“Social Commerce” เป็นศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาหลายปีแล้ว เพื่อใช้เรียกถึงการค้าขายโดยมีองค์ประกอบของการมี “ส่วนร่วม” ของคนหลายคนเข้ามาด้วยกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตตามธรรมชาติของบริษัทสาย Tech Startup ที่ผ่านยุคทองของทั้ง E-commerce และ Social Networks มาแล้วจนคนเริ่มพยายามจะจับข้อดีของทั้งสองอย่างมาช่วยด้วยกัน
ข้อมูลจาก Shopify.com
ซึ่งหนึ่งในรูปแบบของคอนเซปต์นี้มีมานานแล้ว ในรูปแบบของการเขียนวิพากย์วิจารณ์สินค้าและบริการเพื่อให้คนอื่นได้เห็น หรือการแนะนำสินค้าให้คนอื่น เช่นการ share ใน Facebook ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน นั่นเอง ซึ่งในที่นี้ Social Commerce ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้และผู้ซื้อสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของตนเองขึ้นมา (“user generated content”) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนอื่นที่เข้ามาเห็นได้รู้สึกสบายใจที่จะซื้อมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำความ “Social” มาใช้ประโยชน์ในทาง “ค้าขาย” ก็ยังมีอีกหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่นการขายของแบบ “Group Buying” ที่เราคุ้นเคยกันจากบริษัท Ensogo หรือ Groupon ที่มีในไทยกันอยู่บ้าง โดย “Group Buying” ก็คือการนำหลักการที่ว่าการซื้อเป็นจำนวนมากนั้นย่อมควรที่จะได้ราคาต่อหน่วยต่ำกว่าการซื้อเป็นจำนวนน้อยมาใช้เป็นประโยชน์ ด้วยการไปต่อรองดีลพิเศษกับร้านอาหารต่างๆเพื่อแลกกับการรับประกันจำนวนลูกค้าที่จะซื้อดีลนั้นๆ เสร็จแล้วก็นำมาขายในหน้าเว็บโดยประกาศว่าหากมีคนซื้อในจำนวนที่ไม่ถึงขั้นต่ำ ก็จะไม่มีใครได้ดีลๆนั้นไปเลย ซึ่งโมเดลนี้ แม้ผู้ขายจะลดราคาซึ่งทำให้ได้กำไรต่อหน่วยลดลง แต่โดยรวมก็เป็นกำไรอยู่ดี ส่วนผู้ซื้อก็ได้สิ่งที่ต้องการในราคาที่ถูกลง
แม้ปัจจุบันบริษัทที่เคยใช้โมเดลเหล่านี้ได้เปลี่ยนจากโมเดล “Group Buying” ไปสู่ “Daily Deals” หรือแค่ขาย Deals แล้ว แต่ในยุคแรกโมเดล “Group Buying” ก็ได้สร้างกระแสและพฤติกรรมผู้บริโภคบนอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ขึ้นมาในแง่ที่ว่าแต่ก่อนที่อินเตอร์เน็ทเป็นตัวเร่งให้ผู้ขายสามารถเผยแพร่ช่องทางการขายไปยังทุกที่ทั่วโลกได้ง่าย ผานเว็บไซท์ลักษณะ e-commerce ที่เราคุ้นเคยอย่างเช่น Amazon, e-bay, Tarad.com นั้น เมื่อ “Group Buy” ได้รับความนิยม กลายเป็นว่าบริษัทได้กลับมาเน้นในเรื่องของการส่งผู้คนให้ไปที่ที่เฉพาะเจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่นึงซึ่งหมายถึงแทนที่จะแพร่กำลังการตลาดและการขายไปแนวกว้าง แต่กลับมาเพ่งกำลังไปยังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแทนเป็นพิเศษที่ตอนนี้เรียกกันว่าการ target แบบ “hyper local” นั่นเอง
