“Sharing Economy” - แนวคิด Startup ใหม่ หากำไรจากทรัพย์สินที่ไม่ได้ถูกใช้
หลายๆคนคงจะพอรู้จักการ “ขายของมือสอง” กันอยู่บ้างแล้ว ด้วยแนวคิดของการนำสินค้าที่ตนเองไม่ได้ใช้แล้วมาปล่อยขายให้คนอื่นได้ใช้ต่อ แทนที่จะปล่อยมันทิ้งไว้อยู่เฉยๆ
แต่บางทีเราก็มีของที่ไม่ค่อยได้ใช้แต่ก็ยังอยากเก็บไว้อยู่เหมือนกัน ซึ่งบ่อยครั้ง ทรัพย์สินเหล่านี้ก็จะถูกวางไว้อยู่เฉยๆ ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ใดๆ
ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์หนึ่งคัน เราซื้อมาในราคาหลายแสนหลายล้าน แต่เรากลับใช้มันอยู่แค่วันละไม่กี่ชั่วโมง หรือบางทีก็มีรถคันเก่าๆที่เราเก็บเผื่อไว้ใช้แค่ครั้งคราว
ในคอลัมน์ที่แล้วผมเลยได้มีโอกาสพูดถึงบริษัท “Lyft” ที่เป็นบริการให้คนสามารถแปลงรถยนต์ของตัวเองที่บ้านมากลายเป็นแท็กซี่ได้ง่ายๆผ่านการประกาศให้บริการผ่านแอพพลิเคชันมาแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสารกลุ่มใหม่ที่มีรถและเวลาอยู่ว่างๆและต้องการหาเงิน ให้สามารถปหารายได้จากการขับรถส่งผู้โดยสารในช่วงที่มีเวลาได้ หรือบริษัทอย่าง “RelayRides” ที่เป็นบริการให้คนสามารถปลล่อยรถยนต์ของตัวเองให้คนอื่นเช่าเป็นช่วงเวลาได้เหมือนบริษัทปล่อยเช่ารถทั่วไป
หรือแม้กระทั่งตัว “Uber” เองที่เหมือนจะเป็นบริการรถโดยสารระดับหรูแต่เรียกตัวเองว่าเป็นบริการ “Ridesharing” เพราะแทนที่จะไปขอขึ้นทะเบียนรถให้บริการผู้โดยสารแต่ใช้วิธีการซื้อรถมาแล้วให้คนขับกับผู้โดยสารใช้บริการกันผ่านแอพโดยตรงไปเลย
ธุรกิจที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ ปัจจุบันได้ถูกเรียกว่าเป็นธุรกิจประเภทที่สร้างคุณค่าจาก “Sharing Economy” หรือ “เศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน” หรือที่บางที่ก็เรียกว่า “Collaborative Consumption” หรือการ “แบ่งกันบริโภค” ซึ่งหากจะเรียกตามศัพท์เศรษฐศาสตร์แล้วคงจะเป็นการ “ใช้อรรถประโยชน์” จากสินทรัพย์ให้เต็มที่มากขึ้น แต่หากจะเรียกภาษาทั่วไปก็คือนำของที่วางทิ้งไว้เฉยๆเย็นๆมาใช้ทำเงินเอาซะเลย คล้ายกับที่คนในวงการหุ้นชอบเรียกว่าเป็นการทำให้เงินหรือสินทรัพย์ “ทำงานแทนเรา” ผ่านการปล่อยให้คนอื่นใช้แทน
หรือหากจะเรียกให้ง่ายยิ่งขึ้นเข้าไปอีกก็คือ เป็นบริการที่สร้างพฤติกรรมการ “ให้เช่า” ให้ง่ายขึ้นนั่นเอง
บริษัทเหล่านี้จะมีแนวคิดในการสร้างโมเดลธุรกิจสำคัญอยู่สองอย่างคือ
การใช้สมาร์ทโฟนหรือเว็บไซท์ในการให้ผู้ให้บริการประกาศให้บริการ และให้ผู้สนใจใช้บริการค้นหาผู้ให้บริการ
การใช้ประวัติการทำรายการหรือโซเชียลเน็ตเวิร์คในการสร้างความน่าเชื่อถือและการมีตัวตนของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
