Wearable Technology ยุคต่อไปของอุปกรณ์เทคโนโลยี
รูปภาพจาก http://www.geek.com/news/the-state-of-wearable-tech-in-2014-1580626/
เคยสงสัยมั้ยครับ ว่าเมื่อโลกเรามีการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเบล็ทกันออกมาอย่างมากมายในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาแล้ว จะมีอะไรใหม่ๆมาให้เราเล่นกันอีกในอนาคต? สำหรับผู้ที่ติดตามเทคโนโลยี อาจจะสังเกตเห็นว่านักประดิษฐ์ยุคใหม่ได้เปลี่ยนความสนใจจากอุปกรณ์พกพาเหล่านี้หันมาคิดค้นอุปกรณ์ตัวใหม่ที่เล็กกว่าเดิมที่เรียกได้ว่าเป็นเหล่าอุปกรณ์ไอทีที่ออกแบบมาใช้สำหรับสวมใส่ หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษกันว่า “Wearables” นั่นเองครับ
อุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาไม่ใช่เพียงสำหรับการพกในกระเป๋าสะพายหรือกระเป๋ากางเกง แต่สำหรับใส่บนตัวเลย เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่เราทำ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หรือข้อมูลสภาพแวดล้อมของเราหรือสถานที่ที่เราไป เพื่อนำมาแสดงเป็นข้อมูลคล้ายกับแอพต่างๆในสมาร์ทโฟนของเรานั่นเอง
หนึ่งนั้นคือ สายรัดข้อมือ “UP” ที่ผลิตโดยบริษัท Jawbone ผู้คิดค้นลำโพง Bluetooth ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอย่าง “Jambox” ขึ้นมาจนตอนนี้กำลังกอบโกยรายได้จนใกล้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว และมีคู่แข่งตัวฉกาจที่มาก่อนอย่าง Fitbit ที่สวยงามไม่แพ้กัน แต่ทำหน้าที่ได้น้อยกว่า และพึ่งประสบปัญหาว่าผลิตภัณฑ์ก่อให้เกิดการระคายเคืองบนผิวหนังสำหรับคนบางคนจนต้องมีการเรียกเก็บข้อมูล
อีกผลิตภัณฑ์ที่น่าพูดถึงที่แม้อาจไม่ได้มีการทำงานในด้านของการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายหรือการแสดงข้อมูลผ่านหน้าจอหรือการทำงานแบบแอพเหมือน Wearables อื่นๆ แต่ก็เป็นบริษัทที่เกิดเพียงไม่กี่ปีก็เข้าตลาดหุ้นไปแล้ว กล้องพกพายอดฮิต “GoPro” ที่เติบโตจากการเป็นกล้องเลนส์กว้างถ่ายภาพคุณภาพ HD พร้อมความอึดทนทานจนนักกีฬาทั่วโลกนิยมติดตั้งไว้บนตัวเพื่อบันทึกภาพที่ตนเองเห็นเวลาเล่นกีฬาทุกประเภท ตั้งแต่กระโดดร่ม ขับรถแข่ง สเก็ตบอร์ด ขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ ไปจนการดำน้ำ เล่นสกี หรือเซิร์ฟบอร์ด จนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกที่ผูกพันกับการผจญภัยและการแข่งขันกีฬาไปแล้ว พร้อมกับการหลั่งออกมาสู้กลุ่มคนทั่วไปซึ่งเลือกที่จะนำมันมาติดรถหรือแม้กระทั่งมาต่อกับอุปกรณ์ถือกล้องเพื่อถ่าย “selfie” หมู่ในงานรับปริญญา
แต่หากจะพูดถึง Wearables ประเภทอุปกรณ์ที่ใส่บนข้อมือทั้งที ก็คงจะเลี่ยงที่จะพูดถึงนาฬิกา “Pebble” ไม่ได้ นาฬิกา Pebble นี้หากเทียบกับอุปกรณ์ปัจจุบันแม้จะต้องเรียกว่าไม่ได้มีความสวยงามนัก แต่ในตอนที่มันถูกแสดงออกมาบนหน้าเว็บครั้งแรก กลับสามารถเรียกระดมรายได้กว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐจากเว็บระดมทุน Kickstarter ทั้งๆที่ทางบริษัทตั้งเป้าไว้ในตอนแรกแค่เพียง 1 แสนเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเปิดและพิสูจน์ตลาดว่ามีความพร้อมและมีคนมีความต้องการอย่างแท้จริงแล้ว
แต่ถึงแม้จะเห็นว่าตลาด Wearables มีความคึกคักเป็นอย่างสูง มีทั้งรายใหญ่และรายเล็กกระโดดเข้ามาเล่น แต่หากคุณเป็นคน “ทั่วไป” ที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีมากนัก ไม่ใช่นักกีฬา และไม่ใช่นักคลั่งโภชนาการ แต่มีคำถามว่าจะซื้ออุปกรณ์พวกนี้มาเล่นดีไหม คงจะต้องขอแนะนำว่า “อย่าพึ่ง” เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ยังอยู่ในช่วงการทดลองว่าจะสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้กับเราได้บ้าง ส่วนใหญ่แล้วเน้นเรื่องการเก็บและแสดงข้อมูลแบบตรงไปตรงมามากกว่าจะสามารถแนะนำได้ว่าเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร หรือนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ
