15 Startup Incubators
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้เห็นค่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในประเทศทั้งสามค่ายต่างทยอยประกาศโครงการ “บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี” หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Incubator” หรือ “Accelerator” เพื่อจับกลุ่มผู้ประกอบการ “Tech Startup” โดยเริ่มตั้งแต่ของทาง AIS ที่มีโครงการ “AIS TheStartup” ไปจนถึง “Dtac Accelerate” ของ Dtac และ “True Incube” ของทาง True โดยต่างค่ายต่างมีวิธีการ กลยุทธ์ และทิศทางการเติบโตในการสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไปอยู่เรื่อยๆ
ในฐานะที่ผมเองที่เคยทั้งมีส่วนร่วมใน “โครงการบ่มเพาะธุรกิจ” ที่หลากหลายประเภท ทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมและผู้ช่วยในการจัด ตั้งแต่ของมหาวิทยาลัย ไปจนภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งธุรกิจขนาดเล็กและโครงการเพื่อสังคม มาจนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการในฐานะ “Tech Startup” รายหนึ่งกับ “Dtac Accelerate” ในปีแรก และ “True Incube” รอบแรก ที่ทางโครงการเรียกว่า “Batch 1” นั้น ในคอลัมน์นี้จึงอยากจะขอโอกาสเล่าที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของเหล่า “โครงการบ่มเพาะ” เหล่านี้และเหตุผลว่าทำไมเหล่าผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าอาจจะอยากเข้าร่วมมันดูนะครับ
ยุคนี้เป็นยุคที่มีการเกิดขึ้นของธุรกิจเทคโนโลยี ที่นำความสามารถของอินเทอร์เน็ตและซอฟท์แวร์มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น หรือสร้างเป็นธุรกิจใหม่อย่าง Facebook, Instagram, LINE ไปเลยเป็นต้น
และแน่นอนว่าเมื่อซอฟท์แวร์ เว็บไซท์ และแอพพลิเคชันเหล่านี้เริ่มได้รับการยอมรับและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากทั่วโลกอย่างมหาศาลไปแล้วนั้น เหล่าโปรแกรมเมอร์และผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองหรือสร้างอะไรบางอย่างที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีคนใช้เป็นแสนเป็นล้านคนต่างก็เริ่มหันมาลองสร้างธุรกิจเทคโนโลยีในยุคอินเทอร์เน็ตเหล่านี้กันท่วมท้นจนคนได้ขนานนามกันว่าเป็น “Tech Startup” หรือ “ธุรกิจสินค้าเทคโนโลยีเกิดใหม่” นั่นเอง
และด้วยธรรมชาติของ “Tech Startup” ที่ 1) มักโตเร็วตายเร็ว 2) อาศัยทักษะคอมพิวเตอร์ใหม่ๆที่ทำให้เจ้าของกิจการเหล่านี้มักจะอายุน้อย 3) มีการควบรวมซื้อขายกิจการเป็นจำนวนมากจนทำให้อายุเฉลี่ยของ Tech Startup ที่ประสบความสำเร็จในแง่ที่เจ้าของสามารถสร้างกิจการที่ถูกซื้อโดยกิจการอื่นหรือทำการเข้าตลาดหุ้นนั้นอยู่ที่เพียง 3-7 ปีแล้วนั้น ทำให้จำนวนการเกิดของ “Startup Incubator” มีมากขึ้นในอัตราที่แปรผันตามการเกิดขึ้นของ Tech Startup อยู่จำนวนมาก จนคาดว่ามีกว่า 1,000 หน่วยงานแล้วทั่วโลก
เหตุผลที่ Startup Incubator นั้นเกิดขึ้นมาและสามารถอยู่ได้เป็นจำนวนมากนั้นเพราะเหล่าผู้ก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะเหล่านี้มักจะเห็นปัญหาของเหล่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ในการทำธุรกิจทั้งเรื่องพื้นฐานทางกฏหมายการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงทักษะพื้นฐานทางการทำธุรกิจอย่างการตลาด การบริหาร การเงิน ที่เหล่าโปรแกรมเมอร์หรือนักธุรกิจหน้าใหม่มักยังไม่มีประสบการณ์มากนัก จึงเกิดการสร้างสถาบันที่จะสามารถช่วยเหลือเหล่าผู้ประกอบการเหล่านี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรู้ต่างๆ แลกกับสัดส่วนในการถือหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัทเหล่านั้นนั่นเอง
ทั้งนี้ จะเห็นว่าบางโครงการจะเรียกตัวเองว่า “Accelerator” ที่แปลว่าการ “เร่ง” แทน “Incubator” ที่แปลว่าการ “บ่มเพาะ” โดยโมเดลสองตัวนี้จะมักจะมีความแตกต่างกันตรงที่ “Incubator” มักจะเน้นบ่มเพาะธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น อาจมีแค่ไอเดีย ยังไม่มีสินค้า หรือสินค้ายังไม่เสร็จ แต่ “Accelerator” มักจะเน้นช่วยเหลือธุรกิจที่เริ่มจะหาโมเดลธุรกิจของตนเองเจอแล้ว หรือมีเว็บหรือแอพที่เสร็จแล้วนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม บางทีชื่อกับกลยุทธ์ที่ใช้จริงก็ไม่ได้สัมพันธ์กันเสมอไป
