เป็นงาน WWDC ที่สนุกที่สุดแม้ (เพราะ?) ไม่มีการเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ใดๆ เพราะครั้งนี้ Apple สามารถทำให้เราฝันถึงโอกาสในอนาคตได้สำเร็จ และเห็นถึงศักยภาพของตัว iOS ที่ล้าหลัง Android มาหลายปีจนตอนนี้น่าจะชกกันได้อย่างไม่ต้องอายแล้ว
แฟนๆ Android ไม่ต่องเหน็บครับว่าเขาก๊อปแอพชาวบ้านหรือความสามารถกับศักยภาพของ Android เพราะเขาไม่ได้ทำมาให้คุณ แต่ทำให้นักพัฒนาที่ยังภักดีกับเขาเห็นถึงอนาคตที่ยังสดใสอยู่ และก็มีหลายมุมที่ Apple เอามาบิดให้สร้างสรรค์และเข้ากับตัวเองมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น Apple ก็ประกาศเปิดตัว TouchID API
นั่นหมายความว่าต่อไปนี้เวลาทำธุรกรรมบนมือถือ ก็ไม่จำเป็นต้องจำพาสเวิร์ดอะไรอีกแล้ว ใช้แค่นิ้วเราเนี่ยแหละ ทั้งง่ายกว่าและปลอดภัยกว่า
ถ้าสักวันหนึ่งทาง Apple เปิด API การชำระเงินด้วย Apple ID อีกไม่นานตัว iPhone เนี่ยแหละจะกลายเป็นเครื่องมือจ่ายเงินที่ทั้งปลอดภัยที่สุดและคนใช้เยอะที่สุด ไม่ต้องไปใช้บัตรที่ไหนให้ยุ่งยาก (คงยากที่จะเปิดแต่ช่วงนี้คิดแต่เรื่อง e-commerce แหะๆ)
เห็นได้ชัดจากการพัฒนาของ Apple ว่ามองตัว iPhone เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และอุปกรณ์อื่นอย่าง notebook เป็นตัวเสริมที่ทำใหัใช้มือถือได้สะดวกขึ้นเวลาทำงานอยู่ ซึ่งก็น่าจะถูกแล้วเพราะสมาร์ทโฟนเรามีสเปคไม่แพ้คอมพิวเตอร์ แต่สามารถพกพาติดตัวเราได้นลอดเวลา และหากมีอุปกรณ์อย่าง smart watch ในอนาคต มันก็คงทำหน้าที่เป็นตัวเสริมเช่นนี้เหมือนกัน
WWDC ปีนี้ชี้ให้เห็น Apple ยุคหลัง Steve Jobs ที่สร้างสรรค์ ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดแบบ “ปิด” แบบ “กูเจ๋งสุด” มาเป็น “Extensibility” ที่ไม่ใช่แค่ภายใน Apple แต่สร้างแพลทฟอร์มให้คนสามารถพัฒนาต่อยอดตัว iOS ได้ดั่งใจและให้แอพสามารถคุยกันได้อย่างเหนือชั้น เช่น ถึงกับยอมให้นักพัฒนาสามารถสร้าง keyboard มาทดแทนตัวพื้นฐานของ Apple ได้ (คนใช้ Android จะเข้าใจถึงข้อจำกัดในการทำงานระหว่างแอพของ iOS ที่ผ่านมานี้ดี) ซึ่งนึกภาพว่าจะเกิดขึ้นได้ยากหากยังเป็นยุคของศาสดา
ในยุคของแอพ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้พัฒนาอยากพัฒนาให้ระบบของเรา และงาน WWDC ที่ย่อมาจาก Worldwide Developer Conference นี้คงเรียกได้ว่าได้ใจผู้พัฒนาไปเต็มๆ หลังจากที่เป็นงานที่น่าเบื่อมาหลายปี
จุดเด่นของ Android ที่ผ่านมาคือใครๆก็สามารถทำอะไรกับมันได้ เปรียบเสมือนหุ่นยนต์ที่ถอดเสียบได้ดั่งชื่อของมัน แต่ปัจจุบัน “i” ของ iOS เหมือนจะเปลี่ยนจาก “กู” เป็น “integrated” ไปแล้ว
ในจังหวะที่ยากที่จะมี Consumer Hardware ที่ไหนมาเปลี่ยนโลกได้ทันที การสร้างบรรยากาศให้คนอยากช่วยกันเสริมสร้างอุปกรณ์เพิมให้มันเป็นศูนย์กลางของ digital ecosystem เนี่ยแหละอาจจะเป็น game changer