นอกจากนี้ Social Commerce อีกรูปแบบก็เป็นเรื่องของการให้ผู้ใช้รวบรวมเนื้อหาจากเว็บทั่วโลกมาไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้ใช้ผู้อื่นติดตามและค้นพบสินค้าจากคนอื่นที่มีความชื่นชอบในลักษณะที่คล้ายๆกันขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่นเว็บ “Pinterest” ที่มีผู้ใช้ช่วยกันรวบรวมรูปภาพสวยๆจากเว็บไซท์ทั่วโลกจนคนสามารถใช้ในการหาไอเดียในการทำงานต่างๆตั้งแต่ ชุดแต่งงาน ภาพโลโก้ ไปยังการตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งการใช้งานเป็นคลังเก็บรูปเจ๋งๆเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นธรรมดาที่เมื่อคนได้เห็นสินค้าที่ตนเองรู้สึกว่า “เจ๋ง” เยอะแล้ว ก็จะตามมาด้วยความรู้สึก “อยากได้” จนทำให้มีบริษัทเอาแนวความคิดนี้ไปสร้างเว็บที่ชื่อ “Polyvore” ขึ้นมาที่เรียกได้ว่าเป็น “Pinterest” ที่โฟกัสไปที่สินค้าที่สามารถซื้อได้ออนไลน์เลยโดยเฉพาะ และได้กลายเป็นเว็บไซท์ที่สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่ออเดอร์ได้เยอะยิ่งกว่าเว็บอื่นๆอย่าง Pinterest, Facebook, Instagram, Twitter อีกด้วย (แต่อย่างไรก็ตาม หากคิดเป็นจำนวนออเดอร์ทั้งหมด Facebook ก็ยังคงมาเป็นอันดับหนึ่ง)
ข้อมูลจาก Shopify.com
สุดท้าย Social Commerce อีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรงคงจะหนีไม่พ้น “Crowdfunding” ที่ใช้เรียกเว็บไซท์สำหรับการระดมทุนจากคนหลายๆคน ด้วยการใช้ช่องทางออนไลน์อย่าง social media อีเมล์ เและเว็บไซต์เพื่อที่จะหาทุนทำธุรกิจหรืองานการกุศลที่ผู้ริเริ่มมิได้สามารถหามาได้ด้วยตนเอง โดยตัวอย่าง crowdfunding platform ของไทย ก็มี “afterword.co” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับนักเขียนเพื่อระดมสำหรับการพิมพ์หนังสือ หรือ “taejai.com” ที่เป็นที่รวบรวมโครงการเพื่อสังคมเพื่อให้คนช่วยกันบริจาคสนับสนุนโครงการที่ได้ประโยชน์
เว็บไซต์ crowdfunding ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ “Kickstarter” ซึ่งเกิดการระดมทุนมหาชนไปแล้วเพื่อสนับสนุนกว่า 78,000 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากผู้คนเกือบแปดล้านคน ตามมาด้วยเว็บไซท์อย่าง “Indiegogo” ที่แตกต่างจาก “Kickstarter” คือผู้ระดมทุนไม่ต้องระดมทุนได้ตามเป้าก็สามารถรับเงินบริจาคได้ และเปิดรับให้คนทั่วโลกสามารถสร้างโครงการได้ โดยมีตัวอย่างความสำเร็จอย่างบริษัท “Drivebot” บริษัททำอุปกรณ์วัดสมรรถภาพรถของไทยที่สามารถระดมทุนได้ $35,000 เหรียญสหรัฐ ไปเรียบร้อยแล้ว
จะเห็นได้ว่า เมื่อยุคของอินเทอร์เน็ตได้เติบโตต่อไป การรวมกันของเทรนด์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น E-commerce, Social, Location, หรือ Big Data ย่อมจะเริ่มได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ระหว่างกันมากขึ้น การค้าขายในอนาคต ก็คงจะมีรูปแบบใหม่ๆให้เห็นกันอย่างแน่นอนครับ
–-
เลอทัด ศุภดิลก
@lertad
lertad@sellsuki.com