Growth
หนึ่งในเป้าหมายหลักที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องการจะทำให้สำเร็จนั้นก็คือการทำให้บริษัท “เติบโต” อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตด้านขนาดองค์กร หรือการเติบโตทางด้านส่วนแบ่งของตลาด แต่การ “เติบโต” นี้ก็มีหลายรูปแบบและทิศทางที่จะเป็นไปได้ แล้วแต่กลยุทธ์หรือสถานการณ์ที่พาไป ซึ่งเราก็ควรที่จะรู้และศึกษาไว้เพื่อที่จะมาคิดคำนึงถึงในการกำหนดกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจของเราเอง
หากมองในภาพรวมแล้ว การเติบโตหรือขยายตัวขององค์กรนั้นมักจะแบ่งกันออกเป็นสองลักษณะกว้างๆ คือ “Organic Growth” และ “Non-Organic Growth”
Organic Growth ในที่นี้มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรปลอดอินทรีย์แต่อย่างใด แต่เป็นการเปรียบเปรยถึงการเติบโตที่เกิดขึ้นได้ด้วยกำลังของบริษัทเอง ผ่านการขายสินค้าหรือบริการของบริษัทให้กับลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการเติบโต “ตามธรรมชาติ” นั่นเอง
ในเมื่อคำว่า Organic Growth นี้หมายถึงการเติบโต “โดยธรรมชาติ” ด้วยกำลังของบริษัทเองแล้ว การเติบโตแบบ Non-Organic Growth จึงหมายถึงการมีปัจจัยหรือองค์กรภายนอกเข้ามาทำให้บริษัทเติบโต เช่น การควบรวมกิจการอื่นๆ หรือการได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เป็นต้น
ในมุมมองของนักบริหารหรือนักลงทุนนั้น มักจะให้ความสำคัญกับ Organic Growth มากกว่า เพราะเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารและจัดสรรทรัพยากรขององค์กร เพื่อที่จะสร้างยอดขาย ขยายฐานลูกค้า หรือเพิ่มผลผลิตของบริษัท ฯลฯ การเติบโตแบบ Organic Growth นั้นบางทีจึงเรียกว่า “Core Growth” หรือการเติบโตของ “แก่นหลัก” ของบริษัท
ทั้งนี้การเติบโตแบบ Organic Growth ที่ดีนั้น ควรจะเป็นการเติบโตที่เร็วกว่าการเติบโตของขนาดตลาด เพราะจะหมายความว่า เราสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น แต่หากเราเติบโตได้ช้ากว่าตลาด แม้เราอาจจะได้กำไรมากขึ้น แต่ก็หมายความว่าเราอาจกำลังถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไปและอาจจะประสบปัญหาได้ในอนาคต
สำหรับการเติบโตแบบ Inorganic Growth นั้น แม้ชื่อจะดูไปในทางลบ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่เป็นการเติบโตที่อาจเรียกได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการบริหารงานอย่างแท้จริง โดยบริษัทอาจจะเลือกโตแบบ Inorganic Growth เพื่อที่จะขยายช่องทางการจัดจำหน่าย หรือรับพนักงานหรือแนวความคิดใหม่ๆ เพื่อที่จะนำมาสร้าง Organic Growth ต่อไปในอนาคต
การเติบโตแบบ Inorganic นั้นมักจะเร็วกว่า Organic เพราะว่าเป็นการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนวัตกรรม ที่บริษัทรายย่อยมักจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้บริษัทที่ใหญ่กว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้ผลเป็นทวีคูณมากกว่าที่บริษัทรายย่อยต่างๆนั้นจะสามารถทำได้เพียงลำพัง ซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวนั้น มักจะแบ่งแยกออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ Merger, Acquisition, และ Takeover
คำว่า Merger นั้น หมายถึงการควบรวมกิจการโดย องค์กรสององค์กรต่างฝ่ายต่างนำทรัพย์สิน หนี้สิน และหุ้นของตนเองทั้งหมดมารวมกันเพื่อกลายเป็นบริษัทเดียว โดยเป็นการรวมหรือซื้อรวมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้ถือหุ้น ต่างจาก Acquisition ตรงที่ Acquisition อาจจะเป็นการซื้อหรือควบรวเพียงบางส่วนของบริษัท เช่น บริษัท ก. อาจต้องการเฉพาะแผนกผลิตสินค้า A ของบริษัท ข. แต่ไม่ต้องการแผนกผลิตสินค้า B ของบริษัท ข. เป็นต้น โดยบางทีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกซื้ออาจสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ได้
แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คำว่า Merger มักจะใช้เฉพาะเวลาบริษัทขนาดใกล้กันควบรวมกันเพื่อก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ หากเป็นการควบรวมแบบมีบริษัท ก. ไปซื้อ บริษัท ข. แม้จะเป็นไปด้วยความสมัครใจของ บริษัท ข. และเป็นการโอนสินทรัพย์ และหนี้สิน ทั้งหมดไปให้บริษัท ก. แต่ก็มักจะเรียกกันว่า Acquisition อยู่ดี