ซึ่งหากจะพูดถึงบริษัทดังๆในกลุ่ม “Sharing Economy” แล้ว นอกจากตัว “Uber” ที่เกี่ยวกับเรื่องรถยนต์แล้ว คงจะต้องพูดถึง “AirBnB” ที่มาเจาะตลาดโรงแรมและคอนโดด้วยการให้ใครก็ได้ที่มีบ้านหรือที่พักนำมาประกาศให้บริการ “เช่าที่พัก” ผ่านเว็บไซท์ของตนเอง เปิดให้บริการแล้วทั่วโลก รวมถึงที่ในประเทศไทยเอง มีผู้มีใช้บริการและมีรายได้จาก AirBnB เดือนหลายหลายหลักกันหลายรายแล้ว จนปัจจุบันตัว “Uber” เองได้รับการตีมูลค่าไว้ที่ $18,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ AirBnB อยู่ที่ $10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯตามลำดับ โดยธุรกิจนี้ในภาพรวมในปี คศ. 2014 ได้รับการตีมูลค่าจากนิตยสาร FORBES ว่าน่าจะมีรายได้กันอยู่ที่ประมาณ $3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โตขึ้นจากปี คศ. 2013 มากถึง 25% เลยทีเดียว
และเมื่อเทรนด์ธุรกิจมันโตมาขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ในแถวประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เริ่มมีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมากที่ต้องการจะนำแนวความคิดของ Sharing Economy นี้มาใช้ โดยทางบริษัท Nielsen ได้ประเมิณไว้ว่าผู้บริโภคในแถบนี้เองก็เริ่มที่จะเปิดรับบริการเหล่านี้ โดยวางประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยของเราเอง
ยกตัวอย่างเช่นบริษัท “Withlocals” จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่กำลังเติบโตอยู่ทั่วโลกที่ดูผ่านๆเหมือนเป็นผู้ให้บริการทัวร์ท่องเที่ยว แต่จริงๆแล้วมีความแตกต่างตรงที่เป็นตลาดเชื่อมให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวในรูปแบบของการร่วมกิจกรรมกับคนในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร เที่ยวแหล่งท่องเที่ยว หรือพักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งมีจุดแตกต่างจากบริษัททัวร์ทั่วไปตรงที่ทางตัว Withlocals เองนั้นไม่ได้คอยจัดหาจ้างพนักงานไกด์เป็นของตนเอง แต่เปิดให้คนในพื้นที่แต่ละประเทศนั้นๆเข้ามาเสนอบริการเองว่าสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวอะรได้บ้าง เช่น สอนทำอาหาร พาไปกินข้าวร้านอาหารที่รสชาติเป็นแบบของคนประเทศนั้นจริงๆ พาวิ่งรอบออกกำลังกายยามเช้า หรือแม้กระทั่งเรื่องอย่างการอาสาพาขับรถไปที่ต่างๆในประเทศ
ในประเทศเวียดนามเองก็มีบริษัทชื่อ “Triip.me” ที่ทำเรื่องท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน แต่เล่นในมุมของการให้ผู้ต้องการให้บริการมาสร้างแพคเกจทัวร์โดยเฉพาะ แล้วนำเสนอให้คนที่สนใจท่องเที่ยวมาเลือกใช้บริการคนเหล่านั้นได้ ซึ่งก็จะมีทั้งไกด์มืออาชีพ และคนที่พึ่งสนใจอยากหารายได้ทางด้านนี้มาประกาศตัวเอง
ซึ่งหาก “Triip.me” ของประเทศเวียดนามเล่นในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว ทางมาเลเซียเองก็มีข่าวว่าบริษัท “Plate Culture” จากประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยบริการให้คนทางบ้านที่มั่นใจในฝีมือการทำอาหารสามารถเปิดบ้านให้คนภายนอกมาทานข้าวที่บ้านเขาได้ เปรียบเสมือนเป็นบริการร้านอาหารสำหรับทีละไม่กี่คน
ในประเทศฟิลิปปินส์เองที่มีปัญหาเรื่องการคมนาคมขนส่งอยู่พอสมควร นอกจากจะมีบริษัท Tripid ที่เลือกโมเดลธุรกิจแบบ Lyft ด้วยการสร้างชุมชนให้ใครๆก็เป็นคนขับและผู้โดยสารได้แล้วนั้นยังทำเรื่องระบบให้คนลดภาระค่าโดยสารด้วยการอนุมัติให้คนประกาศเส้นทางเดินทางปกติของตนเอง เช่น เส้นทางขับรถไปทำงาน เผื่อว่าจะมีใครที่ต้องการไปเส้นทางเดียวกัน แล้วอยากจะแบ่งปันค่าน้ำมันด้วยกัน อีกด้วย
