สำหรับใครที่เคยทำการพิมพ์เอกสารหรือรูปภาพจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือลงบนกระดาษแล้ว คงจะรู้จักเครื่อง “Printer” หรือ “เครื่องพิมพ์” กันอยู่บ้างแล้ว
หากคิดย้อนกลับไปถึงการกำเนิดของ “เครื่องพิมพ์” นี้แล้ว คงจะปฎิเสธไม่ได้ว่ามันได้พลิกวงการ “โรงพิมพ์” จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะจากที่เมื่อก่อนต้องอาศัยเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ในการพิมพ์แบบหนังสือหรือหนังสือพิมพ์แล้ว เพียงแค่คุณมีคอมพิวเตอร์กับเครื่องพิมพ์อยู่ที่บ้าน คุณก็สามารถพิมพ์อะไรก็ได้เป็นของตนเองได้ทันที
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น… หากเครื่องพิมพ์เหล่านี้ที่แต่ก่อนก็พิมพ์ได้แค่กระดาษแบนๆ “2 มิติ” หรือ “2D” เพียงเท่านั้น ได้กลายเป็นเครื่องพิมพ์ “3 มิติ” หรือ “3D” ที่สามารถพิมพ์อุปกรณ์อะไรก็ได้ในโลกใบนี้เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คิดนะครับ
เครื่องพิมพ์ 3D Printer กำลังได้รับการพัฒนาและการนำมาใช้จริงอย่างรวดเร็ว จนเครื่องปัจจุบันสามารถพิมพ์ได้ตั้งแต่ลูกบอลเล็กๆ ไปยังชิ้นส่วนเลโก้ หรือแม้กระทั่งกระดูกมนุษย์เทียม ด้วยวัสดุที่หลากหลายตั้งแต่ไนลอนไปยังพลาสติกหรือแม้กระทั่งชอคโกแลต ทำให้กระบวนการออกแบบและกระบวนการผลิตของบริษัทรายย่อยรายใหญ่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ซึ่งในคอลัมน์นี้ จะขอนำตัวอย่าง “Startup” ที่เกี่ยวกับ มาให้ดูกันนะครับ ว่าโลกของ 3D Printer เหล่านี้มีอะไรบ้าง
หากจะพูดถึงวงการ 3D Printing ปัจจุบัน คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงบริษัท MakerBot ผู้บุกเบิกการสร้างปริ้นท์เตอร์ 3 มิติที่มีขนาดและราคาที่นักประดิษฐ์และนักออกแบบทั่วไปสามารถเริ่มหาซื้อและใช้งานได้ด้วยตนเอง จากราคา $100,000 USD ในตอนก่อนการเกิดขึ้นของ MakerBot กลายมาเป็นราคา $2,199 ในปัจจุบัน โดยเครื่องปริ้นท์เตอร์ 3 มิติ รุ่น “Replicator 2” ที่เป็นตัวล่าสุดของบริษัทนั้นมีขนาดเพียงประมาณเครื่องไมโครเวฟขนาดเล็ก และสามารถ “พิมพ์” วัตถุอุปกรณ์โดยใช้เมล็ดพลาสติกที่ทางบริษัทจำหน่ายเองมาเป็นวัตถุดิบก่อสร้าง
บริษัท MakerBot เติบโตอย่างรวดเร็วมาก โดยเพิ่มพนักงานจาก 3 คนในตอนเริ่มต้นกลายมาเป็น 300 คนภายในเวลาเพียง 4 ปี จำหน่ายเครื่องปริ้นท์เตอร์ 3 มิติไปแล้วกว่า 20,000 เครื่อง นับเป็นปริมาณ 25% ของตลาด จำหน่ายให้ทั้งบริษัทนักออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัทผลิตแขนขาเทียมสำหรับเด็ก ไปจนองค์การ NASA เพื่อใช้ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ทดลองก่อนนำไปเข้าโรงงานผลิตขนาดใหญ่เพื่อจัดจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม
ด้วยตัวเลขระดับนี้ ทำให้บริษัท MakerBot มีแนวโน้มที่จเป็นบริษัท “HP” แห่งวงการเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จนตอนนี้ได้รับการซื้อหุ้นจากบริษัท Stratasys ผู้เล่นใหญ่แห่งวงการเครื่องพิมพ์ 3 มิติในระดับอุตสาหกรรมที่เป็นเหมือนบริษัท “Xerox” แห่งวงการไปในราคา $403 ล้านเหรียณสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว
กุญแจสำคัญชิ้นต่อไปที่จะทำให้วงการการพิมพ์ 3 มิติน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคงจะหนีไม่พ้นบริษัท “Shapeways” ที่ได้สร้างทั้ง “ตลาดออนไลน์” และ “โรงพิมพ์” ที่กำลังจะทำให้การออกแบบแบบพิมพ์ 3 มิติมีลักษณะเสมือน “หนังสือ” ที้นักประดิษฐ์นักออกแบบสามารถคิดค้นแบบพิมพ์และฝาก Shapeways ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจากแบบพิมพ์นั้นให้คนสั่งซื้อได้ทั่วโลก
