การที่จะผลิตสินค้าหรือบริการในการดำเนินธุรกิจนั้น ย่อมมีเรื่องของการจัดการกระบวนการผลิมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อศึกษาการจัดการการผลิตนี้ คงจะหนีไม่พ้นการเจอเรื่องของ Supply Chain และ Value Chain ซึ่งเป็นมุมมองสองมุมมองในการจัดการการผลิตของแต่ละองค์กร ทั้งนี้ หลายๆท่านมักจะมีข้อสงสัยถึงความหมายและความแตกต่างของสองสิ่งนี้ โดยเฉพาะตัว Value Chain ผมจึงขอถือโอกาสนี้อธิบายให้ท่านผู้อ่านได้ลองทำความเข้าใจดูนะครับ
เรื่องของ Supply Chain Management (SCM) หรือที่แปลตรงๆเป็นภาษาไทยว่า “การจัดการห่วงโซ่อุปทาน” นั้น เป็นสิ่งที่ถูกจัดการรวบวมขึ้นมาเป็นศาสตร์เพื่อใช้ในการจัดการการหมุนเวียนและขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ โดยให้มุ่งเน้นในเรื่องของการจัดการต้นทุน ประสิทธิภาพในการผลิต และการหมุนเวียนวัตถุดิบจากแต่ละที่ไปยังแต่ละที่ หรือพูดง่ายๆคือ ทำอย่างไรให้ผลิตสินค้าและส่งไปยังลูกค้าได้ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ และในระยะเวลาที่ลูกค้าพึงพอใจ
จากที่ในสมัยแรก SCM นั้นได้ถูกบัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้ในการประสานงานระหว่างฝ่ายผลิตแต่ละฝ่ายให้ประสานงานกันมากขึ้น เมื่อยุคสมัยผ่านไป มันก็ได้พัฒนาจนเกิดระบบการจัดการสินค้ามากมาย เช่น ระบบ Just In Time ที่เป็นศาสตร์ของการผลิตโดยไม่ต้องมีสินค้าค้างสต๊อค ผลิตให้ทันพอใช้พอดี หรือเทคโนโลยีอย่าง RFID ที่ช่วยให้สามารถรู้จำนวน ตำแหน่ง และการเคลื่อนไหวของสินค้าอย่างละเอียด จนหลายบริษัทสามารถเติบโตเป็นใหญ่ได้ อย่างเช่น บริษัท Wal-Mart ที่โด่งดังเรื่องการนำข้อมูลการซื้อของลูกค้ามาคำนวณปริมาณการสั่งซื้อจากผู้ผลิตได้เร็วระดับวันต่อวัน เป็นต้น
สำหรับ “Value Chain” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวว่า “ห่วงโซ่คุณค่า” นั้น ได้ถูกบัญญัติขึ้นโดยเจ้าพ่อกลยุทธ์ชื่อดัง Michael E. Porter ในผลงาน“Competitive Advantage” ที่ทำให้เขาโด่งดัง ซึ่งกล่าวถึงการวางกลยุทธ์ในการแข่งขันทางธุรกิจ
Michael E. Porter ได้นิยามคำว่า value หรือ “คุณค่า” ไว้ว่าเป็นจำนวนหรืออัตราที่ผู้ซื้อจะยอมจ่ายให้กับผู้ขายเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการนั้นมา และได้แตกย่อยนิยาม “value chain” เป็นกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆภายใต้องค์กรที่จะทำให้เกิดคุณค่าที่สูงขึ้นในสายตาของผู้บริโภค เป็นการมองว่าลูกค้าจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง มีกระบวนการอะไรในระหว่างการผลิตบ้างที่ได้สร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการนั้น รวมไปถึงว่าจะต้องมีการจัดการเงินทุนอย่างไรเพื่อให้สามารถสร้างคุณค่าที่จำเป็นได้
ตัวอย่างคลาสสิกที่ใช้ในการอธิบายคำว่า value หรือ “คุณค่า” คือ หากเราน้ำหนึ่งแก้วไปยังคนคนหนึ่งที่กำลังกระหายน้ำอยู่ในทะเลทราย เขาคนนั้นย่อมมีโอกาสที่จะยอมซื้อน้ำแก้วนั้นในราคาที่แพง โดยไม่ต้องคำนึงถึงรสชาติหรือบรรจุภัณฑ์ของน้ำแก้วนั้นในขณะนั้นเลย ในขณะที่น้ำหนึ่งแก้วที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของเราในขณะที่เรากำลังอิ่ม อาจจะไม่ได้มีคุณค่าอะไรสำหรับเราเลยด้วยซ้ำ
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า คุณค่านั้นจะมีค่าที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และคุณค่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการเสนอสินค้าหรือบริการให้กับผู้ที่ต้องการในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้น ในการวิเคราะห์มูลค่าของ “คุณค่า” ที่เราจะสามารถให้ได้นั้น ต้องคำนึงถึงสองสิ่ง คือ “ใครคือลูกค้า” และ “เขาให้ความสำคัญ (คุณค่า) กับอะไร”
ในอีกมุมหนึ่ง เนื่องจาก value นั้นเกิดจากความต้องการของลูกค้าแล้ว กิจกรรมต่างๆที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่านั้นอาจมองได้ว่าเป็น waste หรือ “สิ้นเปลือง” ซึ่งจะต้องได้รับการกำจัด จำกัด หรือจัดการให้ถูกใช้ไปในสิ่งที่เกิดมูลค่าได้
