เมื่อระบบการเดินทางถูกพัฒนาด้วยแอพพลิเคชันมือถือ (Car & Transportation Startups)
คงจะไม่เป็นการพูดเกินจริงหากเราจะเรียกการคิดค้นรถยนตร์และระบบโดยสารทางรถยนตร์ว่าเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ระบบสังคมและเศรษฐกิจของมนุษย์พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการที่เราสามารถเดินทางไปหากันได้อย่างรวดเร็วกว่าการเดินเท้าหรือขี้ม้า พร้อมบรรทุกสิ่งของจำเป็นเพื่อทำการแลกเปลี่ยนกันทางเศรษฐกิจ
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์กับกลายเป็นระบบที่ขาดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อมีรถยนตร์มากมายแต่เรากลับไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ทั้งปัญหาจราจร การขาดที่จอดรถ ราคารถยนตร์และน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวันจนเริ่มไม่คุ้มที่จะมีรถยนตร์ รวมไปถึงปัญหาภัยมลพิษที่บ่อนทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ในปัจจุบันจึงเกิด Tech Startup ที่พยายามาแก้ปัญหาด้วยการนำรถยนตร์ที่วิ่งอยู่มาใช้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการส่งข้อมูลข่าวสารและการรู้ทำเลที่ตั้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในโทรสัพท์สมาร์ทโฟนของเรา เพื่อนำมาใช้ลดปริมาณรถยนตร์ที่ไม่ได้ถูกใช้อยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด
แม้รถยนตร์จะมีอยู่มากมายเต็มท้องถนนกรุงเทพ แต่ก็มีคนอีกหลายเท่าตัวที่ไม่ได้เดินทางโดยรถยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางรายได้หรืออายุ และก็ไม่ได้สามารถเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินตลอดเวลาเนื่องจากความทั่วถึงที่จะกัด ซึ่งคนเหล่านี้ถ้าไม่อาศัยรถเมล์โดยสารซึ่งแม้จะมีราคาถูกแต่ไม่สามารถคาดการณ์เวลาที่จะได้ขึ้นได้และใช้เวลาในการเดินทางนานเนื่องรวมถึงการที่มันไม่สามารถหยุดและเข้าไปถึงตรอกซอยต่างๆได้นั้น ก็จะต้องอาศัยการโดยสารโดยแท็กซี่เพียงเท่านั้น
แต่แน่นอน เรารับรู้ “ปัญหา” ของการเรียกแท็กซี่ดีว่าไม่ใช่ง่ายเสมอไป เพราะแท็กซี่หลายคันก็เลือกรับเฉพาะผู้โดยสารที่ไปสถานที่ที่ตนเองรู้จัก หรือในพื้นที่ที่คนเรียกเยอะหรือช่วงฝนตก ก็ยิ่งหาแท็กซี่นั่งไม่ได้เลย ซึ่งปัญหานี้เองที่เหล่านักพัฒนาซอฟท์แวร์มองว่าเกิดจากความไม่สมดุลในเรื่องของการรับรู้ข้อมูลระหว่างแท็กซี่กับผู้ต้องการโดยสาร และผลิตแอพพลิเคชันมือถือขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ในภาพรวม วิธีการทำงานของแอพเหล่านี้ก็คือมีแอพนึงสำหรับให้ผู้โดยสารสามารถเรียกแท็กซี่ได้
โดยเมื่อผู้โดยสารทำการเรียกแล้ว ตัวผู้ขับแท็กซี่เองซึ่งต่างคนต่างมีแอพของผู้ขับอยู่ในรถนั้น ก็จะสามารถรู้ได้ว่าผู้โดยสารนั้นอยู่ที่ตรงไหน และต้องการโดยสารไปที่ใด เพื่อใช้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับผู้โดยสารคนนั้น