แต่ในส่วนของการ Takeover นั้น จะเป็นลักษณะของการที่บริษัท ก. เข้าไปซื้อหุ้นของ บริษัท ข. จนมีอำนาจในการบริหารบริษัท ข. ได้ หรือเรียกได้ว่า เป็นการ “เข้าครอบงำกิจการ” ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งการครอบงำที่เป็นมิตร หรือไม่เป็นมิตร แล้วแต่สถานการณ์และวิธีการที่เกิดขึ้น
Inorganic Growth ลักษณะอื่นๆนอกเหนือจากการควบรวมกิจการนั้น ได้แก่ การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือนโยบายรัฐ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลประโยชน์ให้กับบริษัท ซึ่งตามหลักสากลนั้น มองว่าเป็นการเติบโตที่เกิดจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของบริษัท จึงไม่ควรเรียกว่าเป็น Organic Growth
นอกจาก Organic & Inorganic Growth ที่เป็นการมองภาพรวมของบริษัทแล้ว อีกมุมมองในเรื่องของการเติบโตคือ การมองในแง่ของการขยายการผลิตสินค้าและบริการของบริษัท ซึ่งจะแบ่งแยกเป็น Vertical Growth (หรือ Vertical Integration) กับ Horizontal Growth (หรือ Horizontal Integration)
Vertical Growth นั้น แปลตรงตัวเรียกว่า “การเติบโตในแนวดิ่ง” หรือ “แนวตั้ง” โดยเป็นวิธีการเติบโตโดยมองว่าลูกค้าของเรานั้นมีความต้องการสินค้าหรือบริการอะไรอื่นๆที่บริษัทเราไม่ได้ผลิต แล้วจึงทำการผลิตและขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ เช่น สตูดิโอถ่ายภาพแต่งงาน อาจทำการขยายกิจการเพื่อขายชุดแต่งงาน ชุดสูท หรือการจัดดอกไม้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตแบบ Vertical Growth หรือการเติบโตแบบแนวดิ่งนี้ จะมีประสิทธิภาพแท้จริงก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถทำการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆได้โดยสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ทรัพยากรมนุษย์ หรือ fixed costs ต่างๆในปัจจุบันของบริษัท
ทั้งนี้การเติบโตแบบนี้เรียกว่าเป็นการเติบโตแบบ “แนวดิ่ง” (vertical) เพราะเป็นการเปรียบการจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการปัจจุบันของเราไปให้ลูกค้า เป็นเส้นตรงแถวหนึ่ง การเพิ่มสินค้าและบริการอื่นๆจึงเป็นการเพิ่ม หรือ ยึดแถวอื่นๆ ที่มีอยู่ให้มาเป็นของเรา นั่นเอง
ในส่วนของ Horizontal Growth นั้น แปลตรงตัวว่า “การเติบโตในแนวนอน” โดยเป็นการเพิ่มความยาวของเส้นการจัดจำหน่ายดังกล่าว หรือกล่าวคือ การเพิ่มจำนวนลูกค้าให้กับสินค้าหรือบริการปัจจุบันของเรานั่นเอง โดยการเติบโตแบบ Horizontal ที่มีประสิทธิืภาพสูงสุดนั้น ควรจะเป็นการเติบโตเพื่อมุ่งไปสู่การเกิด Economies of Scale หรือการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตสินค้าและบริการต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง หรือพูดง่ายๆก็คือ สามารถใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพย์สินปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้ศูนย์การจัดจำหน่ายสินค้าแหล่งเดียว สามารถจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้น โดยไม่เกิดการเพิ่มขึ้นของต้นทุนต่อจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมา
การเลือกว่าธุรกิจของท่านจะเติบโตไปในด้านไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย หากคุณต้องการจะควบรวมกิจการ ก็จะต้องถามว่าควบแล้วจะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษหรือไม่ และสิ่งที่เราได้นั้นจะเป็นการต่อยอดสิ่งที่เรามีอยู่หรือไม่
หรือหากจะพิจารณาเรื่อง Horizontal กับ Vertical Growth ก็อาจจะต้องถามคำถามจำพวกว่า ค่าใช้จ่ายในการได้ลูกค้าใหม่แต่ละรายนั้นอยู๋ที่เท่าไหร่ (ต้องเสียค่าโฆษรา เวลา และแรงงาน เท่าไหร่) และค่าคอบแทนที่ได้ลูกค้านั้นคุ้มมั้ย หากไม่คุ้ม ก็อาจจะเริ่มมองวิธีการเติบโตแบบ Horizontal เพื่อสร้างกำไรจากลูกค้าเดิมให้มากขึ้น เป็นต้น
การทำธุรกิจนั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณเลือก บนพื้นฐานของทรัพย์สินและความสามารถปัจจุบัน เทียบกับโอกาสในตลาดที่มีอยู่ในอนาคต นี่คือเสน่ห์ ความสนุก และความเครียดของการบริหารธุรกิจที่ทุกท่านคงทราบดี
แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@flyingcomma.com