ศัพท์สำคัญในโลกสมาร์ทโฟนและแอพมือถือ ตอน 1 (Smartphones & Mobile Apps 1)
ท่านผู้อ่านที่ทำธุรกิจทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเราได้เข้ามาอยู่ในยุคของมือถือสมาร์ทโฟนอย่างเต็มตัวแล้ว ด้วยตัวเลขสถิติที่บ่งบอกว่าคนไทยนั้นเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ทผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในจำนวนที่เกือบเท่าการติดต่อผ่านคอมพิวเตอร์และมีแนวโน้มที่จะแซงภายในปีที่จะถึงนี้ คงจะถึงเวลาที่เราจะต้องทำความรู้จักศัพท์พื้นฐานในโลกของสมาร์ทโฟนนี้กันแล้วครับ
Smartphone - จริงๆแล้วศัพท์แรกที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนเลยก็คือคำว่า “Smartphone” หรือเรียกทับศัพท์ว่า “สมาร์ทโฟน” เนี่ยแหละ ว่าต่างจากโทรศัพท์มือถือปกติทั่วๆไปที่เราเคยใช้อย่างไร โดยสิ่งเด่นๆที่แยกความแตกต่างระหว่าง ”สมาร์ทโฟน” กับโทรศัพท์มือถือแบบ ”ดั้งเดิม” ที่ในภาษาอังกฤษเรียกอย่างน่ารักๆว่า “Feature phone” นั้นจะมีอยู่สองประเด็น คือ ความสามารถในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทและความสามารถในการพัฒนาและดาวน์โหลด “แอพ” หรือ “แอพพลิเคชัน” ที่เป็นโปรแกรมเพิ่มความสามารถเป็นของตนเองนั่นเอง ซึ่งการที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนนี้สามารถลงแอพที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้เช่นนี้ ทำให้มันเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์เล็กๆที่เราสามารถพกพาไปไหนมาไหนเพื่อติดต่อข้อมูลและสื่อสารและทำงานได้สะดวกในทุกที่ที่เราต้องการ
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงถึง 14 ล้านคนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะแซงจำนวนผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทซึ่งอยู่ที่ 18 ล้านคนภายในสองปีนี้ ในฐานะผู้ประกอบการ เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้โดยเฉพาะหากธุรกิจเรามีลูกค้าเป็น B2C มากกว่า B2B นะครับ
Apps - “App” หรือที่เรียกทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “แอพ” นั้นย่อมาจาก “Application” ที่หมายถึงพวกโปรแกรมที่เราสามารถใช้ทำงาน เช่น แอพถ่ายรูป แอพเอาไว้คุย แอพ facebook แอพ instagram เป็นต้น เปรียบเสมือนพวกโปรแกรม Microsoft Word หรือ Photoshop ที่เรามีในคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยทุกการทำงานของโทรศัพท์มักจะมองเป็นแอพแอพหนึ่ง ทำให้แม้แต่การโทรศัพท์ หรือสมุดบันทึกเบอร์โทรศัพท์ก็มักจะถูกเรียกเป็น “แอพโทรศัพท์” หรือ “แอพสมุดหนังสือ” นั่นเอง เรียกได้ว่าในมุมมองของสมาร์ทโฟนนั้น ความสามารถในการโทรศัพท์นั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งแอพที่โทรศัพท์สามารถทำได้นั่นเอง
App stores - “App store” นั้นแปลตรงตัวเลยว่า “ร้านขายแอพพลิเคชัน” ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อให้ผู้ใช้อย่างเราๆสามารถหา ซื้อ และติดตั้งแอพพลิเคชันลงโทรศัพท์มือถือได้ โดยแต่ละระบบปฎิบัติการก็จะมีร้านค้าแอพพลิเคชันของตัวเอง โดยของ iOS จะเรียกว่า “App Store” ส่วนของ Android ก็จะมีทั้ง “Google Play Store” ที่เป็นของ Google และร้านค้าอื่นๆที่ผู้ผลิตทำเอง เช่น “Samsung Apps” และ “Amazon Appstore for Android” โดยหากเราต้องการจะทำแอพเพื่อเหตุผลเชิงธุรกิจหรือการตลาด ก็จะต้องส่งผ่าน App Store พวกนี้ซึ่งต่างร้านต่างมีค่าใช้บริการและกระบวนการอนุมัติที่ต่างๆกันไป
