หลักการที่ว่าการซื้อเป็นจำนวนมากนั้นย่อมควรที่จะได้ราคาต่อหน่วยต่ำกว่าการซื้อเป็นจำนวนน้อยนั้น เป็นที่รู้จัก ยอมรับ และคาดหวังสำหรับคนทั่วไป ตั้งแต่ผู้บริโภคไปยังนักธุรกิจ ยิ่งซื้อเยอะก็ยิ่งเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับผู้ซื้อเยอะ เนื่องจากผู้ขายย่อมอยากขายให้มากเข้าไว้
จึงเกิดแนวคิดการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ สมาคมการค้า หรือการรวมตัวระดับประเทศ
โดยหลักการแล้ว แม้ผู้ขายจะลดราคาซึ่งทำให้ได้กำไรต่อหน่วยลดลง แต่โดยรวมก็เป็นกำไรอยู่ดี ส่วนผู้ซื้อก็ได้สิ่งที่ต้องการในราคาที่ถูกลง กลายเป็นภาวะ “win-win”
แนวคิดนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดในปัจจุบัน โดยใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ทที่สามารถทำให้เกิดการรวบรวมผู้คนเป็นกลุ่มได้อย่างรวดเร็วขึ้นมา จนเป็นรูปแบบการค้าที่ถูกเรียกว่า “Group Buying”
บริษัทที่กำลังโด่งดังในเรื่องของ “Group Buying” นั้นเป็นบริษัทจากอเมริกาชื่อ “Groupon” ก่อตั้งโดยนาย Andrew Mason โดยใช้ไอเดียธุรกิจว่า บริษัท Groupon จะทำหน้าที่ในการเจรจากับร้านค้าและผู้ให้บริการต่างๆ เพื่อขอให้ยอมลดราคาพิเศษให้กับสินค้าหรือบริการของเขา หากบริษัทเขาสามารถหาลูกค้ามาใช้สิทธิ์ได้จำนวนหนึ่ง โดยเมื่อทาง Groupon ได้ข้อตกลงแล้ว ก็จะทำการโฆษณาส่วนลดพิเศษนี้บนเว็บไซท์และแอพพลิเคชันมือถือของเขา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อสิทธิ์การใช้สิทธิส่วนลดดังกล่าว โดยส่วนลดนั้นจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีคนมาขอซื้อสิทธิการใช้ครบตามที่ Groupon ได้ทำการตกลงไว้กับร้านค้าแล้วเท่านั้น
สิทธิพิเศษและส่วนลดที่ Groupon หามาได้นั้น ต้องบอกว่า ลดเยอะจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วจะลดไม่ต่ำกว่า 40% โดยร้านค้าผู้ที่เข้าร่วมนั้นยินดีที่จะลดราคาให้จำนวนมากแม้อาจเป็นการลดราคาที่ทำให้เกิดการขาดทุน เนื่องจากร้านค้ามองว่าเป็นการโฆษณาอย่างหนึ่งซึ่งทำให้มีลูกค้าใหม่ๆเข้ามาลองใช้สินค้าและบริการของเขา กลายเป็นช่องทางโฆษณาสำคัญสำหรับร้านที่คนอาจยังไม่รู้จักนัก
ในแง่ของผู้ใช้นั้น แน่นอนว่าได้รับความนิยมอย่างสูงครับ ด้วยการออกแบบที่สวยงาม โปรโมชันที่ถูกจริง รวมไปถึงโอกาสในการรู้จักและลองสินค้าและบริการใหม่ๆ ทำให้ทุกวันนี้ Groupon กลายเป็นบริษัทที่โตเร็วที่สุดบริษัทหนึ่ง โปรโมชันทุกอันที่ Groupon ออกมา ไม่มีคำว่าไม่ถึงยอดขั้นต่ำที่จะทำให้สิทธิพิเศษหรือส่วนลดนั้นไม่เกิดขึ้น Groupon ได้กำไรมากถึง 713.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯภายในปีที่สองของการดำเนินงาน และมีข่าวว่าได้ปฏิเสธการขอซื้อกิจการจาก Google ที่เสนอราคาไว้มากถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯมาแล้ว โดยในปัจจุบัน Groupon กำลังเร่งการขยายสาขาไปยังเมืองทั่วโลก และมีข่าวว่าจะเข้ามาในประเทศไทยในไม่ช้านี้
แน่นอนว่าด้วยความสำเร็จของแนวคิดธุรกิจแบบ Group Buying นั้น ทำให้แนวคิดธุรกิจนี้ได้รับการนำไปใช้ตามประเทศต่างๆทั่วโลก โดยสำหรับประเทศไทยนั้น บริษัทที่ทำได้ติดตลาดที่สุดคือ “Ensogo” ที่ปัจจุบันมีสาขาอยู่ในไทย ฟิลลิปปินส์ และอินโดนีเชีย ปัจจุบันเปิดให้บริการที่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น หัวหิน และ ชะอำ หรืออย่างเว็บ e-commerce ชื่อดังอย่าง weloveshopping.com ก็ได้ออกบริการ Groupbuy มาชนแล้วเหมือนกัน