โครงการบ่มเพาะแต่ละโครงการนั้นต้องการช่วยธุรกิจในทุกๆเรื่องที่จะทำให้ธุรกิจนั้น “โต” ได้ ไม่ว่าการโตนั้นจะเป็นเรื่องของจำนวนคนใช้ หรือจำนวนรายได้ โดยมักจะมีเป้าหมายระยะสั้นคือทำให้บริษัทนั้นสามารถระดมทุนจากนักลงทุนมาขยายธุรกิจต่อได้ และมีเป้าหมายระยะยาวคือมี “exit” หรือการ “จบธุรกิจ” อย่างสำเร็จด้วยการขายกิจการหรือเข้าตลาดหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทั้งเจ้าของกิจการ นักลงทุน และผู้ประกอบการเอง ได้รับผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินจากที่ได้สร้างธุรกิจมา
ทั้งนี้ บริการต่างๆนั้นอาจแยกได้เป็นหัวข้อใหญ่ๆคือ
1) Work Space - พื้นที่สำหรับทำงานที่เป็นที่เป็นทาง มีโต๊ะทำงาน อินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์สำนักงานเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เหล่าบริษัท Start-up ไม่ต้องไปนั่งรวมตัวกันที่ร้านกาแฟเสมอไป ซึ่งในปัจจุบันก็จะเห็นว่ามีการเกิดขึ้นของ “Co-Working Space” จำนวนมากเพื่อมารองรับเหล่านักทำงานพเนจรให้มีที่ทำงานพร้อมอินเทอร์เน็ตและสังคมเพื่อนไลฟ์สไตล์เดียวกันซึ่ง Work Space เหล่านี้มักจะมาพร้อมเหล่าบริการพื้นฐานที่บริษัททุกบริษัทจะต้องมีแต่อาจจุกจิกเกินที่เหล่าผู้ประกอบการจะอยากลงทุนทำเองอย่างเช่นเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่บริษัท เลขานุการ การรับส่งจดหมาย ห้องประชุม เป็นต้น ทำให้บริษัท Startup หลายๆที่มักจะมีที่อยู่บริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นที่อยู่ของ Co-Working Space เดียวกันไปเลย
2) Business Consulting - การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่างการจดทะเบียนบริษัท กฏหมายการค้า แรงงาน การตลาด การเงิน บัญชี ไปถึงทักษะการบริหาร (management skills) และการพาผู้ประกอบการเข้าอบรมตามสถานบันการศึกษา หรือจัดการอบรมจากผู้ประกอบการ Startup ที่ประสบความสำเร็จแล้วรายอื่นๆอีกมากมาย
ทั้งนี้ โครงการเหล่านี้ยังอาจช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจเลือกเพื่อนร่วมทีม การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญา และเครือข่ายนักธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่อาจไม่สามารถหาได้ด้วยตนเองเพียงลำพัง
บางโครงการอย่าง 500 Startups ของสหรัฐอเมริกานั้น จะมีทีมที่ให้คำปรึกษาทางเทคนิคธุรกิจในเรื่องการตลาดโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหล่าผู้ประกอบการในการหาช่องทางการโฆษณาหรือหาลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ได้ผู้ใช้จำนวนมากที่สุดโดยเร็วที่สุดในตอนต้น โดยเรียกทีมนี้ว่า “Distribution Team” ที่หมายถึงการ “จำหน่าย” สินค้าไปสู่ผู้บริโภค และเป็นจุดขายและเอกลักษณ์ของโครงการนี้โดยเฉพาะไปแล้วโดยสมบูรณ์
และสุดท้าย ในช่วงตอนปลายของโครงการบ่มเพาะ มักจะมีการซ้อมการ “Pitching” หรือฝึกการ “เสนอ” ผลิตภัณฑ์ของตนเองให้กับลูกค้าและนักลงทุน เพื่อทำการ “ระดมทุน” มาทำธุรกิจต่อหลังจากที่จบโครงการไปแล้ว โดยจะซ้อมตั้งแต่บุคลิก วิธีการพูด และการเรียบเรียงเนื้อหาให้ดูน่าสนใจที่สุดที่นักลงทุนจะต้องการมาคุยต่อนั่นเอง
3) Network
“Network” หรือ “เครือข่าย” ในที่นี้ หมายถึงเครือข่ายคนที่สำคัญต่างๆทั้งนักลงทุน หรือผู้ให้คำแนะนำทางธุรกิจ หรือที่บางทีคนไทยเรียกกันว่า “connection” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงทั้งแหล่งทุน โอกาสทางธุรกิจ และความรู้ที่ไม่ได้สามารถหาได้ด้วยตนเองจากการค้นหาผ่าน Google ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ อาจเข้ามาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจที่ทำให้เรามีผู้ใช้ที่มากขึ้น เข้ามาเป็นนักลงทุนที่ทำให้เรามีโอกาสสร้างธุรกิจต่อไป หรือผู้ให้คำแนะนำ เข้ามานั่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริษัท ก็เป็นได้