Android/iOS - ด้วยความที่สมาร์ทโฟนนั้นเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์พกพา ตัวสมาร์ทโฟนก็เลยจำเป็นต้องมี “ระบบปฏิบัติการ” ของมันเองเหมือนกับที่คอมพิวเตอร์ PC มีระบบปฏิบัติการคือ Microsoft Windows และคอมพิวเตอร์ Mac มีระบบปฏิบัติการคือ OS X โดยจะมีระบบปฏิบัติการมือถือสมาร์ทโฟนสองระบบใหญ่ๆในปัจจุบันคือ iOS ที่หาเจอได้ในโทรศัพท์ iPhone ของ Apple กับระบบ Android ของ Google ที่หาเจอได้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอื่นๆส่วนใหญ่ เช่น Samsung, htc, LG, imobile, Oppo ฯลฯ นั่นเอง แต่ก็พอจะมีคู่แข่งอื่นๆคือ Windows Phone ของ Microsoft และ BlackBerry OS ของ BlackBerry แต่ไม่ได้เป็นจำนวนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับสองระบบใหญ่ โดยแต่ละระบบจะมีความแตกต่างในการใช้งานกันนิดหน่อย แต่ทุกระบบมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ต่ออินเตอร์เน็ทได้ และสามารถหาโหลดแอพพลิเคชันมาลงโทรศัพท์เพิ่มเติมได้เหมือนกันครับ
ทั้งนี้ ระบบ Android จะมีความน่าสนใจตรงที่เป็นระบบที่ Google ปล่อยให้ผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์อย่าง Samsung สามารถนำไปใช้ได้ฟรี จึงมีโทรศัพท์ราคาถูกๆหลายเครื่องที่มีความสามารถเป็นสมาร์ทโฟน และทำให้ระบบ Android เป็นระบบที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกในปัจจุบัน
ในมุมมองของผู้ประกอบการ หากเรากำลังสงสัยว่าจะต้องทำแอพลง iOS หรือ Android นั้น คำตอบที่ถูกต้องน่าจะเป็น “ต้องทำทั้งสองระบบ” เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้เยอะไม่แพ้กัน โดยแม้จำนวนผู้ใช้ Android จะมีเยอะกว่า แต่จากสถิติแล้วผู้ใช้ iOS ยังสร้างรายได้ให้นักพัฒนาได้มากกว่าอยู่ครับ
3G/4G/EDGE - ทุกวันนี้มีคนพูดถึงระบบ “3G” กันบ่อย โดยมีบางค่ายพูดไปถึง “4G” กันแล้ว สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่ทราบ “3G” ในที่นี้หมายถึงความเร็วในการใช้เน็ทนั่นเอง โดยเทคโนโลยีความเร็ว 3G นี้ก็คล้ายๆกับการทำถนนให้รถยนตร์ ก่อนหน้านี้เราใช้วิธีทำถนนแบบนึงที่พอจะทำให้เราขับรถได้อยู่ แต่พอมี 3G แล้วถนนมันเรียบขึ้น ขับง่ายขึ้น ทำให้เราสามารถไปได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งคนไทยเราก็กำลังจะได้ใช้กันอย่างเต็มที่แล้ว เพราะก่อนหน้าที่เราจะมีการประมูลคลื่นโทรศัพท์เพื่อแจกจ่ายให้กับค่ายโทรคมนาคมกันไปในปีที่ผ่านมานั้น หลายๆค่ายใช้วิธีพยายามปูถนน 3G นี้บนถนนเส้นทางเดิมที่แออัด ทำให้ได้ความเร็วได้ไม่เต็มที่เพราะยังต้องเบียดกับถนนเส้นเดิมอยู่นั่นเอง