หากมองในแง่ของผลกระทบต่อการค้าที่เกิดจากอินเตอร์เน็ท ผมคิดว่ามันมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า แต่ก่อนที่อินเตอร์เน็ทเป็นตัวเร่งให้ผู้ขายสามารถเผยแพร่ช่องทางการขายไปยังทุกที่ทั่วโลกได้ง่าย ผ่านการโฆษณาสินค้าและเว็บไซท์ลักษณะ e-commerce ที่เราคุ้นเคยอย่างเช่น Amazon, e-bay, Tarad.com นั้น เมื่อ “Group Buy” ได้รับความนิยม กลายเป็นว่าบริษัทได้กลับมาเน้นในเรื่องของการเฉพาะเจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่นึงเป็นพิเศษอีกครัง หรือที่ตอนนี้เรียกกันว่าการ target แบบ “hyper local” ซึ่งหมายถึงแทนที่จะแพร่กำลังการตลาดและการขายไปแนวกว้าง แต่กลับมาเพ่งกำลังไปยังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแทน
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของ Groupon และคอนเซปต์ของ “Group Buying” นั้น ก็คือการกลับมาฮิตของคอนเซปต์ที่เรียกว่า “Social Commerce”
Social Commerce ในที่นี้หมายถึงการค้าขายบนอินเทอร์เน็ทหรือที่เรียกว่า e-commerce โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายญาติสนิทมิตรสหาย (social network) ที่แต่ละคนมีในโลกออนไลน์เพื่อใช้ประโยชน์ในการซื้อขาย ซึ่งจริงๆแล้วคอนเซปต์นี้มีมานานแล้ว ในรูปแบบของการเขียนวิพากย์วิจารณ์สินค้าและบริการเพื่อให้คนอื่นได้เห็น หรือการแนะนำสินค้าให้คนอื่น เช่นการ share ใน Facebook ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ Social Commerce คือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้และผู้ซื้อสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของตนเองขึ้นมา (“user generated content”) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนอื่นที่เข้ามาเห็นได้รู้สึกสบายใจที่จะซื้อมากขึ้น
การที่มนุษย์ออนไลน์ปัจจุบันนั้นต่างมี social network เป็นของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็มีวิธีการสื่อสารไปยังคนรู้จักได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น เป็หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของ “Group Buying” เนื่องจากสามารถชักจูงเพื่อนให้มาช่วยกันซื้อโปรโมชันที่ตนเองอยากได้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โปรโมชันนั้นมียอดคนซื้อถึงขั้นต่ำที่ได้ตกลงกับร้านค้าไว้ กลายเป็นผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่านี่เป็นเพียงการใช้ประโยชน์จาก Social Network อย่างผิวเผินเท่านั้น
อีกหนึ่งรูปแบบการค้าที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเช่นกัน แม้อาจจะไม่เท่ากับ “Group Buying” แต่ก็ได้สร้างความสำเร็จมาให้กับหลายบริษัทแล้วนั่นก็คือการขายของแบบ “Daily Deals” หรือ “Flash Sales” กล่าวคือ การขายของในระยะเวลาและจำนวนที่จะกัดมากๆอย่างเช่นวันต่อวัน โดยมีแนวคิดคล้าย “Group Buying” ก็คือจะทำการเจรจากับผู้ขายสินค้าและบริการให้ลดราคาให้เป็นพิเศษให้กับสินค้าหรือบริการจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นเหือนกับการเปิดตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่อาจไม่กล้าลองสินค้าหรือบริการที่ในราคาเต็ม
จะเห็นได้ว่าโลกของการค้านั้นกำลังเข้าสู่ภาวะการคิดค้นที่น่าตื่นเต้นอยู่ ด้วยความที่ Social Network อย่างเช่น Facebook นั้นได้เจริญเติบโตจนแทบจะเป็นเรื่องที่ทุกคนที่ใช้ชีวิตออนไลน์ต้องมีพอๆกับ e-mail แล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่าเราน่าจะเห็นอะไรที่ใช้ประโยชน์จากมันได้มากยิ่งขึ้นในเร็ววันนี้
แนวคิดการค้าขายแบบ Group Buying หรือ Daily Deals นั้น หากลองดูจริงๆแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกนี้ แต่ก็มีคนทำกันสำเร็จจนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกได้ ซึ่งก็เป็นอีกบทพิสูจน์ว่า คุณไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในโลก หรือไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์เลยก็ได้ แต่ขอให้มีไอเดียธุรกิจ และความสามารถในการบริหารธุรกิจ ก็สร้างปรากฏการณ์ได้
ไม่แน่ว่าคลื่นการค้าขายลูกใหม่อาจเกิดขึ้นจากประเทศไทยก็ได้นะครับ
เลอทัด ศุภดิลก
twitter: @lertad
e-mail: lertad@gmail.com