แต่ที่น่าสนใจคือเว็บ “Magpalitan” ที่คล้ายๆเว็บประกาศขายของในบ้านเรา แต่นำเสนอตัวเองว่าเป็นบริการ “แลกเปลี่ยนของ” มากกว่าการขาย โดยคนจะทำการนำสินค้าตัวเองขึ้นมาประกาศด้วยการถ่ายรูปและเขียนรายละเอียด ให้คนสามารถติดต่อได้ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือนอกจากตัวสินค้าแล้วก็มีการประกาศบริการต่างๆ เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ รับเลี้ยงลูก ฯลฯ อีกด้วย
ในประเทศสิงคโปร์เองก็ให้ความสำคัญกับการเติบโตของโมเดลธุรกิจนี้อย่างมากจนได้ตั้งสมาคม “Sharing Economy” เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจที่ใครๆก็กลายมาเป็นผู้ให้บริการได้แบบนี้ พร้อมทั้งทำการเจรจากับภาครัฐเกี่ยวกับกฏหมายและการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าธุรกิจแนว “Sharing Economy” หรือ “Collaborative Consumption” นี้ค่อนข้างที่จะน่าสนใจ เพราะเป็นการตอบโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ด้วยการ “เพิ่มประสิทธิภาพ” (efficiency) ผ่านการสร้างตลาดให้กับคนที่มีทักษะ มีเวลา แต่อาจไม่ได้มีโอกาสหรือเวทีที่จะได้นำเสนอความสามารถของตัวเองหรือเสนอสินทรัพย์ที่ตัวเองมีให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระจายรายได้ให้คนทั่วไปแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ มลพิษ และความฟุ่มเฟือย ได้อีกด้วย เพราะจะช่วยลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นไปอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการให้บริการจากคนหมู่มาก คงจะไม่มีใครสามารถหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงปัญหาอาชญากรรมหรือการคดโกงได้ เมื่อธุรกิจเหล่านี้เติบโตขึ้น จึงย่อมเกิดปัญหามิจฉาชีพอยู่บ้างเป็นธรรมดาของธุรกิจแม้จะพยายามมีมาตรการป้องกันเท่าใดก็ตาม อย่างเช่นการยกเค้าขโมยของในที่พัก หรือปัญหาความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งจริงๆแล้วแม้จะเป็นเรื่องปกติของทุกประเภทธุรกิจ แต่ย่อมเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือในกลุ่มผู้บริโภคได้อยู่แล้ว บริษัทเหล่านี้จึงมักจะต้องเริ่มมีการซื้อประกันป้องกันความเสียหายตามๆมา ซึ่งหากบริหารไม่ดีก็อาจกลายเป็นค่าใช้จ่ายให้กลายเป็นธุรกิจที่ไม่คุ้มทุนจนได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมค่อนข้างชอบแนวความคิดการนำสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือทักษะและเวลา มาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างตลาดออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างจับต้องได้จริงๆ หวังว่าในประเทศไทยเอง จะมีผู้ประกอบการที่นำแนวความคิดนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้บ้างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการโดยสาร ที่จอดรถ การท่องเที่ยว บริการซักผ้า ฯลฯ หรืออะไรอีกมากมายที่เป็นปัญหาที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@sellsuki.com
website: http://lertad.com
twitter: @lertad