ด้วยความยืดหยุ่นของการทำแบบพิมพ์ 3 มิติ และความง่ายในการออกแบบและจัดจำหน่ายบนเว็บไซท์ของ Shapeways แล้ว ทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่มีจัดจำหน่ายบนเว็บไซ์ Shapeways นั้นมีแล้วมากกว่า 6 พันล้านชนิด ตั้งแต่เครื่องประดับ ตะปู ท่อน้ำ หรือแท่นชาร์จมือถือโดยที่นักออกแบบไม่จำเป็นต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าด้วยตนเอง เพราะทาง Shapeways จะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติของทางบริษัทพิมพ์และจำหน่ายให้เองเลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติของบริษัท Shapeways นี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้า 1 แบบในจำนวน 1,000 ชิ้นเท่าเทียมกับการผลิตสิน้คา 1,000 แบบ แบบละหนึ่งชิ้นแล้ว ทำให้หนึ่งในรายได้หลักของบริษัท Shapeways กลายเป็นกลุ่มนักออกแบบหรือแผนกค้นคว้าวิจัยของบริษัทต่างๆที่ต้องการสร้าง “Prototype” แบบทดสอบมาใช้งานจริงก่อนที่จะส่งให้โรงงานผลิตขนาดใหญ่นั่นเอง
แน่นอนว่าบริษัท MakerBot และ Shapeways ก้ไม่ได้เป็นเพียงสองบริษัทที่กำลังโลดแล่นอยู่บนกระแสการเติบโตของวงการ 3D Printing นี้อยู่เพียงผู้เดียว แต่ยังมีคู่แข่งรายอื่นๆที่มาทำให้วงการนี้คึกคักอย่างต่อเนื่อง เช่นบริษัท Formlabs ที่ผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบ “เลเซอร์” (“Stereolithographic 3D Printing”) มาแข่งกับวิธีการพิมพ์ของ MakerBot หรือบริษัท 3DLT ที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างตลาดออนไลน์สำหรับจัดจำหน่ายตัวไฟล์ “แบบพิมพ์” 3 มิติโดยเฉพาะ เพื่อให้ใครก้ได้ที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติอยู่ที่บ้าน สามารถสั่งซื้อแบบพิมพ์จากนักออกแบบคนอื่นๆ เพื่อมาทำการพิมพ์อุปกรณ์ ของเล่น หรือชิ้นส่วนที่ต้องการได้ด้วยตนเองง่ายๆเลย
ในระยะสั้น เมื่อบริษัทผู้ลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถผลิตเครื่องพิมพ์มาจำหน่ายในจำนวนที่มากขึ้นและราคาที่ถูกลงเรื่อยๆแล้ว เราคงจะเห็นบริษัททั้งรายใหญ่และรายย่อยซื้อเพื่อนำมาใช้ค้นคว้าและวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ กันเป็นอย่างมาก แต่เหล่านักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติจะถูกพัฒนาให้ถูกและผลิจง่ายจนสามารถจะเริ่มเข้าถึงผู้บริโภคทั่วไปอย่างแพร่หลายได้ภายในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น
เวลาเรานึกถึงคำว่า “ยุคดิจิตอล” นั้น เรามักจะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตและซอฟท์แวร์อย่างแอพแชท โซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือการค้าออนไลน์
แต่จากบทความหลังๆที่ผ่านมา ผมเริ่มเห็นแล้วว่าบริษัท “Startup” ที่กำลังทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ “สัมผัสได้” (“Physical”) ต่างหากที่น่าจะเปลี่ยนแปลงโลกเราในยุคถัดไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น Startup ในวงการอาหาร อุปกรณ์พกพา มาจนวงการเครื่องพิมพ์ 3 มิตินี้ ที่อาจจะเปลี่ยนวิถีการคิดเรื่องการผลิต ออกแบบ หรือหาซื้อสิ่งของประจำวันทุกๆชิ้นในโลกเราไปเลย
–-
เลอทัด ศุภดิลก
lertad@sellsuki.com
http://lertad.com