หากแท็กซี่ทำการเลือกรับผู้โดยสารแล้ว ผู้โดยสารก็จะสามารถเห็นว่ารถที่มารับนั้นทะเบียนอะไรและปัจจุบันอยู่ตรงไหนแล้ว หากสุดท้ายแล้วผู้โดยสารเบี้ยวไม่ยอมขึ้นรถแท็กซี่คันที่เรียก หรือหากรถแท็กซี่บริการได้ไม่ดี ต่างคนก็ต่างที่จะสามารถให้คะแนนและเขียนรีวิวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารหรือคนขับรายต่อไป
จะเห็นได้ว่าระบบของแอพเรียกแท็กซี่เหล่านี้แก้ปัญหาของทั้งผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่ได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้กันและกันตั้งแต่ยังไม่ได้พบกัน พร้อมกับระบบรีวิวเพื่อรับรองคุณภาพสำหรับอนาคต
สำหรับประเทศไทยเรามีบริการแบบนี้ให้ใช้แล้ว โดยมีเจ้าใหญ่คือทาง GrabTaxi เป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซียเปิดให้บริการแล้วในกรุงเทพและ EasyTaxi ที่ดำเนินการโดยทีมงานของ Rocket Internet ผู้ให้บริการเว็บอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Lazada กับ Zalora โดยผู้โดยสารสามารถลองโหลดทั้งสองแอพนี้มาใช้ได้แล้วในตอนนี้ หรือหากเป็นผู้ขับ ก็สามารถทำการโหลดมาใช้รับผู้โดยสารได้แล้วเช่นกัน
นอกจากบริการแท็กซี่แล้ว ยังมีเจ้าใหญ่ของโลกอีกรายคือ Uber ผู้ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการใช้แอพเรียกรถมาเปิดให้บริการในไทยแล้วเช่นกัน โดย Uber แตกต่างจาก GrabTaxi กับ EasyTaxi ตรงที่แอพสองแอพนั้นเป็นเครื่องมือให้คนขับแท็กซี่ปัจจุบันใช้ แต่ทาง Uber นั้นเป็นเหมือนผู้ให้บริการเองโดยมีบริการรถหรูเท่านั้น และจะให้บริการที่แพงกว่าทางแท็กซี่อย่างชัดเจน จึงเหมือนเป็นการเปิดตลาดใหม่จับกลุ่มคนพรีเมียมโดยเฉพาะ
เหตุผลที่ Uber เกิดขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะในเมืองใหญ่ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีการจำกัดปริมาณใบอนุญาติขับขี่แท็กซี่ แต่เมืองเหล่านั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องการเรียกแท็กซี่เหมือนบ้านเรา ทาง Uber จึงเลี่ยงปัญหาด้วยการบอกว่าตนเองไม่ใช่แท็กซี่ แต่เป็นเจ้าของรถยนตร์ซึ่งมีแอพที่ทำให้คนสามารถมาร่วมโดยสารได้อย่างสะดวกกว่าการโบกแท็กซี่เสียอีก โดยคิดค่าบริการแพงกว่าแท็กซี่ปกติแค่เพียง 15-30% (แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอาจแพงกว่าเกือบเท่าตัว เนื่องจากโครงสร้างราคาแท็กซี่ที่แตกต่างกัน)
ทั้งนี้ ทาง Uber เองก็มีแอพที่ให้บริการเหมือนเหล่า GrabTaxi และ EasyTaxi โดยใช้นามว่า UberTaxi แต่ทว่าตอนนี้ยังเปิดบริการอยู่แค่ในประเทศออสเตรเลีย เหมือนกับที่ทาง GrabTaxi เองก็มีการให้บริการเรียกรถระดับพรีเมียมชื่อว่า GrabCar ที่ยังให้บริการอยู่แค่ในประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ความด้อยประสิทธิภาพของระบบรถยนตร์นั้นไม่ได้มีอยู่แค่การเรียกยานพาหนะมารับส่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่ตัวรถยนตร์ที่เราทุกคนมีอยู่ที่บ้านอยู่แล้วเนี่ยแหละ