หากมองในภาพรวม สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง Value Chain กับ Supply Chain นั้นก็คือ Value Chain จะให้ความสำคัญกับคุณค่าในสายตาของลูกค้าเป็นหลัก ในขณะที่ Supply Chain จะให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่ายของผู้ผลิต การจัดการในมุมมองของ Value Chain จะมองที่ผู้บริโภคก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมายังกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน ในขณะที่ในมุมมองของ Supply Chain จะเริ่มที่ต้นน้ำของการผลิตแล้วค่อยๆปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการผลิตในขั้นต่อๆไปจนกลายเป็นสินค้าที่ไปถึงมือผู้บริโภค
ในความเป็นจริงแล้ว Supply Chain กับ Value Chain นั้นไม่ใช่มุมมองที่ขัดแย้งกัน แต่เป็นมุมมองที่เสริมซึ่งกันและกัน โดยเป็นการมองกระบวนการต่างๆในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อออกสู่ตลาดไปยังผู้บริโภค โดยมุมนึงมองในเรื่องของการผลิตไปยังผู้บริโภค และอีกมุมนึงมองคุณค่าและค่าตอบแทนที่ได้รับและย้อนกลับมายังต้นน้ำ ซึ่งทั้งสองห่วงโซ่นั้นก็ทับซ้อนกระบวนการต่างๆที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจเหมือนๆกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน การพูดถึง Supply Chain ก็มักจะเป็นการพูดถึงการ “รวบรวมกระบวนการทางธุรกิจทั้งการผลิตสินค้า บริการ และข้อมูล อันจะสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้น” (นิยามคำว่า Supply Chain Management ของกลุ่ม Global Supply Chain Forum) ซึ่งจะเห็นได้ว่า มุมมองของ Supply Chain นั้น เร่มให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นมากขึ้น
หากเรามองการทำงานของบริษัทผ่านมุมมองของ Supply Chain และ Value Chain แล้ว จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจหรือการค้านั้นก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจของลูกค้าและคุณค่าของลูกค้า แล้วจึงทำการจัดการองค์กรและทรัพยากรเพื่อให้สามารถผลิตสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และประหยัดต้นทุน โดยเมื่อมีการจ่ายชำระค่าสินค้าหรือบริการจากผู้บริโภคเพื่อให้ได้สิ่งสิ่งนั้นมาแล้ว value ก็จะเกิดขึ้น
ดังนั้น การจัดการในมุมมองของ Value Chain นั้น จึงเป็นการเพ่งความสำคัญของการจัดการและทรัพยากรไปยังกระบวนการที่ทำให้เกิดคุณค่า ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้สร้างคุณค่า เพื่อให้ value ที่ลูกค้าให้นั้น มีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตและขนส่งมากที่สุด ซึ่งต่างจากการมองกลยุทธ์เป็นเรื่องของนวัตกรรม (innovation) หรือกลยุทธ์การตลาด (marketing strategies) ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับการให้คุณค่าของผู้บริโภคผ่านสื่อและกรรมวิธีต่างๆนอกเหนือจากกระบวนการการทำงานภายในองค์กร
จะมองอย่างไรก็ตาม ผมขอสรุปง่ายๆว่าสุดท้ายแล้ว การบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดกำไรก็หนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างสิ่งที่มีคนต้องการ ในระดับที่คุ้มค่าที่จะทำให้เราผลิตสิ่งนั้นๆ
สำหรับปีใหม่ปีนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของท่านนะครับ
เลอทัด ศุภดิลก
twitter: @lertad
e-mail: lertad@flyingcomma.com
–-
Many views of Value Chains can be created.
According to this analysis, value surrounds the movement of
resources — is perceptual — and accrues to both parties in a transaction, suppliers and customers.
Therefore, value chains can be thought to operate in both directions, with suppliers accruing
value from the financial resources, payment terms, stability, and future order cover that their
customers provide, while customers derive value from the delivered products and services.
Misnomer or not, the value chain concept has become a staple idea in the management and
research literature, and is the focus for evolving strategies, enterprise models, and numerous
efforts at improving business performance (12), (13), (14). Creating a profitable value chain
therefore requires alignment between what the customer wants, i.e., the demand chain, and what
is produced via the supply chain.
And while supply chains focus primarily on reducing costs and
attaining operational excellence, value chains focus more on innovation in product development
and marketing.