ฟังเพลงออนไลน์: เมื่อวงการดนตรีถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน
จากต้นกำเนิดของวงการดนตรีที่ทำได้แค่การแสดงสดตามเมืองต่างๆหรือสถานที่จัดการแสดง มาสู่ยุคของวิทยุที่ทำให้ชิ้นเพลงหนึ่งเพลงสามารถแพร่หลายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วจนก่อให้กำเนิดศิลปินระดับโลก มาสู่ยุคของโทรทัศน์ที่ให้กำเนิด “มิวสิควิดิโอ” ที่ทำให้การแสดงออกทางภาพและภาพลักษณ์ของศิลปินมีความสำคัญขึ้นมาเทียบเท่ากับเสียงดนตรี มาสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต บนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ทำให้การเสพดนตรีเร็วยิ่งขึ้นและอยู่ในอำนาจของผู้บริโภคมากกว่าผู้จัดจำหน่าย เรียกได้ว่าวงการดนตรีได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่มากมายที่ทำให้พฤติกรรมการเสพดนตรีของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ในปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตทำให้อะไรๆก็ต้องได้ “ทันที” (On-Demand) และเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ทุกประเภทจากอุปกรณ์อื่นๆอย่างโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ มาเป็นการเสพผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนไปหมดแล้ว เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างต้องปรับปรุงโมเดลธุรกิจกันยกใหญ่โดยเฉพาะในวงการเพลงที่เปลี่ยนกันแทบไม่ทันเพราะจากสมัยก่อนที่ต้องเปลี่ยนจากแผ่นไวนิลมาสู่เทปและซีดี มาในยุคที่ผ่านมาที่ต้องทำใจยอมลดรายได้จากแผ่นซีดีที่จับต้องได้และมาเป็นอัลบั้ม มาสู่การขาย “ดาต้า” ในรูปแบบของไฟล์ mp3 ที่นอกจากจะต้องแบ่งส่วนแบ่งให้ผู้เล่นรายใหม่อย่าง “iTunes” ของ Apple แล้วยังขายได้แค่เพลงซิงเกิ้ลทีละเพลงเท่านั้น
แต่ไม่ทันไร พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อได้เกิด Startup ที่สร้างวิธีการเสพดนตรีใหม่ในรูปแบบ “Streaming” หรือพูดง่ายๆก็คือกดปุ๊ปฟังปั๊ป ไม่ต้องดาวน์โหลดลงเครื่องอุปกรณ์ใดๆ แถมทำ Playlist ของตัวเองหรือฟัง Playlist จากคนอื่นก็ได้ คล้ายกับการฟังวิทยุออนไลน์เพียงแต่ไม่ต้องฟังเสียงดีเจหรือโฆษณาคั่นกลางเป็นอย่างใด
ซึ่งโมเดลธุรกิจของบริการเพลง Streaming เหล่านี้ก็คือการเก็บรายเดือนเพียงเดือนละ $10.00 เหรียญสหรัฐ เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงแคตตาล็อกเพลงกว่า 20-30 ล้านเพลงที่ทางบริการต่างๆได้ทำการเจรจาทางธุรกิจกับทางค่ายเพลงต่างๆไว้ได้เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่ามีราคาพอๆกับการควักเงินซื้ออัลบั้มเพลงใหม่ทุกเดือน แต่สามารถฟังเพลงอะไรก็ได้ทั้งใหม่และเก่าได้ในทันที
ผู้ให้บริการ Streaming เพลงอันดับหนึ่งของโลกตอนนี้ได้ Spotify ที่มีผู้ใช้งานอยู่ที่ 60 ล้านคน นับเป็นผู้ใช้งานที่จ่ายตังมากถึง 15 ล้านคน ณ ประกาศเมื่อเดือนมกราคม พศ. 2557 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจตรงที่ Spotify ไม่ใช่ Startup จากประเทศสหรัฐอเมริกาเหมือนกับ Startup ดังๆจากที่อื่น แต่กลับมีต้นกำเนิดจากประเทศสวีเดนที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงทางด้านการผลิต Tech Startup ยุคใหม่ๆมากนักแต่ก็เป็นประเทศที่คร่ำหวอดในวงการเพลงมานาน
นอกจาก Spotify แล้ว ผู้ให้บริการที่ใหญ่รองลงมานั้นได้แก่ Rdio ที่แม้จะไม่ได้มีการประกาศจำนวนผู้ใช้ภายในช่วงที่ผ่านมา แต่มีข่าวว่ามีผู้ใช้งานที่ชำระเงินอยู่ที่ประมาณ 500,000 คนเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พศ. 2556 ที่ผ่านมา ส่วนทาง Beats Music ที่เป็นบริการเพลง Streaming ของบริษัทผลิตหูฟัง Beats นั้นมีผู้ใช้งานอยู่ที่ประมาณ 200,000 คนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก่อนที่จะถูกบริษัทแอปเปิ้ลซื้อไปและมีข่าวว่าทาง Apple จะทำการรวบรวมเข้ากับ iTunes ของตัวเองที่เป็นร้านค้าสำหรับซื้อขายเพลงออนไลน์และมีบริการวิทยุออนไลน์ชื่อว่า iTunes Radio อยู่แล้ว ซึ่งแข่งขันกับทาง