จะเห็นว่าบริการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มีไว้เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มากที่สุด และเป็นห่วงกับเรื่องรายละเอียดและระเบียบในการทำธุรกิจให้น้อยที่สุด
ซึ่งนอกจากบริการเหล่านี้แล้ว โครงการบ่มเพาะก็มักจะมีเงินลงทุนช่วยสนับสนุนจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ 150,000 — 600,000 บาท แล้วแต่นโยบายของแต่ละโครงการ แลกกับสัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ 5%-15% เป็นต้นไป
และในตอนจบของโครงการ มักจะมีวัน “Demo Day” ที่เหล่าบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะพากันมา “เสนอ” โครงการตัวเองต่อหน้าสื่อ สาธารณชน และกลุ่มนักลงทุน เพื่อสร้างข่าวและระดมทุนให้กับธุรกิจที่มีไอเดียน่าสนใจและจำนวนผู้ใช้ที่น่าดึงดูดนั่นเอง
รูปภาพจาก thumbsup.in.th
แม้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในประเทศไทยจะมีมานานแล้ว แต่โครงการบ่มเพาะประเภท Accelerator/Incubator สำหรับ Tech Startup ในไทยนั้นยังใหม่อยู่ เราจึงยังอาจไม่เห็นเรื่องราวความสำเร็จของโครงการแต่ละโครงการในเร็วๆนี้ แต่หากมองไปที่สหรัฐอเมริกา ก็จะพบโครงการชื่อดังอย่าง “Y Combinator” ที่ผลิตบริษัทดังๆมากมายอย่าง Dropbox, Airbnb หรือ 500 Startups ที่ได้เน้นการลงทุนในบริษัทนอกประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น Taamkru, Playbasis, และ Claim Di ในไทย พร้อมเครือข่ายผู้ให้คำปรึกษากว่า 200 คนทั่วโลก และ TechStars ที่สร้างเครือข่ายในหัวเมืองหลักทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากแล้ว
ถ้าคุณมีไอเดีย มีทีมงาน แต่รู้สึกขาดทรัพยากรทางด้านเงินทุน ความรู้ ต้องการผู้สนับสนุน หรือสนใจว่าโครงการ “Incubator” ของแต่ละที่นั้นจะสามารถช่วยเหลือเราได้คุ้มกับหุ้นที่เราจะต้องเสียไปหรือไม่นั้น ผมแนะนำว่านอกจากอ่านรายละเอียดโครงการให้ดีแล้ว ให้แสวงหาเหล่าผู้ประกอบการที่เคยผ่านโครงการแต่ละโครงการมาแล้วเพื่อพูดคุยว่าประสบการณ์ของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไรด้วยอีกทีหนึ่ง
ซึ่งนอกจากโครงการจากค่ายใหญ่สามค่ายแล้ว ทุกวันนี้เริ่มมีโครงการ Incubator ที่ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านทุนและเครือข่ายที่ไม่ต้องอิงกับทั้งค่ายโทรคมณาคมหรือหน่วยงานภาครัฐเริ่มเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นโครงการ i4-Accelerator Program หรือ i4-x ของทางกองทุน n-Vest Ventures ของไทยและ Expara ของสิงคโปร์ผู้ซึ่งเคยลงทุนให้กับบริษัทอย่าง 2C2P และ Wildfire ที่ประสบความสำเร็จไปเรียบร้อยแล้วอีกด้วย
ในฐานะคนที่เคยผ่านโครงการเหล่านี้แล้ว ผมคิดว่าผมได้ทั้งความรู้ เงินทุน และโอกาสในทางธุรกิจและการได้รู้จักคนเก่งๆที่มากมายที่ผมเองคงไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง
หากจะมีข้อแนะนำให้ท่านที่กำลังพิจารณาโครงการต่างๆอยู่ โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถช่วยคุณได้จริงหรือไม่ ผมแนะนำว่าสิ่งที่สำคัญในการพิจาณาคือการทำความเข้าใจว่าโครงการแต่ละโครงการนั้นได้รับเงินทุนมาจากแหล่งใด ทีมงานที่จัดนั้นมีความสามารถมากแค่ไหน มีสไตล์การทำงานหรือเห็นวิสัยทัศน์ในผลิตภัณฑ์หรือตัวคุณเหมือนกับคุณหรือไม่ และหากเป็นโครงการที่มีมาแล้วสักระยะเวลาหนึ่ง ให้ดูว่าทางโครงการได้ผลิตบริษัทอะไรออกมาบ้างอีก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แค่บริษัทได้รับคัดเลือกให้เข้าโครงการ Incubator ไม่ได้หมายความว่าบริษัทเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ และบริษัทที่ถูกปฏิเสธ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายแล้ว อยู่ที่ว่าท่านผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้มากแค่ไหน เร็วแค่ไหน และมีโมเดลธุรกิจที่ทำกำไรหรือไม่ ด้วยตัวเอง เท่านั้นเองครับ
เลอทัด ศุภดิลก
@lertad
lertad@sellsuki.com