รถยนตร์ไม่ได้มีราคาถูก โดยเฉลี่ยรถยนตร์ขนาดเล็กในไทยนั้นราคาก็เริ่มต้นที่ประมาณห้าหกแสนแล้ว บวกค่าน้ำมันอีกสัปดาห์ละพันกว่าบาท พร้อมค่า พรบ. ประกันภัย ค่าที่จอดรถ และซ่อมแซมต่างๆอีกปีละหลายพัน รวมกันแล้วอาจแพงเกินกว่าคนที่มีรายได้ต่ำจะมาผ่อนจ่ายไหว
แต่ทั้งๆที่ซื้อมาแพงขนาดนั้น เวลาส่วนใหญ่ของรถยนตร์ส่วนใหญ่นั้นกลับไม่ได้ถูกใช้ แต่จะถูกจอดไว้เฉยๆที่ใดที่หนึ่งวันๆหนึ่งกว่า 20 ชั่วโมง
คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเอาเวลาที่รถอยู่เฉยๆมาใช้ประโยชน์หรือหารายได้ใช่ไหมครับ
บริษัท Tech Startup ก็คิดเช่นั้นเหมือนกัน จึงเกิดการพัฒนาธุรกิจ “Car Sharing” โดยมีบริษัทที่เริ่มบุกเบิกคือ ZipCar ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันบริษัทนี้ได้ถูกบริษัทผู้ให้บริการเช่ารถรายใหญ่อย่าง Avis ควบกิจการไปแล้ว โดย ZipCar เริ่มต้นบุกเบิกตลาดนี้ด้วยการทำตัวเป็นผู้ให้บริการเช่ารถยนตร์เอง แต่ตัดระบบศูนย์บริการออกจากระบบการเช่าด้วยการตั้งสถานีให้เช่ารถอยู่ทั่วเมืองทั่วประเทศตามลานจอดรถและที่จอดรถพิเศษข้างทางต่างๆที่ใครก็ต่างจอดรถกัน โดยหากผู้ต้องการใช้รถนั้นเห็นรถ ZipCar จอดอยู่ เขาก็สามารถที่จะนำการ์ดพิเศษที่ทาง ZipCar ออกให้ไปทาบกับกระจกรถยนตร์เพื่อให้เครื่องข้างในเห็นและทำการปลดล็อครถยนตร์ เพียงเท่านี้ผู้ขับก็สามารถไปสถานที่ใดๆที่ตนเองต้องการก็ได้ โดยเมื่อเวลาการเช่าหมด ก็สามารถนำรถขับไปจอดไว้ที่เดิมได้เลย
แต่ในขณะที่ ZipCar ให้บริการเช่ารถยนตร์ที่ตนเองเป็นเจ้าของ ปัจจุบันมีบริการใหม่ RelayRides กับ GetAround ที่เปิดให้ “ใครๆก็ได้” สามารถนำรถยนตร์ที่ตนเองมีเปิดให้คนอื่น “ร่วมใช้” โดยนำรูปภาพรถยนตร์และตำแหน่งที่ตั้งของตนเองประกาศบนเว็บ เสร็จแล้วผู้สนใจเช่าก็จะเข้ามาติดต่อขอเช่า และทางผู้ให้เช่าก็จำนำเอารถไปส่ง หรือในบางกรณี อาจเป็นการหาผู้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ซึ่งเรียกได้ว่า ทาง RelayRides กับ GetAround นั้นเป็นเหมือน “ตลาด” แทนที่จะเป็น “เจ้าของรถ” ให้บริการเสียเอง โดยปัจจุบันทาง RelayRides ได้ทำการเซ็นสัญญากับบริษัทผู้ผลิตรถยนตร์หลายๆรายเพื่อนำรถยนตร์รุ่นที่มีระบบปลดล๊อคไร้กุญแจมาทำให้ผู้เช่าทำการขับรถได้โดยเจ้าของไม่ต้องนำกุญแจไขไปให้ที่ตัวได้เลย
