จากที่สมัยก่อนมีการถกเถียงกันอย่างมากในเรื่องของการมีบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินทองไปยังต่างประเทศ แทนที่จะยังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ มาจนทุกวันนี้ เหมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกันแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโลกาภิวัฒน์เช่นนี้นั้น มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราควรที่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และได้ประโยชน์จากมันเสียมากกว่า
หากเรามองว่าจุดมุ่งหมายของบริษัททุกบริษัทนั้นเป็นเรื่องของการหากำไรจากการเพิ่มรายได้และการลดรายจ่ายแล้วนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การที่โลกมุ่งตามกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างรวดเร็วอย่างทุกวันนี้นั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหญ่ในการบริหารธุรกิจที่เรียกกันว่าการ “Outsource” (หรือ Outsourcing)
ในปัจจุบันเวลาเราพูดถึงการ Outsourcing นั้น เรามักจะนึกถึงภาพบริษัททางตะวันตกทำการจ้างบริษัททางตะวันออกอย่างบริษัทในประเทศเราเพื่อทำหน้าที่ในการผลิต ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทผู้ว่าจ้างในขณะที่เป็นรายได้ที่ดีสำหรับบริษัทผู้รับจ้าง
อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วการ Outsourcing นั้นไม่ได้จำกัดถถึงเรื่องของภูมิศาสตร์หรือประเภทงานแต่อย่างใด
เพราะแท้จริงแล้วการ Outsourcing หมายถึงการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจ้างบริษัทข้างนอกเพื่อมาทำหน้าที่แทนบริษัทผู้ว่าจ้าง หรือพูดเป็นภาษาง่ายๆว่าการจ้างคนอื่นมาทำงานแทนเรา โดยทำการจ้างเป็นลักษณะสัญญาว่าจ้างเป็นระยะเวลา ดังนั้นการ Outsource จึงอาจจะเป็นการจ้างบริษัทข้างบ้านเรามาช่วยในงานของบริษัทของเราเองก็เป็นได้
เรามักจะคิดว่าบริษัทจะทำการ Outsource ก็ต่อเมื่อต้องการลดต้นทุน แต่แท้จริงแล้วก็ยังมีอีกเหตุผลหลักก็คือเป็นเรื่องของทักษะความสามารถ (skills and expertise) หรือกล่าวคือ บริษัทเล็งเห็นว่าบริษัทอื่นสามารถผลิตงานได้ดีกว่าเรา โดยเฉพาะหากบริษัทอื่นนั้นสามารถทำได้ในราคาที่ถูกกว่าเราทำเอง ในระยะเวลาที่เร็วกว่า และได้ผลงานที่ดีกว่า เรายิ่งมักทำการ Outsource ให้มากขึ้น
ดังนั้นเมื่อมองเช่นนี้แล้ว ทุกประเภทงานจึงสามารถสำเร็จได้โดยการจัดจ้างคนภายนอกมาทำ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การบริการลูกค้า การทำบัญชี หรืออย่าง การจ้างบริษัททำความสะอาดในการให้บริการพนักงานทำความสะอาดมาประจำที่บริษัทเรา เป็นต้น และจริงๆแล้ว สิ่งที่เรียกว่า OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์สินค้าต่างชาติ ซึ่งเป็นรายได้หลักของ SME หลายแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในหมวดหมู่ประเภทเครื่องสำอางก์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้านั้น แท้จริงแล้วก็คือการที่เราถูกบริษัทผู้ว่าจ้าง Outsource เรามานั่นเอง
เหตุผลที่บริษัทเหล่านั้น Outsource บริษัทในประเทศเราในการผลิตสินค้า อาจทำให้บางคนแปลกใจว่าทำไมเขาจึงวางใจที่จะให้สินค้าถูกผลิตโดยบริษัทอื่น แต่หากลองมองกันในเชิงของความสามารถในการแข่งขัน จะเห็นได้ว่างาน OEM ที่ผลิตไปนั้น แท้จริงแล้วสามารถสับเปลี่ยนผู้ผลิตได้ไม่ยาก เพราะสูตรเด็ดที่ทำให้สินค้าขายได้นั้นไม่ใช่คุณภาพของการผลิตสินค้า แต่เป็นเรื่องอื่นๆเช่นแบรนด์ การทำการตลาด ฐานลูกค้า สูตรในการผลิต ความสามารถในการออกแบบ เป็นต้น
หรือพูดง่ายๆก็คือ บริษัทที่ Outsource อย่างชาญฉลาดนั้น จะทำการ Outsource เฉพาะงานประเภทที่เขาไม่คิดว่าจะเป็นสิ่งที่เสริมความสามารถในการแข่งขันหลักๆของเขา (core competencies) จนกลายเป็นเรื่องน่าสนใจว่าบริษัทชื่อดังด้านเสื้อผ้าอย่าง Zara นั้น ไม่ได้ผลิตเสื้อผ้าเอง แต่ใช้วิธีการ outsource ผู้ถักทอจากหลายแห่งให้ผลิตตามดีไซน์ที่เขาก็จ้างต่อมาอีกที หรือบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Apple ที่ขึ้นชื่อเรื่องสินค้าที่เนี้ยบ ทันสมัย และน่าใช้ แท้จริงแล้วเขากลับเป็นเพียงผู้ออกแบบ มิใช่ผู้ผลิตเองแต่อย่างใด และมิใช่บริษัทต่างประเทศเท่านั้น แต่บริษัทอย่างเจริญโภคภัณฑ์ก็ทำการ Outsource ในบางส่วน เช่น ไข่ไก่ ที่ใช้วิธีทำสัญญากับฟาร์มไก่ทั่วประเทศ เป็นต้น
