10 คุณสมบัติที่จะบ่งบอกว่าคุณทำ Startup ไม่ได้ (Part II)
เมื่อโลกเราถูกล้อมรอบด้วยอุปกรณ์ดิจิตอลที่ต่างคนต่างทำงานและสื่อสารผ่านเครื่องมือต่างๆบนอินเทอร์เน็ต ผู้คนรอบตัวต่างเล่น LINE, Facebook, Instagram ตั้งแต่เพื่อนยังคุณพ่อคุณแม่ พร้อมกับกระแสสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่สร้างความเป็นฮีโร่ให้กับนักธุรกิจยุคใหม่ที่สร้างซอฟท์แวร์ให้คนใช้กันทั่วโลกแล้วอย่าง “The Social Network” หรือภาพยนตร์และหนังสือเกี่ยวกับ Steve Jobs อีกหลายเรื่องนั้น จึงไม่แปลกที่กระแสคนอยากเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี หรือ “Tech Startup” นั้นจะมาแรงในปัจจุบัน
แต่แน่นอน เช่นเดียวกับการที่เวลาคนรุ่นใหม่บอกว่าตนเองอยากเป็น “เจ้าของธุรกิจ” นั้นแท้จริงแล้วมักจะหมายถึงว่าคนๆนั้นยัง “ไม่รู้จะทำอะไร” กับชีวิตแล้ว คนที่อยากเป็น Tech Entrepreneur ทำ Tech Startup นั้นก็มักจะไม่เข้าใจว่าการสร้างธุรกิจซื้อมาขายไปว่ายากแล้ว การสร้างผลิตภัณฑ์เทคโนโลยียิ่งยากกว่า
ในครั้งนี้ ผมจะมาขอต่อเรื่อง 10 คุณสมบัติที่บ่งบอกว่าคุณไม่ควรที่จะทำ Startup ในข้อที่เหลือ ที่ดัดแปลงมาจาก “10 Signs You’re Not Cut Out to Be an Entrepreneur” โดย Stephannie Vozza ในเว็บไซท์ Entrepreneur.com (http://www.entrepreneur.com/article/230471) นะครับ โดยข้อที่เหลือ ผมขออนุญาติทำการรวบรวมบางข้อที่มีลักษณะคล้ายกันเข้าด้วยกันครับ
–
4&5. คุณไม่เชื่อในการตลาด และคุณกลัวการขึ้นเวทีเพื่อพูดต่อหน้าผู้คน. (You don’t believe in marketing . You get stage fright.)
สองเรื่องนี้ผมขอจับคู่กัน เพราะเป็นเรื่องที่พวกสายวิทย์สายเทคโนโลยีมักจะไม่ถนัด และไม่ชอบที่จะพยายามพัฒนาตนเองในด้านนี้ทั้งคู่ครับ
ทักษะสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการคือการขายครับ ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องขายของให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนถนัดสายเทคนิกอย่างนักประดิษฐ์หรือนักเขียนโปรแกรมมักไม่ชอบที่จะยอมรับ มองว่าตัวเองสร้างผลิตภัณฑ์มาเจ๋งขนาดนี้แล้ว ทำไมคนจะไม่ใช้
และเมื่อเข้าสู่วงการ Startup คุณก็จะค้นพบว่าคุณจะต้องทำการ “Pitch” บริษัทของคุณอยู่ตลอดเวลา ว่ามันตอบโจทย์อะไรในโลกนี้ โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องการนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนให้คุณสามารถโตได้ไวขึ้น คุณก็จะต้องทำการ “Pitch” ขอทุน ซึ่งบุคลิกและการแสดงออกถึงความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมันมีความสำคัญไม่แพ้หรือมากกว่าเนื้อหาที่คุณเสนอเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นความสามารถในการพูดยังส่งผลต่อความสามารถในการดึงให้คนสนใจมาร่วมงานกับเราอีกด้วย
การพูดบนเวที (public speaking) คือการขาย ตอนนี้วงการ Startup มีปัญหาที่คนเก่งเทคโนโลยีไม่ชอบฝั่งธุรกิจ และคนเก่งธุรกิจไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี สำหรับคนเก่งเทคโนโลยี ต้องอย่าลืมว่า “Product” ที่ประสบความสำเร็จนั้น ต้องดีทั้ง “Tech” และ “Marketing” ครับ
ธุรกิจเทคโนโลยีนั้นล้วนแล้วมักจะเป็นสินค้าหรือบริการที่เข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบางอย่างของกลุ่มเป้าหมายเรา ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต่อให้คุณสร้างสินค้าที่มีประโยชน์อย่างไร คุณก็ต้องก้าวผ่านอุปสรรคของการ “กลัวการเปลี่ยนแปลง” ให้ได้ก่อนครับ
หากต้นไม้ที่สวยงามที่สุดในโลกผุดขึ้นมากลางป่า แต่ไม่มีใครเห็น มันก็ไม่มีคุณค่าอะไร เช่นเดียวกัน หากคุณอยากให้ของที่คุณสร้างมีคนใช้ คุณก็ต้องทำการตลาด เพราะการตลาดคือการสื่อสารคุณค่าให้คนสนใจยอมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
6&7. คุณคิดว่าความซับซ้อนนั้นมันเท่ แต่ คุณไม่สามารถอธิบายวิธีการผูกเชือกรองเท้าได้ (You think complexity is cool…but you can’t explain the steps of shoe tying.)
