำธุรกิจได้ตั้งแต่การหาซื้อวัตถุดิบ จ้างพนักงาน บริหารงาน ไปจนการขายและส่งของ ผ่านคอมพิวเตอร์ที่บ้านอย่างเดียว ตลอดไปจนถึงทุกวันนี้ที่สามารถขายได้แม้กระทั่งธุรกิจบริการ เช่นการทเว็บไซท์ การออกแบบ หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ ทำให้คนสามารถทำธุรกิจที่หารายได้ให้ตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องทำงานบริษัทวันละหลายชั่วโมงได้ง่าย โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่สามารถหารายได้จากตลาดที่ใหญ่ เพื่อมาใช้ค่าครองชีพในประเทศตะวันตกได้อย่างสุขสบาย
Small Business
ธุรกิจประเภท “Small Business” นั้น มีความหมายตรงตามชื่อนั่นก็คือ “ธุรกิจขนาดย่อม” เพียงแต่ในทุกวันนี้ แทนที่จะใช้เรียกครอบคลุมธุรกิจหรือกิจการทุกที่ที่มีขนาดเล็กหรือขนาดย่อม แต่มักจะเรียกธุรกิจที่มีอยู่เพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเองหรือครอบครัว มากกว่าที่จะมุ่งหวังเสริมสร้างกิจการให้ใหญ่โต ยกตัวอย่างเช่น ร้านตัดผม ร้านขายอาหาร ร้านซ่อมรองเท้า ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่อาจมีรายได้ตั้งแต่พออยู่ตัวไปจนหลายแสนหลายล้าน แต่ก็ไม่ใช่ธุรกิจระดับร้อยล้านพันล้าน
ธุรกิจพวกนี้มักจะไม่ได้มีโครงสร้างที่พร้อมที่จะโตมากนัก เช่น มักจะพึ่งผู้ประกอบการมากเกินไป หากไม่มีผู้ประกอบการแล้วจะไม่สามารถดำเนินงานได้ และมักจะพึ่งทุนที่ตัวเองสร้างได้ มากกว่าการกู้เงินจากธนาคารหรือสถานบันการเงินอื่นๆ
ในหลายๆครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมนั้นต้องการที่จะโต แต่สร้างธุรกิจออกมาเป็นลักษณะ Small Business มากกว่าที่จะเป็น Scalable Business (ซึ่งจะพูดถึงในข้อถัดๆไป) จึงทำให้มีปัญหาในการโต เช่น การขยายสาขา และมักจะเข้าสู่วงจรของการคาดหวังให้ลูกเป็นทายาทรับช่วงต่อกิจการ ซึ่งหากทายาทต้องการและมีความสามารถก็ดีไป แต่หลายครั้งก็เป็นการบังคับและทำให้กิจการไปได้ไม่รอดเท่าที่ควรในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจขนาดเท่านี้จะไม่ได้รับการยกย่องจากสื่อ หรือเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่ด้วยจำนวนธุรกิจ จำนวนงานที่สร้าง และรายได้ที่สร้างโดยรวมแล้ว ต้องนับว่าผู้ประกอบการเหล่านี้คือฮีโร่ที่แท้จริงยิ่งกว่าบริษัทใหญ่ๆที่เรารู้จักกัน
Scalable Business
คำว่า “Scalable” หรือ “Scale” น่าจะเป็นคำที่ยากสำหรับคนไทยที่จะฟังแล้วเดาความหมายได้เลย แต่มันก็เป็นหนึ่งในคำที่ได้รับการใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่ง “Scale” ในที่นี้หมายถึง “ระดับ” โดย “Scalable” นั้นก็หมายถึงธุรกิจที่สามารถ “ไต่ระดับ” ได้นั่นเอง ดังนั้น คำว่า “Scalable Business” จึงหมายถึงบริษัทที่ถูกสร้างมาเพื่อเน้น “การเติบโต”
การที่บริษัทจะถูกบ่งบอกว่าเป็นบริษัทที่มีความสามารถและศักยภาพในการเติบโตนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ประเภทธุรกิจและตลาดหลักของตัวบริษัทเอง จำนวนคู่แข่ง ความสามารถของทีมบริหาร รวมไปถึงโครงสร้างการบริหารงาน โดยสิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่าง Small Business กับ Scalable Business อย่างชัดเจนนั้นคือ “วิสัยทัศน์” และ “ความต้องการ” ของผู้ประกอบการนั่นเอง เพราะเจ้าของกิจการกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการแค่ที่จะทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว แต่ต้องการสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ เป็นบริษัทระดับที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นต้น
Social Business