คำอีกคำที่ในปัจจุบันเรามักจะพบที่มีควาหมายคล้ายคลึงกับคำว่า “Outsourcing” นั้นก็คือ “Offshoring” จากที่กล่าวไว้ว่า Outsourcing นั้นไม่ได้จำกัดในเรื่องของภูมิศาสตร์ทั้งๆที่ในหลายๆครั้งเวลาเราพูดถึงการ Outsource นั้น เราจะนึกถึงภาพของบริษัทต่างประเทศที่ทำการจ้างบริษัทในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่ามนการทำงาน จึงเกิดศัพท์ใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารงานประเภทนี้ ซึ่งก็คือ “Offshoring” ที่มาจากคำว่า “Offshore” หรือแปลตรงๆว่า “ไม่ได้อยู่บนชายฝั่ง(ของตัวเอง)”
ในโลกปัจจุบันที่มีคนจบการศึกษาจำนวนมากในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าประเทศมหาอำนาจ เช่น ประเทศอินเดีย หรือประเทศจีน ที่ในแต่ละปีสามารถผลิตนักศึกษาปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมได้มากกว่าจำนวนนักศึกษาปริญญาตรีที่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการศึกษาอย่างสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตได้ทั้งหมด ทำให้เกิดการว่าจ้างงานในประเทศต่างๆทั่วโลกมากขึ้น เนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่า เพราะค่าครองชีพที่ต่ำกว่าในประเทศเหล่านั้น ในปัจจุบันนอกจากอินเดียที่ขึ้นชื่อเรื่องการรับการทำงาน outsource ทุกประเภท หรือประเทศจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิต เราจะเห็นประเทศอย่าง Israel, Belarus, และ Slovenia ที่กำลังขึ้นชื่อเรื่องวิศวกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของซอฟท์แวร์
แน่นอนว่าการ Outsourcing หรือ Offshoring คงจะไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะการ Outsource ย่อมมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่ อย่างเช่นความลำบากในการจัดการผู้รับการว่าจ้าง และการพลาดโอกาสในการเรียนรู้ เนื่องจากบริษัทเราไม่ได้เป็นผู้ทำงานชิ้นนั้นเอง จึงจะขาดประสบการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานส่วนนั้นไป
ดังนั้น เราควรจะคิดให้ดีว่าบริษัทควรจะ Outsource เรื่องใด และเรื่องใดที่ควรจะทำเอง โดยเฉพาะบริษัทใหม่ๆ ที่กำลังโต เนื่องจากบางครั้งต่อให้ถ้าบริษัทเราทำได้ไม่ดีหรือยังขาดความเชี่ยวชาญ แต่การยอมลงทุนในการเรียนรู้และการลองผิดลองถูกก็อาจจะทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นความสามารถในการแข่งขันของเราในอนาคต หรือเรื่องบางเรื่องอย่างเช่นการบริการลูกค้า เช่น ระบบ Call Center นั้น หลายบริษัทอาจไม่อยากทำด้วยตัวเองเพราะเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน และมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านนอกอยู่มากแล้ว แต่แท้จริงมันอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่บริษัทเราจะเรียนรู้จากลูกค้าของบริษัทได้โดยตรงด้วยซ้ำ
กลับมามองในแง่ของการเป็นบริษัทรับ Outsource ในระยะยาวแล้ว การทำงานอะไรที่ใครๆก็สามารถทำได้ อย่างเช่นรับบันทึกบัญชี รับบันทึกข้อมูลนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นรายได้ที่เราพอใจ แต่ในแง่ของการเติบโตนั้น หากเราไม่เสริมสร้างอะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากคนทั่วไปนั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่เราจะถูกเลิกว่าจ้างได้ในอนาคตจากการมีคู่แข่งที่ยอมทำงานของเราในราคาที่ถูกกว่า โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าบริษัทประเภทนี้จะสร้างความแตกต่างได้ ไม่ใช่ด้วยการสร้างแบรนด์ แต่เป็นการคอยหาทักษะที่มีความเฉพาะมากขึ้นเรื่อย (niche) หรือความเชี่ยวชาญในลักษณะที่หามิได้ทั่วไป รวมไปถึงบริการเสริมอื่นๆที่จะทำให้บริษัทผู้ว่าจ้างพอใจกับเรา และมองค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยน (switching cost) สูงขึ้น เช่น ความเข้าใจในสไตลล์การทำงานของผู้ว่าจ้าง การทำงานตรงต่อเวลา เป็นต้น
สำหรับคอลัมน์ของเดือนนี้ ผมลองแทรกคำศัพท์ต่างๆนอกเหนือจากหัวข้อหลักเข้าไปมากขึ้น ชอบหรือไม่ชอบก็สามารถบอกกันได้ครับ เพื่อที่จะให้เนื้อหาในส่วนนี้พัฒนาต่อไปเรื่อยๆได้เช่นกัน
เลอทัด ศุภดิลก
twitter: @lertad
e-mail: Lertad@gmail.com