เคยสังเกตุมั้ยครับ ว่าเวลาค้นหาอะไรใน Google เราไม่ต้องบอกก่อนว่าเราต้องการค้นหาสถานที่ หรือบุคคล เพียงแค่พิมพ์ไปมันก็จะค้นหาทั้งหมดให้เงอ พร้อมกับเดาว่าเราน่าจะตามหาอะไร
แต่หากคนที่ชอบอะไรซับซ้อนเป็นผู้ออกแบบแล้ว อาจจะดันไปสร้าง drop-down menu ให้คนกรองก่อน ว่าต้องการภาษาอะไร มีการอัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อไหร่ เป็นต้น ซึ่งทำทำมา กว่าคนจะทำการค้นหาได้ เลิกใช้ก่อนกันพอดี
การที่ Google เขาออกแบบมาแบบนี้ได้และไม่เคยคิดจะเปลี่ยนมันนั้น เป็นเพราะ Google “เข้าใจตัวเอง” และ “เข้าใจผู้ใช้” ดี ว่าสิ่งที่คนต้องการคืออะไร ทั้งๆที่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสามารถในการค้นหานั้นเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากเกินกว่าคนทั่วไปจะทำความเข้าใจได้ด้วยซ้ำ และจะเห็นได้ว่า หลายๆครั้ง บริการอะไรที่ยิ่ง “Simple” หรือใช้ง่าย เบื้องหลังจะยิ่งต้องทำงานเยอะ
ซึ่ง “ความเข้าใจ” ในตนเองนั้นนำมาสู่เรื่องของการอธิบายว่า Startup ของคุณนั้นทำงานอย่างไร และตอบโจทย์อะไร ซึ่งเป็นอุปสรรคของผู้ก่อตั้ง Startup ส่วนใหญ่ เพราะผู้ก่อตั้งจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก ว่า Startup ของเราจะสามารถเป็นอะไรได้บ้างในอนาคต ปัจจุบันเราเป็นแค่นี้ แต่อนาคตเราทำอย่างนี้ก็ได้ ทำอย่างนู้นก็ได้ จนเวลาเล่าที่เรามีสิ่งที่อยากจะพูดเต็มไปหมด โดยลืมสนใจไปเลยว่าคนที่ฟังเขางงขนาดไหนกับสิ่งที่คุณพูดออกมาอย่างต่อเนื่อง
เรื่องนี้กลับไปสู่เรื่องของการขายของครับ ถ้าเราเข้าใจว่าข้อดีของเราคืออะไร และทำงานอย่างไร เราจะต้องสามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ซึ่งเรื่องนี้ในบทความดั้งเดิมได้เปรียบเทียบไว้อย่างน่ารักด้วยตัวอย่างของการผูกเชือกรองเท้า เพราะการผูกเชือกรองเท้าจริงๆเป็นเรื่องซับซ้อน แต่เราทำมันอยู่ทุกวันจนรู้สึกเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อวันที่คุณต้องอธิบายเป็นคำพูดให้คนอื่นว่าทำอย่างไร คุณมั่นใจแค่ไหนว่าคุณจะสามารถเล่าสิ่งที่คุณทำอยู่ทุกวันนี้ไปได้
และที่เฉียบคมไปกว่านั้น คือ หากคุณสามารถอธิบายได้ว่าการผูกเชือกรองเท้าทำอย่างไร ก็จะเห็นว่ามันเป็นขั้นเป็นตอนที่ชัดเจน เช่นเดียวกัน หากคุณสามารถอธิบายได้ว่าบริษัทคุณทำงานอย่างไร คุณก็จะเห็นขั้นตอนการทำงาน และสามารถแบ่งงานให้คนอื่นมาช่วยไปได้ เพื่อเพิ่มเวลาให้คุณไปขายของต่อเนื่องได้ครับ
คนหลายคน ยิ่งฉลาดแล้วจะยิ่งสนุกกับความซับซ้อน ยิ่งทำสินค้า ยิ่งชอบสร้าง “feature” หรือ “ความสามารถ” ใหม่ๆอยู่ตลอดเพื่อเพิ่มพลังให้กับมัน คนกลุ่มนี้มักจะมีความสุขกับการพยายามแกะหาคำตอบของอะไรยากๆ แต่ความจริงนั้น มนุษย์ต้องการอะไรที่”ใช้ง่าย” เพราะชีวิตเขามีหลายอย่างเหลือเกินที่จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
“A confused mind always says no.”
