Food Startups - เมื่อ Startup สร้างอาหารยุคใหม่
รูปภาพจาก http://techcrunch.com/2014/06/10/food-startups-are-riding-a-vc-gravy-train/
จากประสบการณ์ที่ผมได้เข้ามาศึกษาและอยู่ในโลกของ Startup นี้ ทำให้ผมเข้าใจแล้วจริงแกนของมันไม่ใช่เรื่องของการเป็นโลกของซอฟท์แวร์ ไม่ใช่โลกของเงินทุน ไม่ใช่โลกของวัยรุ่นหนุ่มไฟแรง แต่คือคือโลกของการเป็นนักคิดนักสร้างนวัตกรรมที่ท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และทำให้มันได้รับการใช้อย่างแพร่หลาย
หลังจากที่ผ่านมา เวลาเรานึกถึงคำว่า “Startup” แล้วเราจะนึกถึงบริษัทอย่าง Facebook, Instagram, LINE ที่เป็นบริษัทซอฟท์แวร์ วันนี้ผมขอนำเสนอ “Startup” กระแสใหม่ที่อาจจะส่งผลกระทบกับชีวิตทั้งทางด้านสุขภาพ การเงิน และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง เพราะบริษัทเหล่านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “อาหาร” หรือเรียกกันว่า “Food Startups” ครับ
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เหล่าบริษัท Food Startups ได้รับการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งบริษัทที่เป็นซอฟท์แวร์เกี่ยวกับการผลิตและนำส่งอาหาร หรือแม้กระทั่งแบรนด์อาหารใหม่ๆที่มีทั้งแบบพลิกโมเดลธุรกิจด้วยการนำเสนออาหารที่ดีต่อสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ง้อหน้าร้าน หรือแฟรนไชส์ร้านอาหารใหม่ที่จับในเรื่องของสุขภาพอย่าง “Lyfe” ซึ่งถูกก่อตั้งโดยทีมผู้บริหารเก่าของ McDonald’s
แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าบริษัทเหล่านี้คือกลุ่ม Food Startups ที่ไม่ได้เพียงปรับปรุงกระบวนการทางด้านการผลิตหรือนำส่งหรือเป็นเพียงแบรนด์อาหารสุขภาพ แต่พยายามเปลี่ยนโลกด้วยการเปลี่ยนสิ่งที่เราทาน ด้วยการคิดปรับปรุงส่วนผสมในการทำอาหารหรือผลิตอาหารประเภทใหม่ขึ้นมาทดแทนการใช้เนื้อนมไข่ในอาหาร ตอบโจทย์โภชนาการของมนุษย์ในรูปแบบที่แลดูเหมือนจะหลุดออกมาจากโลกอนาคตเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่นบริษัท “Hampton Creek Foods” บริษัทที่มีพันธกิจในการเปลี่ยนให้มนุษย์เลิกความจำเป็นที่จะต้องบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ โดยการวิเคราะห์และวิจัยพืชผักหลากหลายชนิดเพื่อนำเอาจุดเด่นมาผสมพันธ์กันทางเคมีเพื่อให้เกิดสารอาหารที่จะมาทดแทนไข่ไก่ได้ทั้งในด้านรสชาติและประโยชน์ทางโภชนาการ ด้วยผลิตภัณฑ์คล้ายแป้งที่ชื่อว่า “Beyond Eggs”
ทางบริษัทนิยามตัว Beyond Eggs นี้ว่าเป็น “สิ่งทดแทนไข่” โดยทางบริษัทได้นำเอาไข่ไก่มาชำแหละและวิเคราะห์การใช้งานของมันทั้งในด้านโภชนาการและประโยชน์ในการนำมาใช้ประกอบอาหาร แล้วหันไปนำพืชชนิดต่างๆมาสังเคราะห์และผสมกันใหม่เพื่อให้สามารถทำงานแทนไข่ในการทำอาหารได้ดีไม่แพ้กัน ซึ่งผลออกมาคือเมื่อตัว Beyond Eggs นี้ได้ถูกนำไผใช้ผสมในการทำขนมหรืออาหารในกระบวนการผลิตอาหารของแบรนด์ดังแล้ว กลับไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางรสชาติ พร้อมปราศจากข้อเสียของไข่ไก่อย่างเรื่องคอเลสเตอรอล แถมยังสามารถปรับปรุงสูตรให้ดีขึ้นหากจำเป็นอีกด้วย
นอกจากนี้ ตัว Beyond Eggs ยังวางขายอยู่ในราคาเพียงครึ่งเดียวของราคาไข่ไก่ตามท้องตลาด จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 สองสามที่ที่ได้ทดลองนำ Beyond Eggs มาทดแทนการใช้ไข่ไก่ในการผลิตเรียบร้อยแล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่ทันสังเกตเลย
ผู้บริหาร Beyond Eggs บอกว่า ในปัจจุบันที่มนุษย์เรามีการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เรามีความต้องการทางด้านอาหารมากขึ้นจนกระบวนการผลิตอาหารทำให้สัตว์ต่างๆถูกดูแลเหมือนเป็นเครื่องจักร เลี้ยงดูมาในที่แคบๆอย่างไม่มีคุณภาพชีวิต รวมถึงต้องผ่านกระบวนการเกี่ยวกับยาและรับสารเคมีกันบูดมากมาย จึงไม่น่าจะเป็นระบบที่ยั่งยืนได้เลย ดังนั้น ในเมื่อมนุษย์อาจไม่สามารถเลิกบริโภคอาหารบางอย่างอย่างไข่ได้ เราก็ควรจะมีทางเลือกในการบริโภคที่ไม่ส่งเสริมกระบวนการโหดร้ายและเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านั้น