สำหรับท่านที่สงสัยว่า “แล้ว 1G กับ 2G ไปไหนล่ะ” ตัวเทคโนโลยี “1G” นั้นใช้เรียกเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยุคแรกๆตอนที่ยังไม่แพร่หลายซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว โดยคลื่นที่เราใช้กันมาตลอดคือมาตรฐานคลื่น “2G” กับ “2.5G” นั่นเอง โดย 2G นั้นถูกใช้สำหรับส่งข้อมูลจำนวนน้อยๆอย่าง SMS และ 2.5G นั้นจะเป็นการส่งข้อมูลที่มากขึ้น เช่น MMS หรือการส่งอีเมลล์และเปิดเว็บผ่านระบบ EDGE ที่เราเคยใช้กันนั่นเองครับ
สำหรับผู้ประกอบการ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงว่าเทคโนโลยี 3G จะกระทบกับธุรกิจเราเช่นไรนั้น ให้นึกถึงว่าการที่ประเทศไทยมี 3G จะทำให้การใช้อินเตอร์เน็ทมีจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดูวิดีโอ ฟังเพลง และการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้เติบโตหลายเท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาแล้วนั่นเอง
Mobile Site - จากการที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้รับการใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เว็บไซท์หลายๆที่ที่เคยถูกออกแบบมาสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปนั้นดูใช้ยากเมื่อเปิดในโทรศัพท์มือถือ หรือหากเว็บไซท์ใดใช้เทคโนโลยี Adobe Flash ในการทำภาพเคลื่อนไหว ก็จะพบว่าเว็บไซท์นั้นไม่สามารถเปิดใน iPhone ได้เลย โดย Android ก็ไม่ได้สามารถเปิดได้ง่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีการกำเนิด “Mobile Site” ที่หมายถึงเว็บไซท์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับแสดงในสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ มักจะมีเมนูฟังก์ชันที่น้อยกว่า และมีตัวอักษรใหญ่กว่า โดยมักจะสังเกตุความแตกต่างได้จากที่อยู่ (URL) ของเซ้บไซท์ที่มักจะมี “m” มาแทนที่ตัว “www” เช่น “http://m.youtube.com” แทน “http://www.youtube.com” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การมี mobile site นั้นหมายความว่า เวลาเราทำการอัพเดทเว็บไซท์ปกติของเรา เราจะต้องทำการอัพเดท mobile site ของเราด้วย เนื่องจาก mobile site นั้นเปรียบเสมือนเว็บไซท์อีกหนึ่งเว็บไซท์ ในปัจจุบันจึงมีวิธีการทำเว็บไซท์แบบใหม่ที่เรียกว่า “Responsive Website” ที่เป็นเว็บไซท์ที่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดตัวเองให้แสดงได้สวยงามทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์และในจอเล็กๆอย่างสมาร์ทโฟน ผ่านการลด ปรับ และเปลี่ยนขนาดอย่างชาญฉลาดตามขนาดหน้าจอที่แสดง ซึ่งสามารถดูตัวอย่างได้บนเว็บไซท์ผมได้ครับ (http://www.lertad.com)
อย่างไรก็ตาม การออกแบบเว็บไซท์แบบ Responsive นั้นยังเป็นศาสตร์ใหม่ จึงมีผู้ที่สามารถทำได้เพียงไม่กี่ราย และมักจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าปกติอยู่เล็กน้อยครับ
เขียนไปเขียนมา กลายเป็นว่าผ่านไปไม่กี่คำก็หมดพื้นที่แล้ว หวังว่าชุดคำศัพท์ในที่นี้จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจโลกของสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น แล้วในครั้งหน้าผมจะหยิบยกศัพท์สำคัญๆในโลกนี้มาอีกนะครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@flyingcomma.comwebsite: http://lertad.com
twitter: @lertad