หนึ่งในปัญหาของวงการ Wearables นี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อมันยังไม่ได้สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้มหาศาล หลายๆครั้งจะเกิดอาการการ “ซื้อแล้วไม่ใช้” โดยเฉพาะหากอุปกรณ์ตัวนั้นไม่ได้มีความสวยงาม เนื่องจากเมื่อมันเป็นอุปกรณ์ที่ติดอยู่บนตัวเราแล้ว นอกจากมันจะมีหน้าที่รบกวนเราด้วยข้อมูลที่ควรจะเป็นประโยชน์แล้ว มันยังรบกวนภาพลักษณ์การแต่งตัวเราอีกด้วย จึงเรียกได้ว่า Wearables นี้มีความเป็นแฟชันยิ่งกว่าที่ผ่านมาจนไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัท Apple ซึ่งมีข่าวลือว่าจะออกอุปกรณ์สำหรับใส่บนข้อมือหรือ “Smart Watch” มาเหมือนกันนั้น ได้ทำการจ้างทั้งอดีต CEO ของ Yves Saint Laurent อดีต CEO ของ Burberry รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และ Nike Fuelband สายข้อมือวัดระดับสุขภาพชิ้นแรกๆของโลกอีกหนึ่งตัวออกมา
ในงาน WWDC 2014 ที่ผ่านมา บริษัท Apple ได้เลือกที่จะเอาใจเหล่าโปรแกรมเมอร์ด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ที่ทำให้เหล่านักเขียนโค้ดสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลต่างๆที่ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกอย่าง iPhone ของตนเองสามารถเก็บได้ พร้อมออกแอพพลิเคชันที่เป็นตัวอย่างการใช้งาน อย่าง Health เพื่อเป็นแอพพลิเคชันที่ต้องการทำตัวเป็นศูนย์กลางของแอพและอุปกรณ์เก็บข้อมูลทั้งหมด ให้ผู้ใช้ไม่ต้องคอยกดเข้าไปในแต่ละแอพ สามารถกดที่แอพ Health อย่างเดียวก็พอ
เหตุผลที่ Apple เลือกที่จะนำซอฟท์แวร์เหล่านี้มาเปิดตัวและเชิดชูในงาน WWDC ของตนเองแทนที่จะพูดถึงอุปกรณ์ต่างๆของตนเองทั้งๆที่เวทีนี้เป็นเวทีที่บริษัทเคยใช้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เขย่าวงการอย่าง iPhone และ iPad มาก่อนนั้น คงจะเป็นเพราะบริษัทได้เล็งเห็นแล้วว่า “Health” และ “การนำข้อมูลมาใช้” จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อันสำคัญอันถัดไป โดย เห็นได้ชัดว่าในบรรดาอุปกรณ์ Wearables ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลทั้งหมด มีการผลิตผลิตภัณฑ์ในหัวข้อ Fitness, Medical มาเยอะที่สุด และสามารถทำงานร่วมกันได้มากที่สุด ต่างจากอุปกรณ์หมวด Lifestyle ที่อาจมีทั้งจำพวกการถ่ายรูป หรือการแสดงข้อมูลสถานที่ ซึ่งไม่ได้เหมาะที่จะรวมกันอยู่ในแอพเดียว
ข้อมูลจาก http://vandrico.com/database
และแน่นอนว่า ไม่ใช่เพียง Apple ที่ต้องการเกาะเทรนด์ใหม่ตัวนี้ โดยทาง Google เองหลังจากที่ได้ลองออกตัวแว่นตา Google Glass ที่สามารถรับคำสั่งจากเสียงและการขยับหัวเพื่อทำการค้นหาข้อมูล บอกทิศทาง และถ่ายรูปถ่ายวิดีโอมาทดลองเล่นแล้ว และได้ซื้อบริษัท Nest ผู้ทำอุปกรณ์สำหรับควบคุมอุณหภูมิบ้านแล้ว ก็มีแผนที่จะออกระบบ Android Wear เพื่อมาทำหน้าที่เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์ Wearable เหล่านี้ และทาง Samsung เองก็ได้ออกนาฬิกา Galaxy Gear เพื่อทำงานกับมือถือ Samsung Galaxy ต่างๆ ในการแสดง Notification และข้อมูลที่ทางมือถือได้แสดงหรือเก็บไว้
เหล่านักวิเคราะห์ตลาดก็ได้มองว่าปี 2014 นี้น่าจะเป็นปีแห่งการเติบโตของผลิตภัณฑ์พวกนี้ โดยคาดว่าแค่อุปกรณ์ประเภทคาดข้อมือนี้ก็จะมีการซื้อขายกันกว่า 17 ล้านชิ้นแล้ว แต่แม้อุปกรณ์สำหรับข้อมือจะได้รับความนิยมสูงสุด โดยข้อมูลจากบริษัท Vandrico Inc ผู้ทำการค้นคว้าเรื่องอุปกณ์ Wearables นั้นได้ระบุว่ามีอุปกรณ์วางขายแล้วกว่า 94 ตัวทั่วโลก ก็ใช่ว่าชิ้นส่วนอื่นของร่างกายจะไม่ได้รับความสนใจ โดยมีการอุปกรณ์สำหรับหัว ตอ หัวไหล่ หน้าอก ลำตัว มือ แขน ขา กว่าอีก 139 ชิ้น ตั้งแต่อุปกรณ์สำหรับจับคลื่นความถี่เด็กที่อยู่ในท้อง ไปจนอุปกรณ์คอยจับพฤติกรรมการนอนว่ามีสุขลักษณ์ดีหรือไม่อย่างไร
เชื่อได้ว่าหากใครเริ่มเบื่อการเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ทกันแล้ว เร็วๆนี้คงจะมีอะไรใหม่ๆมาให้เราลองซื้อมาใช้ในชีวิตเราอย่างแน่นอนครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@sellsuki.com
website: http://lertad.com
twitter: @lertad