โดยนอกจากตัว Beyond Eggs ที่เน้นมุ่งขายให้กับเหล่าบริษัทผลิตอาหารแล้ว ทาง Hampton Creek Foods นี้ยังมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่คือ “Just Mayo” ที่เป็นมายองเนสที่มีรสชาติที่เหมือนกับมายองเนสทั่ว แต่ไม่มีส่วนผสมของไข่ไก่วางขายอยู่ตามห้างอีกด้วย โดยหลังจากที่ขายตัว Just Mayo นี้ในปริมาณ 80,000 ปอนด์ในช่วงสองปีที่แล้ว ปัจจุบันได้ปรับปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการผลิตในจำนวน 3,2000,000 ปอนด์ภายในปีนี้ปีเดียว เพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาไว้วางใจอาหารทางเลือกเหล่านี้แล้ว
นอกจากทาง Hampton Creek Foods แล้ว อีกบริษัทที่น่าสนใจที่มีชื่อผลิตภัณฑ์คล้ายกันและกำลังถูกตับตามองอย่างมากคือบริษัท “Beyond Meat” ที่ต้องการทดแทนทั้งเนื้อไก่และเนื้อวัวด้วยผลิตภัณฑ์จากพืชที่มีทั้งรสชาติและสัมผัสที่คล้ายกัน แต่ให้ประโยชน์ทางโปรตีนมากกว่าพร้อมปราศจากโทษอย่างไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอล โดยใช้น้ำนมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับตัว “เนื้อไก่” และถั่วสำหรับตัว “เนื้อวัว” โดยทางบริษัทได้ยอมรับว่าตัวเนื้อวัวทางเลือกของบริษัทนั้นยังไม่สามารถทดแทนเนื้อวัวจริงๆได้เท่าที่ควร แต่สำหรับเนื้อไก่แล้วมีรสชาติที่ไม่แพ้กันและพร้อมทดแทนได้เลย
บริษัทสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เพราะแลดูเป็นอาหารแห่งอนาคตจริงๆก็คือ “Soylent” ผลิตภัณฑ์ “ทดแทนอาหาร” ที่เกิดมาจากการระดมทุนจากคนทั่วไป (crowdfunding) ได้มากถึง $3,500,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยตัว “Soylent” นี้เป็นอาหารเหลวที่บริโภคด้วยการดื่ม มีรสชาติกลางๆออกไปทางวานิลลา และที่สำคัญคือสามารถให้พลังงาน 550 แคเลอรี่ในการดื่มหนึ่งครั้ง พร้อมคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ในทุกๆด้าน และปราศจากข้อเสียทางโภชนาการอย่างคอเลสเตอรอล และแม้ยังมีไขมันอยู่ แต่อยู่ในปริมาณที่น้อยกำลังพอดี จนเรียกได้ว่าคนหนึ่งคนสามารถมีสุขภาพที่ดีได้เพียงดื่ม Soylent วันละสามมื้ออย่างเดียวได้เลย ซึ่งทางเจ้าของบริษัทพร้อมอาสาสมัครได้ใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่พฤษภาคม 2553 แล้วโดยยังมีสุขภาพที่ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ
“Soylent” มองตัวเองเป็นอาหารทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนทุกคน โดยมองตลาดเป็นกลุ่มคนที่ขี้เกียจเตรียมอาหาร รวมไปถึงความต้องการที่จะลดต้นทุนเพื่อที่จะสามารถเป็นอาหารให้กับเหล่าคนยากจนทั่วโลก โดยปัจจุบัน Soylent ขายอยู่ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ $3.5-$4 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเทียบค่าครองชีพระดับสหรัฐอเมริกาแล้วอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของมื้ออาหารที่มีโภชนาการที่ดีเลยทีเดียว โดยปัจจุบันหากลูกค้าใหม่ต้องการจะสั่งซื้อ ต้องรอคิวถึงสี่ถึงห้าเดือนจึงจะได้รับผลิตภัณฑ์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ “Soylent” เรียกตัวเองว่าเป็น “open-source food” เพราะได้เปิดเผยสูตร ส่วนผสม และวิธีการผลิตให้ใครๆก็สามารถผลิตได้อีกด้วย แต่ส่วนผสมหลายตัวก็เป็นส่วนผสมพิเศษที่คนทั่วไปอาจไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีใบรับรองพิเศษ
ผมมองว่าเหล่าบริษัท Food Startups เหล่านี้ น่าสนใจมากเพราะเขาไม่ได้เพียงสร้างอาหารทางเลือกที่ดีต่อสภาพแวดล้อม แต่ยังดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญคือ มีราคาถูกกว่าสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงเรียกได้ว่าเหนือกว่าในทุกๆด้าน เหลือเพียงแค่ความคุ้นเคยของเราที่จะต้องทดลองและเปลี่ยนพฤติกรรมไปลองใช้จริง
อาหารเหล่านี้จึงเรียกได้ว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต ที่มีประสิทธิภาพกว่าทั้งความยืดหยุ่นทางรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากที่ผ่านมาที่เราแก้ปัญหาทางด้านอาหารด้วยสารกันบูด ยารักษาโรค หรือการปรับกระบวนการผลิตไปอย่างสิ้นเชิงครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
e-mail: lertad@sellsuki.com
website: http://lertad.com
twitter: @lertad