และในที่สุดก็มาถึงจุดร่วมของระบบเช่ารถและระบบเรียกรถให้บริการ เมื่อเกิดบริษัท “Lyft” ที่เป็นการทำให้ใครๆก็สามารถกลายมาเป็น “คนขับแท็กซี่” ได้ผ่านแอพเพียงแอพเดียว ซึ่งหมายความว่า หากใครมีรถและมีเวลาว่าง ก็สามารถนำมาใช้ทำมาหากินด้วยการโหลดแอพและประกาศตนเป็นผู้ขับรถ และเมื่อมีผู้โดยสารประกาศหารถผ่านแอพตัวนี้ในบริเวณที่ใกล้เคียง ต่างฝ่ายก็ต่างสามารถเลือกกันและกันเพื่อใช้บริการผู้ขับรถขับนำพาไปส่งยังที่หมายได้อย่างง่ายดาย โดย Lyft กำลังเป็นที่โด่งดังอย่างมากเพราะมีวัฒนธรรมองค์กรและแบรนด์ที่ขี้เล่น โดยบริษัทจะทำการแจก “หนวดชมพู” ฟูๆให้ไปติดไว้ที่หน้ารถเพื่อแสดงตนว่าเป็นรถขับ “Lyft” ซึ่งคนขับก็จะมีทั้งคนหารายได้เสริม คนขับหาเลี้ยงชีพประจำ และคนว่างๆอยากพูดคุยกับผู้คน
ปัจจุบัน Lyft ได้รับความนิยมอย่างมากและมากินตลาดที่ใหญ่กว่า Uber ซึ่งก็คือตลาดมหาชน ต่างจาก Uber ที่เน้นกลุ่มพรีเมียม จน Uber ต้องออกแอพ “Uber X” เพื่อมาแข่งกับ Lyft โดยตรง
นอกจากเทรนด์เรื่องของการนำซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชันมือถือมาใช้ในการใช้อรรถประโยชน์ของรถยนตร์ให้เต็มที่และการเรียกรถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในประเทศไทยเองยังมีบริการชื่อว่า “U Drink I Drive” ที่ให้บริการขับรถนำส่งผู้โดยสารที่ดื่มแอลกอฮอล์เกินระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้คนที่เมาสุรามีรถกลับบ้านอย่างปลอดภัย สามารถทิ้งรถตัวเองไว้ที่บ้านหรือที่จอดรถได้ โดยรถยนตร์ที่ให้บริการนี้จะเป็นรถลิมูซีนขับโดยคนขับที่ถูกอบรมมาพร้อมให้บริการผู้โดยสารกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ
แต่นอกจากเรื่องสนุกๆอย่างนี้แล้วยังมีเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามองสองอย่างคือ “รถพลังงานไฟฟ้า” และ “รถขับเคลื่อนด้วยตนเองอัตโนมัติ”
ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่รถพลังงานไฟฟ้าได้กลายเป็นจริงแล้ว โดยมีรถต้นแบบคือรถของบริษัท “Tesla Motors” ผู้ซึ่งตั้งชื่อบริษัทตามบิดาของระบบพลังงานไฟฟ้า แต่ก่อตั้งโดย “Elon Musk” ผู้ก่อตั้ง PayPal ระบบชำระเงินออนไลน์ใหญ่สุดของโลก และ “SpaceX” บริษัทผลิตยานอวกาศภาคเอกชนรายแรกที่ได้รับการอนุมัติจาก NASA ให้ออกสู่อวกาศจริง และได้ทำการบินออกนอกโลกไปแล้วเมื่อปี คศ. 2013
หลังจากที่ Tesla ทำการออกรถตัวแรกภายใต้นาม “Tesla Roadster” ออกมาในรูปแบบของรถหรูของเล่นคนรวยเพื่อทดลองตลาดแล้ว ปัจจุบันได้ทำการตลาดรุ่น “Tesla Model S” ซึ่งเป็นรถที่ถูกลงมาแต่แม้จะยังมีราคาอยู่ระดับนักธุรกิจอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดให้ผู้คนทั่วไปสามารถจับจองใช้ได้โดยสมบูรณ์ โดยปัจจุบัน Model S ขายดีจนผลิตไม่ทัน ได้รับการประเมิณจากผู้ประเมิณความปลอดภัยของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้เป็นรถยนตร์ที่ปลอดภัยที่สุดที่เคยถูกสร้างมา เพราะตัวรถเองไม่มีเครื่องยนตร์ด้านหน้า จึงไม่เสี่ยงต่อภัยระเบิด และเหมือนมีกันชนที่หนาขึ้นหลายเท่าตัวมาแทนที่ โดยในแง่การขับนั้น รถยนตร์มีอัตราเร่งที่เทียบเท่ารถแข่งระดับ Porsche แต่เร่งได้โดยไม่มีเสียงดัง และขับได้อย่างนุ่ม พร้อมแอพพลิเคชันแผนที่และการควบคุมต่างๆด้วยหน้าจอที่เหมือนแท็บเบล็ทอยู่ที่ตรงคอนโซลรถยนตร์