8&9 คุณเหนื่อยง่าย และไม่ชอบความไม่แน่นอนทางอารมณ์ (You’re easily winded. You hate roller coasters.)
การเริ่มต้นธุรกิจนั้นมันก็เหมือนการวิ่งมาราธอน คือตอนแรกก็มีแรงฮึด มีความสนุกของการเริ่มต้น แต่พอวิ่งไปสักพัก ร่างกายก็จะเหนื่อย ล้า และไม่สนุก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ปลายทางจะมาหา และเส้นทางระหว่างทางก็ขรุขระเหลือเกิน แต่เมื่อพอเริ่มเห็นปลายทางแล้ว แรงก็จะกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับแรงฮึดที่เห็นรางวัลอยู่ต่อหน้า
ดังนั้น หากการทำ Startup เหมือนมาราธอน คนที่ไม่ค่อยมีแรงทั้งกายและใจที่จะผลักดันตนเองในช่วง “กลาง” ของการวิ่งนั้น ก็จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะคุณไม่สามารถนำพาธุรกิจตนเองไปจนถึงจุดจบของมันได้สำเร็จ
โดยนอกจากจะส่งผลกระทบทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบทางอารมณ์
โลกของ Tech Startup มันทั้งสนุกและโหดร้ายตรงที่เราได้รับข้อมูลการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถดีใจกับผลงานตอนเช้า พร้อมโศกเศร้ากับการตกลงในตอนบ่ายได้อย่างทันที รวมไปถึงการที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้วินาทีนึงเรากำลังฉลองผู้ใช้คนแรก วินาทีถัดมาเซิฟเวอร์ก็อาจจะล่มก็ได้ เรียกได้ว่าเหมือนรถไฟเหาะที่เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง และจะเป็นในเวลาห่างจากกันไม่นาน เราจึงต้องหัดเรียนรู้ที่จะมองทุกความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อไปในอนาคต
“You need to be prepared to hang on and enjoy the ride.”
10. คุณเป็นคนเลี่ยงปัญหา (You’re a problem passer.)
ในฐานะผู้ก่อตั้ง คุณจะเป็นคนที่จะต้องตัดสินใจทุกยอ่าง ตั้งแต่การออกแบบหน้าตาโปรแกรม เทคโนโลยีที่ใช้ รวมไปถึงคนในทีมทะเลาะกัน หรือกาแฟของออฟฟิศหมดและไม่มีเติม
ผมมักพูดเสมอว่าคนเรามีสองประเภท ประเภทแรกเวลาเห็นขยะก็จะบ่นว่ามันสกปรก แต่ประเภทที่สองพอเห็นขยะ ก็จะเดินไปเก็บ
คนที่จะทำ Startup สำเร็จได้ เวลาเห็นปัญหาจะต้องรีบเข้าไปหาทางแก้ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่เราไม่ชอบอย่างเรื่องความสัมพันธ์ของคน เพราะหากเราปล่อยไป มันจะมีโอกาสสูงที่มันจะบานปลายจนเป็นระดับที่ไม่สามารถตามแก้ได้ในภายหลังอย่างแน่นอน
“If you’re unwilling to handle something immediately, it will not go away. It will grow bigger.”
–
ผมดีใจที่วงการ “Tech Startup” ได้รับความสนใจ แต่ผมก็อยากให้คนที่สนใจจะก้าวเข้ามายอมรับสภาพด้วย ว่าตนเองเหมาะมั้ยที่จะเริ่มต้นธุรกิจ เพราะหากไม่เหมาะ แต่สนใจวงการนี้ ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมอื่นก็ได้
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้ก่อตั้งได้ แต่เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำงานได้ ซึ่งผู้ก่อตั้ง มักเป็นพวกรู้เยอะแต่ไม่รู้ลึก ซึ่งคนที่จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน จะต้องอาศัยทักษะรู้ลึกเป็นสำคัญ
ความสุขของคนคือการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราทำให้ตนเองได้ คือการ “ทำความรู้จักตนเอง”
แต่หากลองอ่านประเมิณดูแล้ว รู้สึกว่าสิ่งที่จะเจอนั้นน่าสนุก… ยินดีด้วยครับ คุณอาจจะทำ Startup ได้ก็เป็นได้
แล้วเจอกันครับ :)
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@sellsuki.com
website: http://lertad.com
twitter: @lertad