Pandora ผู้เป็นบริษัทให้บริการ Streaming เช่นเดียวกันแต่โฆษณาตัวเองว่าเป็น “วิทยุออนไลน์” เพราะไม่เน้นการจัด Playlist หรือเล่นเพลงแบบ On-demand แต่เน้นการจัด Playlist เพลงให้อัตโนมัติตามรสนิยมผู้ใช้ เปรียบเสมือนกับวิทยุออนไลน์นั่นเอง โดยเมื่อปี พศ. 2556 ทาง Pandora มีผู้ใช้อยู่ 250 ล้านคน และหารายได้จากสปอตโฆษณาคล้ายกับวิทยุที่เราฟังกันอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดูเหมือนผู้ใช้จะได้ทยอยกันเปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลงไปสู่ระบบ Streaming กันแล้ว แต่กลับมีรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาทางรายได้และการกระจายรายได้ของบริษัทเหล่านี้อยู่มากมาย เนื่องจากข้อตกลงทางธุรกิจที่บริษัทได้เจรจาไว้นั้นส่วนใหญ่มักจะเอาใจต่ายเพลงเป็นอย่างมาก พร้อมกับมีรายได้ที่ตกไปสู่ศิลปินเป็นจำนวนที่น้อยมาก
ในบางกรณี ค่ายเพลงอาจมีการขอค่าลิขสิทธิ์ในการเข้าถึงแคตตาล็อกเพลงจากผู้ให้บริการเพลงล่วงหน้าถึง $42.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถนำเพลงตัวเองไปให้ผู้ใช้บริการเล่นเป็นเวลาสามปี ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ผู้ให้บริการต่างๆสามารถเก็บรายได้จากค่าโฆษณาที่มีอยู่ในบริการการฟังแบบฟรีอยู่มากถึง 15% ก่อนที่จะทำการแบ่งส่วนที่เหลือกับค่ายเพลงในอัตรา 70 ต่อ 30 เปอร์เซนต์ โดยทางค่ายเพลงจะได้ไป 70% ซึ่งทั้งหมดนี้ มีนัยสำคัญตรงที่ทั้งทางค่ายเพลงและผู้ให้บริการนั้นมักจะทำการแบ่งรายได้ให้กับศิลปินปลายทางในจำนวนน้อยมาก หรือเพียงแค่ประมาณ 15-20% ของรายได้จากโฆษณาต่างๆเท่านั้น ประกอบกับรายได้ทางโฆษณาที่กลับน้อยลงไปทุกที จากอัตรา $0.45 เซนต์ในปี พศ. 2555 ต่อคนสู่ $0.25 ในปี 2557 ทำให้โมเดลธุรกิจของบริการ Streaming เริ่มได้รับการประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน ศิลปินไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีการหารายได้ทางอื่นอย่างการแสดงสดอีกต่อไปแล้ว
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางศิลปินเพลงแร็ปชื่อดัง Jay-Z ได้มีการซื้อผู้ให้บริการเพลงที่ชื่อ Tidal และทำการเปิดตัวใหม่ในฐานะผู้ให้บริการเพลงที่มีทั้งคุณภาพเพลงแบบผู้ให้บริการอื่นๆ และคุณภาพเสียงสูงในราคาที่สูงขึ้นกว่าผู้ให้บริการอื่นเท่าตัว โดยได้ทำการเปิดตัวพร้อมกับศิลปินชื่อดังอื่นๆอีกสิบกว่าคนจากเพลงหลากหลายแนว อาทิเช่น Coldpaly, Daft Punk, Jack White, Kanye West, Madonna, และ Nicki Minaj โดยหวังว่า Tidal จะเป็นผู้ให้บริการที่มีการแบ่งรายได้ให้กับศิลปินในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งทั้งหมด หรือทางศิลปิน Taylor Swift ที่เลือกที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการ Streaming นำเพลงของตนไปใช้เลยทั้งสิ้น เพื่อประท้วงการทำให้เพลงของตนเองดูมีราคาถูก
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าธุรกิจเพลง Streaming จะมีอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อทาง YouTube เองที่อาจจะเป็นผู้ให้บริการเพลงรายใหญ่ที่สุดอย่างแท้จริงก็เริ่มมีบริการ Music Pass เพื่อให้สามารถเข้าถึง Playlist เพลง YouTube ได้โดยปราศจากโฆษณา และทาง Spotify เองก็เริ่มขยับตัวเองเข้าสู่วงการใกล้เคียงด้วยการเปิดตัวให้บริการ Podcast และคลิปวิดีโอสั้นๆ ส่วนทางประเทศไทยเองก็มีทางค่าย dtac มีการจับคู่กับผู้ให้บริการ deezer จากประเทศฝรั่งเศสส่วนฝั่ง AIS ก็จับมือกับ KKBox จากประเทศเกาหลีใต้เพื่อทำการให้บริการเพลง Streaming ในประเทศไทยแล้ว พร้อมกับ Startup ไทยอย่าง Wityu.fm ที่มีวิธีการให้บริการวิทยุออนไลน์และทาง fungjai.com ที่เน้นให้บริการเพลงจากค่ายเพลงอินดี้เป็นหลักอีก
เรียกได้ว่า วงการเพลงจะเป็นอย่างไรต่อไปไม่มีใครรู้หรือกล้าเดาได้แน่ชัด แต่เรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อย่างแน่นอนครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
@lertad
lertad@sellsuki.com