เรียกได้ว่าในขณะที่ผู้ผลิตรถยนตร์รายใหญ่ๆของโลกยังติดปัญหาเรื่องกฏหมาย โมเดลธุรกิจ และความสามารถ จนผลิตได้แต่รถยนตร์ Hybrid นั้น ได้มีบริษัทเกิดใหม่เข้ามาแซงในเรื่องการผลิตรถยนตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้วโดยสมบูรณ์
เมื่อรถเราฉลาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ข้อเสียข้อสุดท้ายของรถยนตร์ก็อาจจะได้รับการแก้ไขเร็วกว่าที่คิดเช่นกัน… ซึ่งข้อนั้นก็คือ “คนขับ” นั่นเอง
เป็นข้อเท็จจริงที่อุบัติเหตุในท้องถนนกว่า 90% นั้นมาจากความผิดพลาดของตัวคนขับเอง อาจเกิดจากทั้งความประมาท หรือความเหนื่อยล้า จนบริษัทเจ้าพ่อตรรกะคอมพิวเตอร์อย่าง Google ได้ทำการทดลองประดิษฐ์รถที่สามารถที่ขับด้วยคอมพิวเตอร์ หรือเรียกตรงตัวว่า “รถขับด้วยตัวเอง”(Self-driving cars) ได้อย่างเรียบร้อยแล้ว ด้วยการติดเซ็นเซอร์และคอมพิวเตอร์เข้าไปในตัวรถยนตร์ ให้สามารถรู้เส้นทางจาก Google Maps และตำแหน่ง GPS พร้อมใช้เซ็นเซอร์ทราบถึงสิ่งของรอบตัว ซึ่งปัจจุบัน รถยนตร์ขับด้วยตนเองนั้นไม่ใช่ความฝัน แต่ได้ถูกใช้ทดลองขับอยู่แล้วในเมืองซาน ฟรานซิสโก โดยจะขับไปเรื่อยๆรอบเมือง แต่มีพนักงานนั่งอยู่ตรงที่คนขับเพื่อยึดระบบคืนจากคอมพิวเตอร์หากมีข้อผิดพลาดใดๆ
ความฝันของรถยนตร์ที่ขับด้วยตนเองนี้ นอกจากจะแค่ทำให้เราสบายไม่ต้องขับรถแล้ว เหล่านักอุดมการณ์ยังมีวิสัยทัศน์ว่าต่อไปในอนาคต เราจะไม่ต้องซื้อรถเป็นของตนเองแล้ว เพราะสามารถตื่นขึ้นมา ใช้แอพพลิเคชีนเรียกรถยนตร์ที่ขับด้วยตนเองที่ใกล้ที่สุดมารับ ขึ้นนั่ง ไปถึงที่หมาย แล้วปล่อยให้รถยนตร์ขับไปรับคนต่อไปได้ทันที
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน วงการรถยนตร์มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และมักจะมาจากฝั่ง Tech Startups มากกว่าฝั่งบริษัทผลิตรถยนตร์ยักษ์ใหญ่เสียด้วย จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุคที่รถยนตร์ได้รับการพัฒนานวัตกรรมเยอะที่สุดนับตั้งแต่นาย Kark Benz คิดค้นรถยนตร์และนาย Henry Ford คิดค้นระบบการผลิตรถยนตร์ขึ้นมา
จริงๆแล้วเรื่องของแท็กซี่และรถยนตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทยที่มีรถแท็กซี่จำนวนมากและเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนตร์ที่สำคัญ อยู่ที่ว่าคนไทยกล้าที่จะคิดและกล้าที่จะทำ Tech Startup ให้ประเทศไทยเชิดหน้าชูตาในวงการได้อย่างเขาบ้างแล้วหรือไม่
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@sellsuki.com
website: http://lertad.com
twitter: @lertad