ในปัจจุบันคงจะมีหลายคนได้ยินคำว่า “Social Enterprise” หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม” กันมากขึ้น ซึ่งแน่นอน จากชื่อของมันแล้ว มันคือธุรกิจที่ไม่ได้เน้น “ยอดขายสูงสุด” แต่เน้น “ประโยชน์เพื่อสังคม” สูงสุด โดยความแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจเพื่อสังคม” พวกนี้กับหน่วยงาน “Non-profit” จำพวก “มูลนิธิ” หรือ NGO นั้นก็คือ ธุรกิจพวกนี้มักจะเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนแบบมีกำไรได้นั่นเอง
ตัวอย่างของการตั้งเป้าหมายของธุรกิจเป็นการ “ทำเพื่อสังคม” มากกว่าการ “หากำไร” อาจเป็นเรื่องของการพยายามคิดนวัตกรรมเพื่อทำให้เด็กพิการสามารถเดินได้ หรือวาดเขียนได้ หรือการสร้างแพกักน้ำเพื่อช่วยเหลือการเกษตรให้หมู่บ้านต่างจังหวัด เป็นต้น
Buyable Business
ในโลกทุกวันนี้มีธุรกิจเกิดใหม่ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ธุรกิจหรือบริษัทประเภท “Buyable Business” ที่เกิดมาโดยมีทิศทางการเติบโตคนละแบบกับ Scalable Business ตรงที่ Scalable Business นั้นมุ่งหวังที่จะโตและ/หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ Buyable Business นั้นมีลักษณะที่น่าจะสามารถถูก “ซื้อ” หรือ “ควบกิจการ” โดยบริษัทอื่นที่ใหญ่กว่าได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับคนไทยเลยคือ Instagram ที่ถูก Facebook ควบซื้อกิจการไปในราคา 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้สามารถสร้างรายได้อะไรทั้งสิ้น
ธุรกิจจำพวกนี้มักจะเป็นธุรกิจ R&D หรือธุรกิจอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกกันว่า tech startup ซึ่งมีโครงสร้างธุรกิจคือการได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนเพื่อมาใช้เวลาในการพัฒนาสินค้าหรือนวัตกรรมมากกว่าเน้นการสร้างธุรกิจ เนื่องจากมีเงินลงทุนหนุนอยู่จนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องสร้างรายได้ได้เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือปีเลยทีเดียว
Large Business
บริษัทประเภทนี้ค่อนข้างตรงตัวตรงที่มันหมายถึงบริษัทที่ใหญ่แล้ว อยู่ตัวแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ขณะเดียวกัน บริษัทพวกนี้ ถ้าหยุดชะลอการคิดค้นนวัตกรรมหรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ หรือพยายามต่อต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กระทบกับธุรกิจตัวเองนั้น ก็จะเป็นตัวชี้ว่าบริษัท Large Business พวกนี้จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่จะ “Reinvent” ตัวเอง (คิดค้นตัวเองใหม่) เพื่อปรับตัวเข้ากับกาลเวลาได้ หรือจะเป็นพวก “Sunsetting Business” ที่จะค่อยๆชะลอการเติบโตและหายไปจากผลกระทบของเทคโนโลยีและบริษัทใหม่ๆที่มาแย่งธุรกิจของตัวเองไปนั่นเอง
ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ในตอนต้น จะเห็นได้ว่าการประเมิณ เข้าใจ และรู้ตัวเองว่าธุรกิจของตัวเองเป็นแบบไหนนั้น จะทำให้ตัวเองเข้าใจว่าเราจำต้องบริหารธุรกิจแบบใด จะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจแบบไหน และในแต่ละวันเราตื่นมาเพื่อทำอะไร การทำธุรกิจขนาดย่อมไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเรามีความสุขและเป้าหมายอยู่แค่การอยู่ตัว ไม่จำเป็นต้องโตอย่างรวดเร็วหรือมากมายจนไม่มีเวลาในการทำอย่างอื่น ขณะเดียวกัน คนที่รู้ตัวเองว่าชอบธุรกิจที่เติบโตได้เยอะ ก็ไม่ควรที่จะหยุดช้า ผลักดันให้เต็มที่ และบริหารบริษัทให้มีโครงสร้างที่เติบโตได้ มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไวต่อการเปลี่ยนแปลง และหาเงินทุนจากภายนอกเพื่อให้เราโตได้เร็วยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเองครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@flyingcomma.comwebsite: http://lertad.com
twitter: @lertad